xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบกองทุนฟื้นฟูฯ วอน “ปู-ชุมพล” ขยายเวลาโครงการ-หากยังนิ่งเล็งฟ้องศาลปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ม็อบกองทุนฟื้นฟูฯ 5 จังหวัดภาคเหนือบุกศาลากลางเชียงใหม่ยื่นหนังสือถึง “ยิ่งลักษณ์-ชุมพล” วอนขยายเวลาโครงการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพ โอดมติ ครม.ตั้งแต่ปี 53 แต่สิ้นสุดโครงการช่วยได้แค่ 4 พันกว่าราย-อีก 9 หมื่นยังเคว้ง ลั่นให้เวลา 5 วันหากรัฐบาลยังนิ่งเล็งฟ้องศาลปกครอง โอดรัฐไม่จริงจังเหตุเป็นนโยบายรัฐบาลชุดก่อน-เชียร์พักชำระหนี้มากกว่า

วันนี้ (18 ต.ค.) ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรจาก 5 จังหวัดในภาคเหนือ ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.ลำปาง และ จ.ลำพูน จำนวนประมาณ 300 คน เดินทางมาชุมนุมที่บริเวณหน้าอาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้รัฐบาลขยายการดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร

การชุมนุมของกลุ่มตัวแทนเกษตรกร ที่มีนายสมศักดิ์ โยอินชัย ประธานกลุ่มลุ่มน้ำกวงเชียงใหม่ และนายวัชรินทร์ อุประโจง ประธานกลุ่มองค์กรเกษตรกรเครือข่ายลุ่มน้ำฝางเป็นแกนนำ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลขยายเวลาการดำเนินการตามโครงการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร หลังจากที่โครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 ได้ครบกำหนดการดำเนินการไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่ามีเกษตรกรเพียง 4,585 รายเท่านั้นที่ได้รับการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ตามโครงการดังกล่าว ในขณะที่เกษตรกรอีกเป็นจำนวนมากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ

กลุ่มผู้ชุมนุมระบุว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวซึ่งมีขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีเกษตรกรที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการประมาณ 103,000 ราย และมีเกษตรกรที่เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อฟื้นฟูอาชีพแล้วประมาณ 60,000 ราย แต่จนถึงขณะนี้กลับมีเกษตรกรเพียง 4,000 กว่ารายเท่านั้นที่ได้รับความช่วยเหลือตามโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งหากรัฐบาลไม่ขยายเวลาของโครงการดังกล่าวออกไป เกษตรกรส่วนที่เหลือก็จะเสียสิทธิในการขอรับความช่วยเหลือทันที

ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวแทนเกษตรกรยังได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และสถาบันการเงินอีก 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน ว่าดำเนินงานล่าช้า จนทำให้เกษตรกรสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรได้รับ

พวกเขาระบุว่า แม้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจะเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวมากที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการ แต่ ธ.ก.ส.ก็ยังพยายามที่จะชักจูงให้เกษตรกรเลือกเข้าโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรอันเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของเกษตรกรกลุ่มนี้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรเปิดเผยว่า ตามโครงการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรนั้น เกษตรกรจะได้รับสิทธิในการลดเงินต้นลงครึ่งหนึ่ง รวมทั้งยกเว้นดอกเบี้ย โดยมีกำหนดการชำระเงินต้นส่วนที่เหลือให้หมดภายใน 5 ปี หากทำได้ก็จะถือว่าชำระหนี้สินครบถ้วน แต่หากไม่สามารถชำระหนี้สินที่ได้รับการลดเงินต้นและดอกเบี้ยได้ทันภายใน 5 ปีก็ต้องชำระเต็มจำนวนตามเดิม แต่ตามนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ดำเนินการพักชำระหนี้ 3 ปีให้เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้รายย่อย หรือมีมูลค่าหนี้ไม่เกิน 500,000 บาท

นายมนตรี ชัยคีรี นิติกรศูนย์ดำรงธรรม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนออกมารับมอบหนังสือจากกลุ่มเกษตรกร กล่าวว่า จะเร่งนำหนังสือดังกล่าวส่งทางโทรสารไปถึงนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีก่อน จากนั้นจึงจะเร่งส่งหนังสือตามขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าทางรัฐบาลได้ทราบปัญหาดังกล่าวแล้ว หลังจากที่ทางกลุ่มเกษตรกรได้เคยออกมาเคลื่อนไหวและยื่นหนังสือร้องเรียนถึงปัญหาดังกล่าวต่อรัฐบาลไปแล้วเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยเรื่องดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาแก้ไขปัญหา

ด้านนายวัชรินทร์ อุประโจง ประธานกลุ่มองค์กรเกษตรกรเครือข่ายลุ่มน้ำฝาง กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรจะรอติดตามฟังความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว โดยจะให้เวลารัฐบาล 5 วัน หากครบ 5 วันแล้วยังไม่มีคำตอบหรือมาตรการการดำเนินการที่ชัดเจนก็จะออกมาชุมนุมกันอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งจะร้องขอความเป็นธรรมผ่านศาลปกครองด้วย เพราะในปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือตามโครงการปรับโครงสร้างหนี้ต่างได้รับความเดือดร้อน ทั้งจากการถูกเจ้าหนี้และ ธ.ก.ส.เร่งรัดติดตามทวงหนี้สินและจะฟ้องร้อง อีกทั้งบางรายยังถูกยึดที่ทำกินอีกด้วย

นายวัชรินทร์กล่าวต่อไปว่า แม้จะเข้าใจว่าการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอาจจะไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลมากนักเนื่องจากถือเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา แต่การที่มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาแล้วถือว่าเรื่องดังกล่าวได้ข้อสรุปแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี จะเพิกเฉยหรือไม่ดำเนินการไม่ได้



กำลังโหลดความคิดเห็น