xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนฟื้นฟูร้องนายกฯ ถูกลอยแพกว่า 3 พันคนยังเป็นหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เกษตรกรเครือข่ายกองทุนฟื้นฟูฯ จี้ “ปู” เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับโครงสร้างหนี้ตามมติ ครม.53 สางหนี้ใก้เกษตรกร หลังมีคนตกค้างอีกเพียบ ขณะที่โครงการจะสิ้นสุดสิ้นเดือนกันยาฯนี้

วันนี้(18 ก.ย.55) ที่ศาลากลาง จ.เชียงราย กลุ่มชาวบ้านที่เป็นประสบปัญหาหนี้สินใน จ.เชียงราย นำโดยนายบุญธรรม นนท์ภู ตัวแทนเกษตรกรจังหวัดเชียงราย ,นายวิรัตน์ พรหมสอน แกนนำกลุ่มเกษตรกร ได้พากันไปยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมกับขอให้จังหวัดยื่นผ่านไปให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตลอดจนรองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลด้านกองทุนฟื้นฟู ,ผู้อำนวยการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ,ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

โดยระบุในหนังสือว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.53 ให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สินสามารถปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพกับ 4 สถาบันการเงินหลักคือ ธ.ก.ส. ,ธนาคารกรุงไทย ,ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยให้พักชำระหนี้ต้นครึ่งหนึ่งและดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดไว้ก่อน พร้อมให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้เงินต้นที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งตามงวด-ระยะเวลาที่ตกลงกันไม่เกิน 15 ปี หากเกษตรกรสามารถชำระได้ ก็ให้เงินต้นและดอกเบี้ยที่พักไว้ได้รับการลดหนี้ให้ทั้งหมด

ดังนั้น กลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ใน จ.เชียงราย จึงขอให้เร่งนัดดำเนินการด้วยการให้ ธ.ก.ส.จัดทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกร ตามมติดังกล่าวภายในวันที่ 30 ก.ย.55 นี้ และให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการออกไปอีกเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิกับเกษตรกร และให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการนี้โดยเฉพาะกองทุนฟื้นฟูฯ ให้มากขึ้น ด้วยการสนับสนุนงบประมาณประจำปีถัดไป เพื่อให้การแก้ไขปัญหานี้สินบรรลุเป้าหมายกลุ่มเกษตรกรทั้งหมดต่อไป

นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรยังมีข้อเสนอไปยัง ธ.ก.ส.แยกย่อยออกไปอีกว่า ให้ ธ.ก.ส.เร่งรัดดำเนินโครงการทั้งต่อผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีของ ธ.ก.ส.และอยู่ในกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ไม่ตรงกับกับ ธ.ก.ส.รวมทั้งขอไม่ให้หักเงินสมาชิกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าว เพื่อชำระหนี้ ธ.ก.ส.รวมทั้งกรณีเกษตรกรเสียชีวิตทาง ธ.ก.ส.ต้องไม่หักเงินสงเคราะห์ศพเพื่อทดแทนการชำระหนี้ด้วย

นายบุญธรรม กล่าวว่า ตั้งแต่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 มีเกษตรกรที่เป็นหนี้สินกับสถาบันการเงินหลักของรัฐที่เดือดร้อนรวมกันประมาณ 11,321 ราย แต่เมื่อมีผู้ที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการเหลืออยู่ประมาณ 3,000 คน แต่ละคนมีหนี้สินเฉลี่ยรายละประมาณ 300,000 บาท รวมหนี้สินทั้งหมดประมาณ 1,500 ล้านบาท

แต่ปรากฏว่าตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ผลักให้กองทุนฟื้นฟูฯ ดำเนินการรับเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพียงแค่ 475 รายเท่านั้น ยังเหลือผู้ที่เดือดร้อนอีกมากมาย ขณะที่โครงการจะสิ้นสุดหรือหมดลงแล้วในวันที่ 30 ก.ย.55 นี้แล้ว

ด้านนายวิรัตน์ กล่าวว่า ความล่าช้าทั้งหมดเกิดจากหน่วยงานของรัฐไม่ได้เกี่ยวกับเกษตรกรเพราะพวกเรายื่นรายชื่อ และดำเนินการตามที่กำหนดเอาไว้ทุกอย่าง แต่เมื่อใกล้หมดโครงการจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องรับผิดชอบ

จากนั้นนายนิยม สุวรรณประภา รักษาการ หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขา จ.เชียงราย และตัวแทนจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เข้ารับหนังสือจากชาวบ้านพร้อมรับปากว่าจะนำเสนอปัญหาไปยังหน่วยงานต่างๆ ตามที่ชาวบ้านยื่นหนังสือทุกประการทำให้กลุ่มเกษตรกรแยกย้ายกันกลับ



กำลังโหลดความคิดเห็น