อุดรธานี - สศค.เปิดเวทีสัมมนาสัญจรที่อุดรฯ เผยแพร่ข้อมูลผลกระทบจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โอกาสและความท้าทายของภาคอีสาน เผยปัจจัยการเมือง ความขัดแย้งเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือเสื้อน้ำเงินสุ่มเสี่ยงต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทย
วันนี้ (8 มิ.ย.) ที่โรงแรมบ้านเชียง อ.เมือง จ.อุดรธานี นายสมชัย สัจจพงษ์ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค หรือ สศค.สัญจร ครั้งที่ 1 โดยมีส่วนราชการ สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน และประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก
การสัมมนาครั้งนี้เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจและผลงานวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกันระหว่าง สศค.กับส่วนราชการ สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน และประชาชน โดยในภาคเช้าเป็นการบรรยายพิเศษในหัวข้อ บทบาท สศค.กับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน และการเสวนาในหัวข้อ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โอกาสและความท้าทายของภาคอีสาน ส่วนภาคบ่ายจะเป็นการเสวนาในหัวข้อ ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับประชาคมอาเซียน
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า หากเราจะเข้าสู่ระบบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เศรษฐกิจในประเทศไทยต้องมีเสถียรภาพก่อน ทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม และการเมือง ในเรื่องเสถียรภาพการเมืองเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงมากในการที่จะทำให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน หากเสื้อแดง เสื้อเหลือง เสื้อน้ำเงิน ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถึงขั้นเลือดตกยางออกแล้ว เศรษฐกิจไทยต่อไปนี้จะไม่เป็นไปตามอย่างที่คิดและคาดหวังแน่นอน
ตามที่ สศค.ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยหลังจากประเทศไทยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมปรากฏว่าดีขึ้นตามลำดับ หากในปี 2555 นี้ประเทศไทยไม่เกิดอุบัติเหตุด้านการเมือง และฝั่งยุโรปมีสถานการณ์ที่ไม่เลวร้ายกว่านี้ จะโตได้เกิน 5.5 เปอร์เซ็นต์ด้วยมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลสนับสนุน เช่น มาตรการการปรับเพิ่มรายได้แรงงานรายวันและเงินเดือนราชการ และโครงการจำนำข้าวเปลือก
อีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้มากกว่า 5.5% คือการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ นอกจากรัฐบาลแล้ว ตัวแปรที่สำคัญอีกตัวคือรัฐวิสาหกิจ เพราะการลงทุนของวิสาหกิจมีมูลค่ามหาศาล
นายสมชัยกล่าวภายหลังการบรรยายว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วงครึ่งปีแรกของงบประมาณ 2555 รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณจำนวน 460.0 พันล้าบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน 80.4 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ขาดดุลจำนวน 540.4 พันล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้มีการบริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ต้องการใช้เงิน
โดยมีการชดเชยการขาดดุลด้วยการกู้จำนวน 93.6 พันล้านบาท จึงทำให้ดุลเงินสดหลังการกู้ขาดดุลจำนวน 446.8 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 74.5 พันล้านบาท