xs
xsm
sm
md
lg

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ ศก.ไทยยังโตได้ 5.8-6.5% ห่วงแผนปรองดองล้มทำการเมืองปะทุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิตแถลงคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ยืนยันการเติบโตที่ 5.8-6.5% ปรับฐานความเสี่ยง ราคาน้ำมัน-ดอกเบี้ย ระบุภาคเอกชนยังเป็นตัวหลักขับเคลื่อน ห่วงปัญหาการเมืองปะทุหากแผนปรองดองไม่สำเร็จ พร้อมหนุนปรับค่าแรงขั้นต่ำเพื่อจูงใจแรงงานเข้ามาในระบบลดปัญหาขาดแคลน เตือนแรงงานพม่า 2 ล้านคนอาจกลับบ้านเพราะเริ่มเปิดประเทศ และมีประชาธิปไตยมากขึ้น

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แถลงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2555 ซึ่งจัดทำโดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป โดยยืนยันอัตราการเติบโตไว้ที่ร้อยละ 5.8-6.5 ตามคาดการณ์ที่ทำไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2554

อย่างไรก็ตาม มีการประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบใหม่ โดยคาดว่าจะเพิ่มจากเดือนธันวาคม 2554 เฉลี่ยอยู่ที่ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นราคาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 148 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นอย่างน้อย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตามสมควร

ขณะที่นโยบายอัตราดอกเบี้ยเดิมมองว่าน่าจะลดลงได้อีก แต่เศรษฐกิจจะต้องเผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อ จึงเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาก โดยช่วงครึ่งปีหลังอาจไม่ปรับก็ได้ แต่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายหากจะปรับลดลงอีกจะลงได้มากที่สุดร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2.75

สำหรับอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยรายไตรมาส มองว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองจะเติบโตร้อยละ 5.8 ไตรมาสที่สามเติบโตร้อยละ 6.5 และไตรมาส 4 เติบโตร้อยละ 13 แต่เศรษฐกิจจริงจะไม่ดีอย่างตัวเลข เพราะฐานไตรมาส 4 ปี 2554 ติดลบค่อนข้างมาก ค่าเงินบาทมองค่าเฉลี่ย 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ยังประเมินว่าเงินบาทจะแข็งค่าช่วงไตรมาสแรก จากนั้นจะอ่อนค่าลงจากการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อลงทุนหลังประสบภาวะอุทกภัย ทำให้การเกินดุลของไทยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5,000 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก

“การลงทุนเป็นการช่วยขับเคลื่อนและการบริโภคน่าจะขยายตัวดีจากนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ด้านอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าอาจจะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงปลายปี 2554 โดยน่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5-4.5 ต่อปี จากเดิมคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 3-4 ต่อปี”

ส่วนปัจจัยเศรษฐกิจโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกดีกว่าเดิม โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่ที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปคาดการณ์ไว้ดีกว่าหลายสำนักจึงไม่ได้ปรับตัวเลขนี้ มองว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 2.6 ถึงร้อยละ 2.8

ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับประมาณการเติบโตที่ร้อยละ 3 สำหรับปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย คือ อัตราเงินเฟ้อและการเมืองจากปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่หากความพยายามปรองดองล้มเหลว

ส่วนปัญหาเศรษฐกิจของประเทศสเปนจะชัดเจนในครึ่งปีหลังน่าจะลามสู่ภาคการเงิน ปัญหาเศรษฐกิจประเทศอิตาลีจะมีความชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน ส่วนปัญหาเศรษฐกิจประเทศกรีซที่วิตกในช่วงต้นปีได้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์จุดต่ำสุดไปแล้ว

ขณะที่นโยบายเชิงปริมาณ (QE3) ของสหรัฐฯ ที่โยงการเลือกตั้งประธานาธิบดี และเกี่ยวโยงการเลือกตั้งจะมีผลต่อตลาดการเงินโลก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น แต่การตัดสินใจจะใช้มาตรการนี้หรือไม่จะเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

“ประเมินว่าฝ่ายการเมืองมีสิทธิ์ส่งสัญญาณให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้นช่วงใกล้เลือกตั้ง ขณะที่วิกฤตการณ์ประเทศอิหร่านจะส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นหรือไม่ หากเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น ทำให้ไอเอ็มเอฟอาจจำเป็นต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกใหม่อีก”

ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จากการศึกษาวิจัยหลายหน่วยงานที่สอดคล้องไม่มีผลกระทบเป็นนัยสำคัญทางสถิติต่อการจ้างงาน เพราะประเทศไทยยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรม หากไม่ปรับขึ้นค่าแรงอาจไม่มีแรงจูงใจเข้ามาทำงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทย เช่น แรงงานชาวพม่าที่มียอดรวมประมาณ 2 ล้านคน เมื่อประเทศเปิดมีความเป็นประชาธิปไตย อาจคิดกลับประเทศของตน

สำหรับกิจการที่นายจ้างมีอำนาจต่อรองมากกว่าลูกจ้างอาจเลิกจ้างหรือใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และผลการปรับค่าแรงยังจะทำให้เกิดสภาวะลูกจ้างมีทักษะต่ำ นอกจากถูกปลดออกจากงานแล้ว อาจต้องทำงานต่ำกว่าคุณวุฒิของตัวเองหรือถูกระบบการจ้างงานที่ไม่เป็นทางการจากรายเดือนเป็นลูกจ้างเหมาช่วงเป็นลูกจ้างรายวัน

ส่วนผลการปรับค่าแรงขั้นต่ำส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนเอสเอ็มอีเฉลี่ยมีต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 16-17 การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทใน 7 จังหวัดนำร่อง และปรับเพิ่มร้อยละ 40 ทั่วประเทศ ส่งผลให้เอสเอ็มอีมีต้นทุนเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 6.4 เป็นภาระหนักของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น แต่ช่วยสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

นายอนุสรณ์ยังกล่าวให้เห็นถึงปัญหาท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยมองว่าไทยยังมีปัญหาค่าใช้จ่ายด้านลอจิสติกส์สูง ความสนใจของผู้ประกอบการยังน้อย และอาจไม่ใช้ประโยชน์ หรือโอกาสจากเออีซี ด้านผู้บริโภคยังไม่เข้าใจระบบกฎหมาย หลายส่วนยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับการเกิดเออีซี ฝ่ายกำหนดนโยบายหรือรัฐบาลขาดความต่อเนื่อง การศึกษาก็ยังไม่พร้อม เป็นต้น

นายยศ อมรกิจวิจัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกยานยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมถึงอุปกรณ์และส่วนประกอบไปในประเทศกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ซึ่งยานยนต์ถือเป็นสินค้านำเข้าสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น