ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟู 17 จังหวัดภาคเหนือหลายร้อยคน ประกาศปักหลักชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีกำหนด เรียกร้องนายกรัฐมนตรีลงมาพบ และรับปากแก้ปัญหาหนี้สินให้ ด้วยการมีมติ ครม.โอนหนี้จาก ธ.ก.ส.ไปไว้กับกองทุนภายใน เม.ย.นี้
วันนี้ (3 เม.ย.) ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จาก 17 จังหวัดภาคเหนือกว่า 500 คน ยังคงปักหลักชุมนุมพักแรมอยู่ หลังเริ่มการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สิ้นเกษตรกร ที่มีอยู่กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเกษตรกรได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูฯตั้งแต่ปี 2546 แล้ว แต่ถึงปัจจุบันปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมได้ส่งตัวแทนนำโดยนายประนอม เชิมชัยภูมิ ประธานอนุกรรมการจังหวัดเชียงราย ยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แก้ปัญหาหนี้สินตามข้อเรียกร้องเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรภาคเหนือ ผ่านทางนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
เนื้อหาโดยสรุปของหนังสือเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้บรรลุผล ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายกองทุนฟื้นฟู ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง และตรงตามความต้องการของเกษตรกร ก่อนที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งระบบมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาที่ดินเกษตรกรรม และความเป็นเกษตรกรรายย่อย ตามเจตนารมณ์แห่ง พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 และเพิ่มเติม พ.ศ. 2544 ให้โอนหนี้สินของเกษตรกรตั้งแต่รอบ พ.ศ. 2546 ถึงปัจจุบันจาก ธ.ก.ส.มาไว้กับกองทุนฟื้นฟูฯ
จากนั้นให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณแก่กองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อชำระหนี้สินแทนเกษตรกรร้อยละ 50 ของเงินต้นคงค้าง ส่วนหนี้สินที่เหลือให้เกษตรกรผ่อนชำระเงินต้นคงค้างกับกองทุนฟื้นฟูฯ ให้หมดภายในระยะเวลา 20 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ซึ่งระหว่างการชำระหนี้นั้น ให้ ธ.ก.ส.โอนหนี้สินและทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันทั้งหมด มาไว้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ป้องกันการขายทอดตลาด
นอกจากนี้ ให้มีการจำหน่ายหนี้สูญให้แก่สมาชิกที่เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ และระหว่างที่ ครม.ยังไม่มีมติตามข้อเรียกร้องนี้ ให้ ธ.ก.ส.ระงับการทวงถาม ฟ้องร้อง บังคับคดีกับเกษตรกร และเกษตรกรของดชำระหนี้กับ ธ.ก.ส.ทุกบัญชี ซึ่งขอให้นำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และมีมติภายในเดือนเมษายนนี้
เบื้องต้นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่รับที่จะเป็นตัวแทน นำหนังสือเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ขณะที่ทางสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ ยืนยันจะยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่อย่างไม่มีกำหนด จนกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจเรื่องนี้ เดินทางมาพบและรับปากที่จะดำเนินการตามข้อเรียกร้องที่ จ.เชียงใหม่