นครพนม - สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสาขานครพนมมอบเงินฟื้นฟูอาชีพแก่กลุ่มสมาชิก 14 องค์กรกว่า 4 ล้านบาท ชี้ชาวบ้านรากหญ้าเดือดร้อนเป็นหนี้สถาบันการเงิน จ่อนำทรัพย์ขายทอดตลาดกว่า 6,000 ราย มูลค่า 400 ล้าน
วันนี้ (20 ก.ย.) ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสาขาจังหวัดนครพนม นายภูรินทร์ ทำมาน ผู้แทนเกษตรกร (ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542) เป็นประธานในพิธีมอบเงินโครงการกู้ยืมเงินไม่เกิน 5 แสนบาทจำนวน 4,651,480 ล้านบาท แก่เกษตรกรจาก 14 องค์กร อาทิ กลุ่มเลี้ยงสัตว์ โค-กระบือ ในเขตพื้นที่จังหวัดนครพนม เฉลี่ยองค์กรแต่ละแห่งได้รับมอบเงินจำนวน 3-4 แสนบาท เพื่อนำไปฟื้นฟูอาชีพในกลุ่มสมาชิก
นอกจากนี้ ยังมีการมอบเงินงบฟื้นฟูอาชีพตามมติคณะรัฐมนตรี 7 เมษายน 2555 แก่สมาชิกอีกคนละ 7,000 บาท รวม 658,600 บาท
นายภูรินทร์กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาที่ประชาชนและเกษตรกรระดับรากหญ้าในจังหวัดนครพนมเดือดร้อนหนักที่สุดคือปัญหานี้สินจากการนำหลักทรัพย์โฉนดที่ดินแปลงนาและบ้านเข้าไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินของรัฐ-เอกชน เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ มาลงทุนในการประกอบอาชีพ แต่ประสบปัญหาในการส่งเงินคืนทั้งต้นและดอก
และเมื่อผ่านกระบวนการสุดท้ายชาวบ้านไร้ทางออก สถาบันการเงินจะให้กองบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินของชาวบ้าน
โดยทางออกสุดท้ายเมื่อชาวบ้านที่ประสบปัญหาเหล่านี้มาสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูก็จะแก้ปัญหาได้ โดยกองทุนฯ จะรับซื้อหนี้ชาวบ้านจากสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินไม่มีสิทธิขายทอดตลาดชาวบ้านได้ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างกองทุนฟื้นฟูกับสถาบันการเงินของภาครัฐ-เอกชน
โดยมีพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2542 รองรับปัญหาตรงจุดนี้ ถ้าสถาบันการเงินประกาศขายทรัพย์สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูถือว่ามีความผิด
ด้านนายบุญเศรษฐ มานะดี หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสาขานครพนม เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรระดับรากหญ้าเป็นหนี้สถาบันการเงินทั้งภาครัฐ และเอกชนในจังหวัดนครพนมมีจำนวนกว่า 6,000 ราย มูลค่าหนี้ประมาณ 400 ล้านบาท ที่กองทุนต้องดำเนินการช่วยเหลือเพราะถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนทรัพย์สินของชาวบ้านเหล่านี้ก็จะถูกขายทอดตลาดชดใช้หนี้ซึ่งเป็นกระบวนการสุดท้ายแล้ว
แต่กองทุนฟื้นฟูจะช่วยเหลือได้เกษตรกรต้องมาแจ้งและขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟู โดยวิธีดำเนินการของกองทุนฯ คือจะรับซื้อหนี้ของชาวบ้านจากสถาบันการเงินมาดูแลช่วยเหลือ ตลอดจนการฟื้นฟูอาชีพตามมาคือการมอบเงินฟื้นฟูอาชีพแก่ชาวบ้าน 14 องค์กรในวันนี้
“พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรฉบับนี้เป็นกฎหมายของชาวบ้านร่างขึ้นมาเพื่อช่วยชาวบ้านโดยเฉพาะ และทุกรัฐบาลต้องปฏิบัติตามเพราะมันเป็นกฎหมายจากการลุกขึ้นสู้เรียกร้องจากประชาชนคนจน แกนนำสมัยนั้นคือนายนคร ศรีวิพัฒน์ นายอโศก ประเสริฐ แล้วรวมรายชื่อชาวบ้าน 5 หมื่นชื่อยื่นต่อสภาสมัยชวน 2 ก่อนจะมีการบังคับใช้ในปัจจุบันนี้”
นางลำไย ดีโย ชาวบ้านตำบลดงขวาง อ.เมือง จ.นครพนม เปิดเผยว่า ปัจจุบันตนทำงานลักษณะจิตอาสาให้แก่กองทุนฟื้นฟู คือช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้สินและเดินทางไปหาชาวบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านที่กำลังถูกบังคับขายที่ทอดตลาดใช้หนี้เพราะไม่มีเงินจ่ายสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนชาวบ้านไม่มีทางออกอีกแล้วหมดปัญญาที่จะรักษาที่ดินผืนสุดท้ายที่กำลังจะหลุดลอยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ซึ่งกองทุนฯ ก็สามารถช่วยเหลือได้หลายรายที่เป็นสมาชิกกองทุนและแนะนำผู้ประสบปัญหาหนี้มาอยู่ที่กองทุนนี้ ตนมาทำงานแบบจิตอาสาช่วยกองทุนก็เป็นหนี้มาก่อนคือนำโฉนดที่ดินไปจำนองกับนายทุนให้น้องชายไปทำงานต่างประเทศและก็มีปัญหาถูกยึดเพราะขาดส่งค่างวด