พะเยา - เกษตรกรจาก 3 จังหวัดภาคเหนือตอนบน กว่า 500 คนรวมตัวกันยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ จี้รัฐบาลเร่ง “ปรับโครงสร้างหนี้ ฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร” หลังโครงการไม่คืบ เผยพะเยามีแค่ 93 รายจาก 5,000 กว่ารายเท่านั้นที่ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วทั้งที่จะสิ้นสุดโครงการ 30 กันยาฯ นี้
วันนี้ (25 ก.ย. 55) เกษตรกรจาก 3 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา ในนามเครือข่ายสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรฯ กว่า 500 คน นำโดยนายมโนชญ์ เทศอินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรจังหวัดพะเยา ได้ร่วมตัวกันที่ศาลาประชาคมจังหวัดพะเยา เพื่อยื่นหนังสือผ่านทางจังหวัดฯ ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลโครงการ “ปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร” ซึ่งมี 4 สถาบันหลัก ธ.ก.ส., ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นผู้ดำเนินงานเพื่อให้เร่งรัดโครงการ
ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะหมดระยะเวลาดำเนินการภายใน 30 ก.ย. 55 นี้ แต่ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร จึงขอให้ทางจังหวัดนำเรื่องดังกล่าวเสนอรัฐบาล เพื่อให้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จทันเวลา
จากนั้นนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ารับเรื่องจากเกษตรกร
นายมโนชญ์กล่าวว่า ตามมติ ครม.วันที่ 7 เมษายน 2553 ได้มีมติให้เกษตรปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ผ่าน 4 สถาบันการเงินหลัก แต่จนถึงขณะนี้ โครงการไม่มีความคืบหน้าเลย ทั้งที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 55 ที่จะถึงนี้แล้ว โดยจังหวัดพะเยามีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกว่า 5,000 ราย แต่จนถึงขณะนี้มีเพียง 93 รายเท่านั้นที่ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้ จึงวอนขอให้รัฐบาลเร่งรัดจัดทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกรให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายนนี้ด้วย พร้อมกับขอให้รัฐบาลขยายระยะเวลาโครงการ-คุ้มครองสิทธิให้เกษตรกรตามรายชื่อเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกว่า 5,000 รายนี้ด้วย และให้ ธ.ก.ส.หยุดบังคับให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการพักหนี้เกษตรกร เพราะเกษตรกรไม่ต้องการโครงการนี้ และสุดท้ายให้รัฐบาลให้ความสำคัญกองทุนฟื้นฟูฯ สนับสนุนงบประมารณประจำปีอย่างพอเพียงด้วย
ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวหลังจากรับเรื่องกับเกษตรกรว่า กรณีที่เกษตรกรได้มายื่นหนังสือผ่านทางจังหวัดถึงรัฐบาลในวันนี้ ทางจังหวัดจะเร่งเสนอไปยังรัฐบาล เพื่อให้ทันเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการ ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันนี้ เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญของราษฎรที่ต้องเร่งแก้ไข ทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยจะประสานทาง ธ.ก.ส.อีกทาง เพื่อเร่งจัดทำสัญญาให้แล้วเสร็จทันตามกำหนดต่อไป
อย่างไรก็ตาม การชี้แจงจากรองผู้ว่าฯ พะเยา สร้างความพอใจให้แก่กลุ่มเกษตรกร ก่อนเกษตรกรทั้งหมดจะเดินทางกลับในเวลาต่อมา (10.30 น.)