xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” ลั่น! ไม่ใช้ค่าเงินเป็นเครื่องมือ เตือนต้มยำกุ้งรอบ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
กองบรรณาธิการ ASTVผู้จัดการ ได้สัมภาษณ์ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวนโยบาย ธปท. ท่ามกลางกระแสข่าว ธปท.กำลังถูกกดดันจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง ให้ทำนโยบายเงินบาทอ่อนค่า เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางอยู่ในขณะนี้...

อยากทราบนโยบายของ ธปท.ต่อจากนี้ไป

การมองอนาคตภายใต้หลักการค่านิยม 4 คำ คือ “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติด
ดิน” แต่การบริหารงานต้องอาศัยคนภายนอกที่ต้องมีความเข้าใจภารกิจของ ธปท. รวมทั้งค่านิยมของคนในองค์กร ภารกิจที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของ ธปท.ในการดูแลระบบเศรษฐกิจและการเงิน คือ ดูแลเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเสถียรภาพการเงินและดูแลระบบสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งคนทั่วไปมองว่า ธปท.ทำหน้าที่ดูแลด้านซัพพลายหรือบริการทางการเงินของสถาบันการเงิน แต่การจะพัฒนาให้มีความยั่งยืนก็ต้องดูด้านดีมานด์ด้วย คือผู้ใช้บริการทางการเงินที่เป็นประชาชน ผู้บริโภค บริษัทธุรกิจต่างๆ ทั้งขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)

ฉะนั้น งานเพิ่มเติมจากงานหลักที่ ธปท.ทำอยู่ในปัจจุบัน คือ การดูแลนโยบายการเงินและการกำกับดูแลสถาบันการเงิน จึงต้องการให้ความสำคัญความคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ซึ่งเป็นด้านดีมานด์ และหาก ธปท.ทำได้ดีจะสร้างความสมดุลดีมานด์และซัพพลาย ทำให้มีกิจกรรมเชิงรับ คือ รับข้อร้องเรียนและข้อทุกข์ร้องต่างๆ ส่วนเชิงรุก ให้ความรู้ทางการเงิน ทำให้สิ่งเหล่านี้คมชัดขึ้นและเป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงเป็นเหตุจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) หรือสายด่วน โทร.1213 ซึ่งรวมงานรับเรื่องร้องทุกข์ต่างๆ ถือเป็นด่านหน้าที่มีคอลเซ็นเตอร์ เรื่องที่เข้ามาลงทะเบียนครบถ้วน เรื่องไหนที่ศูนย์นี้ตอบได้ก็สามารถแก้ไขได้เลย ด่านสองจะเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งจะส่งให้ฝ่ายที่เชี่ยวชาญเฉพาะดูแลให้ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งให้สถาบันการเงินนั้นๆ พิจารณา เช่น เรื่องปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมีมาตรฐานว่าระยะเวลาภายในกี่วัน เรื่องนี้คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ขณะที่เชิงรุกจะทำเรื่องให้ความรู้

ล่าสุด ธปท.ได้จัดงาน “Financial Wisdom Fair : ปัญญาสู่ความมั่นคงทางการเงิน” ถือเป็นตัวอย่างหนึ่ง จึงมีแนวคิดจะทำเช่นนี้ต่อไป ทั้งในบริบท ธปท.และเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นด้วย ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ทำเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะ ธปท.จะยื่นมือประสานงาน อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ภาระกิจเหล่านี้จะทำนอกเหนือจากการรักษาเสถียรภาพการเงิน การกำกับดูแลสถาบันการเงิน

ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

อย่างการจัดงาน “Financial Wisdom Fair” ตรงกับความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการให้ ธปท.ทำงานด้านนี้มากขึ้น ส่วนการจัดการเรื่องร้องทุกข์ ตามสถิติสามารถดำเนินการได้ 90% ขึ้นไป ส่วนเรื่องที่เหลืออยู่ในช่วงการดำเนินงาน ดังนั้น ผลตอบสนองเรื่องที่ ธปท.ทำอยู่ ถือทิศทางที่ดี แต่เห็นว่าควรทำต่อเนื่อง ไม่ใช่หวังผลระยะสั้น แต่หวังผลระยะยาว เพราะหากทำดีจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

ธปท.จะลบล้างภาพในช่วงที่ผ่านมาซึ่งคนนอกมองว่าอยู่บนหอคอยอย่างไร

เป็นเหตุผลที่ต้องมีค่านิยมเรื่อง “ติดดิน” ต้องสร้างให้คน ธปท.ตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นค่านิยมที่สำคัญ อีกทั้งยังได้ทำการสำรวจความคิดเห็นคนข้างนอกและให้พนักงานรับทราบ เพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงและพัฒนา ซึ่งเห็นว่าเรื่องที่สำคัญมาก คือ การพัฒนาพนักงาน จึงเปิดโอกาสให้เขาสัมผัสภาคสนามของจริง แม้ดำรงสถานะเป็นพนักงาน ธปท.อยู่ ตัวอย่างในขณะนี้สายนโยบายการเงิน ถือเป็นสายงานเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงได้ออกพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการภาคสนามทั้งพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด หรือเชิญผู้ประกอบการต่างๆมาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ ธปท.ส่วนสายนโยบายสถาบันการเงินได้ปรับโครงสร้าง โดยเชิญบุคคลากรจากภายนอกที่เป็นภาคธุรกิจ ภาครัฐ มานั่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนส.) เพื่อให้ข้อคิดเห็น อีกทั้งการพัฒนาพนักงานด้วยการส่งคนออกไปทำงานภายนอกประมาณ 1-2 ปี แล้วกลับให้ข้อคิดเห็นในแต่ละเรื่อง อย่างน้อยชี้ให้เห็นว่า ธปท.ให้ความสำคัญ จึงได้ใส่คำว่า “ติดดิน” เป็น 1 ใน 4 คำของค่านิยม และสะท้อนว่าจะทำอะไรต้องให้ปฏิบัติได้ตามความเป็นจริง เข้าใจตรงกับที่เป็นจริง

ปัญหาน้ำท่วม น้ำมันแพง และเศรษฐกิจโลก ได้ส่งผลต่อนโยบายการแค่ไหน

ขณะนี้การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยค่อนข้างดี โดยการอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ชัดเจนในรูป V shape แต่ที่โดนหนัก คือ การผลิต อุตสาหกรรมและเกษตร แต่ภาคเกษตรฟื้นตัวเร็ว โดยเฉพาะที่ดินเพาะปลูกข้าว และช่วงที่เกิดปัญหาน้ำท่วมเกิดช่องว่างการผลิต (Output Gap) คือ ระดับการผลิตต่ำกว่าศักยภาพ แต่ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา Output Gap แคบลงเรื่อยๆ และตามแนวโน้มที่ ธปท.วิเคราะห์มองว่า Output Gap จะปิด ช่วงไตรมาส 3 ทำให้กำลังการผลิตเต็มศักยภาพ แม้การฟื้นตัวภาคการผลิตจะช้ากว่าภาคอื่นๆ แต่ไปในทิศทางที่ดี

ปัญหาน้ำท่วมกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างหนัก โดยการขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาส 4 ของปี 54 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนติดลบ 9% ติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในทุกไตรมาส และหดตัวมากสุดเมื่อเทียบทุกไตรมาสช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 54 แทบไม่เติบโตเลยอยู่ที่ 0.1% ซึ่งไปถั่วเฉลี่ย 3 ไตรมาสแรกหมดเลย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยค่อนข้างดี ทำให้ ธปท.ปรับตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้ใหม่เป็น 5.7%

น้ำท่วมเกิดผลกระทบค่อนข้างฉับพลัน แรงแต่หายเร็ว ต่างกับผลกระทบจากต่างประเทศ โดยการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีสัญญาณแบบช้าๆ โดยตัวเลขอัตราการว่างงานดูดีขึ้นบ้าง ภาคธุรกิจเริ่มมีกำไรดี สภาพคล่องเยอะ ทำให้ตลาดหุ้นดี ตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวแบบช้า ขณะที่ปีก่อน ปัญหาหนี้สินในยุโรปถาโถมทั้ง 2 ด้านจากปัญหาสภาพคล่องของระบบธนาคารและหนี้สาธารณะ แต่ขณะนี้ปัญหาเฉพาะหน้าของยุโรปก็เริ่มคลี่คลายในระดับหนึ่ง เช่น ปัญหาหนี้สินของกรีซ เดิมที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ แต่ปรากฏเจ้าหนี้เอกชนได้ลดหนี้ให้ค่อนข้างเยอะ และได้รับเงินช่วยเหลือทางการยุโรป และปัญหาสภาพคล่องในระบบธนาคารก็ได้รับการแก้ไขจากธนาคารกลางยุโรป ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็เป็นปัญหาหนี้ยังค้างอยู่ประเทศต่างๆ ค่อนข้างสูง

ปัญหาสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นที่ชะลอตัวอยู่ ทำให้เศรษฐกิจโลกค่อนข้างชะลอตัว และกระทบมายังเศรษฐกิจประเทศต่างๆ รวมถึงไทยด้วย ทำให้ปีนี้ภาคการส่งออกไทยชะลอตัวในเลขหลักเดียว คือ 8-9% เทียบกับช่วงปีก่อนหน้าโตเป็นเลข 2 หลัก ในปีนี้การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยวางน้ำหนักไว้กับเรื่องภายในประเทศทั้งการอุปโภคบริโภค การลงทุนของรัฐและเอกชน โดยภาครัฐได้กระสุนมหาศาลจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หลายฉบับ ส่วนภาคเอกชนตามธรรมชาติเมื่อเกิดภัยพิบัติจะซ่อมแซม ลงทุนใหม่ ลงทุนเพื่อขยายกิจการ ดังนั้น ในปีนี้แรงผลักหรือการขับเคลื่อนจะมาจากปัจจัยในประเทศมากกว่านอกประเทศ

นโยบายการเงินมีความยากพอสมควร ซึ่งเห็นได้ทันทีว่าจะมีแรงผลักทั้ง 2 ด้าน กล่าวคือ ความเสี่ยงการเจริญเติบโตและความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งหลักการนโยบายการเงินพยายามรักษาสมดุลในการบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ โดยเมื่อเกิดน้ำท่วมส่งผลให้ธุรกรรมกิจกรรมเศรษฐกิจด้อยกว่าศักยภาพ ซึ่งหากดูเฉพาะปัจจัยนั้นปัจจัยเดียว ทิศทางนโยบายการเงินจะไปในทิศทางผ่อนคลาย เพื่อช่วยเสริมให้ขึ้นมาเต็มศักยภาพหรือปิดช่องว่างการผลิต ความจริงทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไปในทิศนั้น โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 2 ครั้ง รวมปรับลดมา 0.50% มาอยู่ที่ระดับ 3.00% ต่อปีในปัจจุบัน และมีการประเมิน ธุรกรรมกิจกรรมเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนตั้งแต่เดือน ธ.ค.-ก.พ. และคิดว่ากำลังการผลิตจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงไตรมาส 3

ขณะเดียวกัน มีแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อเพิ่มเติมเข้ามา ส่วนหนึ่งจากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นและแผนการใช้จ่ายภาครัฐค่อนข้างมาก รวมทั้งจะเริ่มใช้ค่าจ้างขั้นต่ำในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและอีกนัยหนึ่งกำลังซื้อของประชาชนอาจจะเพิ่มขึ้นด้วย จึงเป็นอีกด้านหนึ่งเกิดความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3% น่าจะเอื้อต่อการเติบโตและการฟื้นตัวต่อเนื่องอยู่แล้ว เหตุเพราะว่าเงินเฟ้อคาดการณ์อยู่ที่ระดับ 3% เศษๆ ดอกเบี้ยนโยบาย 3% ถือว่าดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่าเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันถามว่าควรลดมากกว่านี้ไหม ก็เห็นว่าเสี่ยงเกินไป เพราะเริ่มเห็นแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อ จึงตัดสินใจดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3% ในขณะนี้และเฝ้าติดตาม และการส่งสัญญาณนโยบายการเงินไม่ได้หย่อนยานจนเกินไปจนกระทั่งการคาดการณ์เงินเฟ้อสูงเกินไป

นโยบายการเงินมีน้ำหนักแค่ไหน ภายใต้นโยบายรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ

นโยบายเศรษฐกิจต้องสัมพันธ์กันให้ดี เพราะว่านโยบายด้านหนึ่งทำไปก็อาจกระทบอีกด้านอื่นๆ ได้ จึงเน้นเสมอว่าต้องร่วมมือกัน จะคิดเฉพาะส่วนของเราไม่คิดถึงคนอื่นก็ไม่ได้ โดยเฉพาะนโยบายการคลัง เป็นเหตุให้ผู้ว่าการ ธปท.อยู่ในกรรมการเกี่ยวข้องการจัดวงเงินงบประมาณ การจัดเรื่องการขาดดุล และบางครั้งต้องแสดงความคิดเห็นที่ออกมา เพื่อหวังว่าการมองหรือมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน จัดส่วนผสมให้ดี เช่น การจัดวงเงินงบประมาณ โดยเฉพาะวงเงินขาดดุล ซึ่งได้เริ่มทำวงเงินงบประมาณฯ ปี 2556 ธปท.ได้แสดงความคิดเห็นและทางนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นด้วยที่จะจัดวงเงินขาดดุลน้อยลงกว่าปีก่อนหน้า ท้ายที่สุดเป็นนโยบายขาดดุลในงบประมาณฯปี 56 อยู่ที่ 3 แสนล้านบาท ต่ำกว่าปี 55 อยู่ที่ 4 แสนล้านบาท

ถ้าเป็นไปได้จะจัดให้วงเงินขาดดุลลดลงตามลำดับ เพราะว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีเหตุตั้งแต่ซับไพรม์ พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็งกระโดดขึ้นไปถึง 4 แสนล้านบาท เที่ยวนี้น้ำท่วมกระโดดไป 3.5 แสนล้านบาทและกองทุนประกันภัยอีก 5 หมื่น กระโดดไป 4 แสนล้านบาท ดังนั้นว่าแล้วในช่วง 4 ปีนี้มีวงเงินพิเศษจากงบประมาณปกติถึง 8 แสนล้านบาท ทำให้เพียงแค่ 2 ปี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากสัดส่วน 40% กระโดดไปเป็น 48% จึงตั้งหลักไว้ว่าความยั่งยืนทางการคลังไม่เกิน 60% ถ้าวงเงินขาดดุล3-4 แสนล้านบาทจะคิดเป็น 2.4%ของจีดีพี หากสะสมไปเรื่อยๆ ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะไปถึงสัดส่วน 60%

จึงควรลดวงเงินขาดดุล ซึ่งเกิดจากรายจ่ายและรายได้ ว่าไปแล้วด้านรายจ่าย เมื่อหลังน้ำท่วมพยายามส่งเสริมให้มีความเข้มงวดมากขึ้นอะไรไม่จำเป็นที่ใช้แล้วสิ้นเปลืองก็ควรตัดออก เหลือเงินใช้ส่วนที่จำเป็นมากขึ้น เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา เป็นต้น ขณะเดียวกันด้านรายได้ก็ควรลดวงเงินขาดดุลงบประมาณ เพราะหากทิ้งไว้อย่างนี้ การติดลบเรื่อยๆ อาจจะมีโอกาสความยั่งยืนทางการคลังไปถึง 60%

ส่วนวงเงินพิเศษจาก พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง 4 แสนล้านบาทและปัญหาน้ำท่วม 4 แสนล้านบาท เมื่อเกิดเหตุคาดไม่ถึงก็จะเข้าใจสิ่งที่จำเป็น แต่ถ้าไม่มีเหตุอะไรก็น่าจะเลี่ยง เพราะการใช้เงินด้วยการออกพ.ร.ก.จะอยู่นอกกรอบ คนในอดีตผู้ใหญ่สมัยก่อนคิดไว้ดีและมีความเป็นห่วง จึงสร้างกรอบความยั่งยืนทางการคลังไว้แน่นหนาพอสมควร เช่น กู้ในแต่ละปีไม่เกิน 20% เพื่อไปชำระหนี้ แต่เมื่อออก พ.ร.ก.เหมือนอยู่นอกกรอบ ฉะนั้น ธปท.ต้องพูดเรื่องการการคลังด้วยเหตุผลนี้ เพราะทางการคลังใช้จ่ายเยอะ ขาดดุลเยอะ ก็จะเกิดผลในตลาดการเงินแน่ๆ เช่น เกิดการแย่งเงินกับภาคเอกชน เพราะเงินมีจำกัดภาครัฐใช้เยอะ เอกชนก็จะได้รับน้อย หรือถ้าทั้งรัฐและเอกชนใช้เยอะก็จะเกิดภาวะเงินเฟ้อได้ ซึ่งจะกระทบความเชื่อถือของประเทศลดลงได้และทั้งภาครัฐและเอกชนมีต้นทุนการกู้ยืมเงินที่แพงขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขึ้น ยิ่งกลายเป็นงูกินหาง หรือที่หลายคนเรียกร้องให้ ธปท.ลดดอกเบี้ย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ธปท.อยากให้ดอกเบี้ยสูง แต่เกิดจากอุปทานและอุปสงค์ ซึ่ง ธปท.พยายามรักษาสมดุล ถึงได้พูดเสมอว่าต้องรบนอกบ้าน ถ้ารบในบ้านมันก็เข้าตาจนต้องขึ้นดอกเบี้ย แต่ถ้ารบนอกบ้าน หากดูแลการใช้จ่ายวินัยทางการคลังให้ดี ดอกเบี้ยก็ไม่จำเป็นต้องสูง

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปในประเทศมีหลายมิติ เช่น มิติเรื่องการเมือง การศึกษา การใช้ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะประกอบกันในการบริหารประเทศให้ไปได้ดี แต่ในระยะสั้นเรื่องนโยบายการเงินและนโยบายการคลังมีอิทธิพลต่อความเป็นไปในเศรษฐกิจ แต่ในระยะยาวเกี่ยวกับของจริง เช่น ภาคการผลิต ผลิตภาพ ความสามารถของแรงงาน ความสามารถของคนไทย ความรู้ การใช้เทคโนโลยี ความสงบสุข ความมั่นคงทางการเมือง เป็นต้น ดังนั้น นโยบายการเงินและการคลังมีน้ำหนักมากต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะถ้าการเมืองไม่มั่นคง ด้านอื่นๆ ก็เซไปด้วย 

รัฐมนตรีคลังสั่ง ธปท.ให้รู้จักขาดดุล เหมือนจะไปคนละทางกับ ธปท.

ไม่ได้ไปคนละทาง ผมมีโอกาสคุยกับท่านเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐกิจประเทศใดประเทศหนึ่งมีเหตุให้เกิดความสมดุลได้เสมอทั้งที่เกิดจากปัจจัยในและนอกประเทศ อย่างของไทยเห็นชัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถูกกระทบจากนอกประเทศ ทำให้เกิดความไม่สมดุลเยอะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านพูดถึง สุทธิแล้วมีเงินทุนไหลเข้าประเทศค่อนข้างมากทั้งเกิดจากดุลบัญชีเดินสะพัด คนลงทุนในหุ้นและพันธบัตร เหตุจากสหรัฐและยุโรปมีปัญหา พวกเงินทองวิ่งหาผลตอบแทนสูงขึ้น สร้างความเสียหายได้เช่นกัน หากเงินมากเกินไปจะเกิดผลข้างเคียง ธปท.จะทำหน้าที่ดูดซับ โดยเมื่อเขาเอาเงินดอลลาร์เข้ามา ธปท.ซื้อเงินดอลลาร์เข้ามาและเอาเงินบาทออก ซึ่งหากเงินบาทเยอะ ธปท.ก็จะดูดซับ ทำให้มีภาระค่าใช้จ่าย คือ ดอกเบี้ยในประเทศสูงกว่าที่เราเอาเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ท่านพูดแนวนี้ เวลานี้ ธปท.แบกรับค่าใช้จ่ายรักษาค่าสมดุลไว้เยอะ แต่ท่านค่อนไปทางว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่เป็นข่าวร้ายเสมอไป มันอาจจะช่วยรักษาสมดุล ในแง่หนึ่งก็ถูกต้อง แต่ว่าวิธีแก้ของ ธปท.ในการรักษาสมดุลไม่เหมือนทีเดียว เช่น ส่งเสริมให้คนไทยหรือนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ แม้ไทยจะได้ดุลการค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่เราชอบ ในแง่ยุทธศาสตร์เป็นเรื่องที่ถูกต้อง โดยธุรกิจไทยจุดนี้มีความเข้มแข็งสามารถสู้นอกประเทศได้ หากจำกัดตัวเองในประเทศจะมีโอกาสน้อยเป็นแค่ประเทศหนึ่ง และเป็นการกระจายความเสี่ยงได้อีกวิธีหนึ่ง

ในปีก่อน เงินทุนของคนไทยไปลงทุนในต่างประเทศเติบโตดี ระยะหลังเห็นรายชื่อธุรกิจไทยไม่ว่าจะไปหาแหล่งพลังงาน ตั้งโรงงานปิโตรเคมี ทำธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาล ไปซื้อ Brand ของทูน่ากระป๋อง เปิดห้างสรรพสินค้า สร้างโรงงานซีเมนต์ ถือเป็นสัญญาณที่ดีกลายเป็นว่าธุรกิจไทยไปเป็นเจ้าของสินทรัพย์ในต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ มาก ดีกว่าปล่อยธปท.เก็บเงินตราต่างประเทศแล้วไปลงทุนพันธบัตรสหรัฐฯ ยุโรป ฉะนั้น ในเชิงของปัญหาทั้งผมและท่าน รมว.คลังเห็นตรงกันที่ต้องพยายามรักษาสมดุล ส่วนเครื่องมือที่นำมาใช้อาจแตกต่างกันออกไป

รัฐมนตรีคลังอยากเห็นค่าเงินอ่อน ความหมายคืออะไร

เวลานี้ ธปท.ไม่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบาย ถ้าเราถอยหลังกลับไปเมื่อปี 40 ซึ่งเราผิดพลาดมากในการดำเนินนโยบายการดูแลความสมดุล เราไปทำในเรื่องที่ตำราวิชาการมองว่าเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ คือ เราไปทำ 3 อย่างพร้อมกันในปี 40 โดยเรื่องแรก เราได้อนุญาตให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเสรี เรื่องที่ 2 ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยแบบอิสระ ซึ่งช่วงนั้นเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นก็ขึ้นดอกเบี้ย 3. ตั้งเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งให้เงินบาทคงที่อยู่ที่ 27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในทางตำราวิชาเห็นว่าทำ 3 อย่างไม่ได้และประสิทธิผลไม่ดี พอดอกเบี้ยในประเทศสูงกว่าต่างประเทศ เงินทุนก็เคลื่อนย้ายเข้ามาและช่วงนั้นธุรกิจไทยก็กู้ยืมเงินจากต่างประเทศเยอะ โดยมีความรู้สึกว่าไม่มีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพราะรัฐไปตรึงค่าเงินบาทไว้ ดังนั้น ในปี 40 เป็นบทเรียนที่ใหญ่หลวงมาก จึงเห็นว่าควรเลือก 2 อย่าง ซึ่งประเทศต่างๆ ก็ต้องเลือกและเราเลือก 2 อย่างแรก คือ ให้เศรษฐกิจไทยยังคงมีเงินทุนเคลื่อนย้ายได้และมีนโยบายอัตราดอกเบี้ยอิสระ แต่ในส่วนอัตราแลกเปลี่ยนก็ปล่อยให้ยืดหยุ่นตามภาวะจนเป็นมาถึงทุกวันนี้

ธปท.พูดชัดว่าปีนี้จะไม่แทรกแซงเงินบาทเหมือนปีที่ผ่านๆ มา

เมื่อปี 53 เงินทุนไหลเข้าเยอะ และธปท.เข้าแทรกแซงบ้าง แต่ถ้าสังเกตเห็นว่าการแทรกแซงไม่เหมือนปี 40 แต่เป็นการดูแลไม่ให้ผันผวนในระยะสั้นๆและไม่ต้านทานกระแส ซึ่งไม่ฝืนเงินบาทที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไม่เช่นนั้น ธปท.จะเสียหายเยอะ จึงได้ปล่อยและเมื่อถึงจุดหนึ่งดีมานส์และซัพพลายในตลาดก็หาดุลยภาพ ทำให้ในปี 53 เงินบาทกว่า30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปี 54 เงินบาทอ่อนบ้างแข็งค่าบ้าง แต่เราไม่ได้บริหารจัดการมากนัก โดยหลักทาง ธปท.ไม่ได้ตรึงหรือตั้งเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน จึงไม่ควรตั้งเป้าไว้ เพราะอาจจะเป็นดุลยภาพเทียม ซึ่งตลาดอาจไม่เห็นด้วยก็จะเกิดผลข้างเคียง

ตัวอย่างเช่น ถ้า ธปท.ต้องการให้เงินบาทอ่อนก็ต้องฉีดเงินบาทเข้าไปในระบบและเร่งซื้อเงินดอลลาร์ เพื่อให้ดอลลาร์แข็งและเงินบาทอ่อน แต่เงินทุนเคลื่อนย้ายยิ่งทะลักเข้ามา เพราะสามารถขายดอลลาร์มากขึ้นใน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการฝืนตลาด ถือเป็นดุลยภาพเทียม ในอนาคตเมื่อเอาเงินออกก็สามารถแลกกลับเป็นเงินดอลลาร์ในจำนวนเงินน้อยลง ทำให้ ธปท.ขาดทุนเหมือนปี 40 เพราะเราไปทำเทียม อันที่ร้ายในการทำเช่นนี้จะเกิดเงินเฟ้อ ซึ่งตอนนี้เรากำลังเผชิญราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอยู่และในช่วงเดือน เม.ย.จะมีเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทและรัฐกำลังจะอัดฉีดเงินตาม พ.ร.ก.แก้ไขปัญหาน้ำท่วมเข้าไป ยิ่งเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดเงินเฟ้อ

“ถ้าเงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยจะขยับ เงินยิ่งไหลเข้า เราก็จะกลับไปสู่สถานการณ์เหมือนปี 40 ทันที คืออะไรก็ตามที่เคยเป็นบทเรียนกลายเป็นว่าไม่เป็นบทเรียนซะแล้ว เพราะเราไปทำเหมือนในอดีต โดยครั้งก่อนฝืนให้เงินบาทแข็ง ฝรั่งรู้เงินบาทแข็งเทียมก็เข้าไปโจมตีค่าเงิน แต่คราวนี้หากทำให้เงินบาทอ่อนเทียม มันจะขนเงินดอลลาร์เข้าประเทศ กลายเป็นธปท.ขาดทุน เงินเฟ้อเพิ่ม ดอกเบี้ยขึ้น เสร็จเลย จึงเป็นบทเรียนง่ายๆ อย่าไปทำเทียม”

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีความหนักใจการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายหรือไม่

เงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วง 3 เดือนนี้ไม่หนักใจ แต่ก็ต้องระวัง คือ ช่วงเดือนที่ผ่านมาเงินทุนไหลเข้ามาอาจส่งผลให้เงินบาทแข็งขึ้นบ้าง แต่สามารถอธิบายได้ เพราะปลายปีก่อน เงินบาทอ่อน เมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมส่งผลให้เงินบาทอ่อนกว่า ตอนนี้ก็เหมือนกับการตีตื้น และวิกฤตในยุโรปที่แก้ไขยังไม่เบ็ดเสร็จ แต่ต้องยอมรับว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาคลี่คลายความตึงเครียดพอสมควร ทำให้ผู้บริหารกองทุนต่างประเทศต่างๆ กล้าลงทุนสินทรัพย์ที่พวกเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่มากขึ้น

ขณะนี้เริ่มเห็นการเคลื่อนย้าย 2 ทิศทาง เพราะคนไทยเริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นช่วยสร้างความสมดุล จึงไม่ห่วงเรื่องนี้ แต่อย่าทำผิดพลาดเหมือนปี 40

รัฐมนตรีคลังอาจเห็นว่าขณะนี้ปัญหายุโรปและสหรัฐเริ่มคลี่คลาย

เรื่องนี้เราจะทำไปทำไมในเมื่อเวลานี้ ธปท.ติดตามอย่างใกล้ชิดและภาคเอกชนก็มีการปรับตัวได้พอสมควร เทียบกับ 2-3 ปีก่อน ภาคเอกชนบ่นค่อนข้างเยอะ แต่ช่วงนี้ไม่ อีกประการความสามารถในการส่งออกไทยขณะนี้ อัตราแลกเปลี่ยนที่เราคุ้นเคยเงินบาทกับดอลลาร์ไม่ได้เป็นตัวตัดสินเท่ากับกำลังซื้อของผู้ค้าที่มีส่วนสำคัญมาก และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาคส่งออกมีการกระจายสินค้าออกไปหลากหลายกว่าก่อนเยอะ โดยเดิมทีไทยค้าขายกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก (G3) สัดส่วนถึง 30% และนอก G3 สัดส่วนอีก 70% โดยในอาเซียนกันเองกว่า 20% จีน 11-12% เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจค่อนข้างดีและสกุลเงินเหล่านี้แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์และค่าเงินก็สอดคล้องกับค่าเงินบาท จึงไม่ได้เปรียบเสียเปรียบในการค้าขาย ถือว่าอยู่ระดับกลางๆ

ในปี 53 ค่อนข้างหนัก แม้เงินบาทจะวิ่งจากระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปอยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไป แต่ตัวเลขการส่งออกไทยสูงถึง 29% เพราะค้าขายกับประเทศไม่ใช่ G3 และเมื่อปี 54 ถ้าไม่มีปัญหาน้ำท่วมตัวเลขส่งออกโตได้ถึง 17-18% แต่เมื่อน้ำท่วม ภาคส่งออกหล่นไปอยู่ที่ 14% ในปีนี้คาดว่าตัวเลขส่งออกอยู่ที่ 8-9% เพราะว่าเศรษฐกิจโลกและจีนชะลอตัว

สถาบันการเงินปี 40 เทียบกับปี 55 แข็งแกร่งขึ้นแต่เริ่มมีการเมืองแทรกแซง

ปัจจุบันดีกว่าในอดีต การที่ภาคสถาบันการเงินไทยดีกว่าช่วงก่อนหน้าเกิดจาก 3 ทาง 1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีเสถียรภาพและเติบโตในอัตราที่น่าพอใจ ซึ่งก่อนปี 40 เศรษฐกิจเกิดปัญหาฟองสบู่ แต่ขณะนี้เศรษฐกิจค่อนข้างเอื้อ 2. ภาคสถาบันการเงินเองมีการปรับตัวค่อนข้างเยอะทั้งการบริหารความเสี่ยง การดำเนินธุรกิจ การปรับปรุงภายใน และ 3. ภาคทางการที่กำกับดูแลแบบเข้มงวดพอสมควรผ่านกฎเกณฑ์ต่างๆ

ภาคสถาบันการเงินไม่ได้ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือจากฝ่ายการเมือง เนื่องจากการออก พ.ร.ก.ลดหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ หลังจากการเจรจากันอย่างน้อย 3 รอบ ข้อสรุปสุดท้ายไปในทางที่ไม่ได้สร้างภาระเพิ่มเติมให้แก่ภาคสถาบันการเงินมากจนเกินไป เพราะเดิมเสียค่าเงินนำส่งในอัตรา 0.4% จากเดิมให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯ เปลี่ยนมาเป็นสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่ครั้งนี้นำส่งกลับมาให้กองทุนฟื้นฟูฯ เหมือนเดิม พยายามล้างหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ โดยสมมติฐานที่ว่าช่วง 3 ปี ถ้าฐานเงินฝากสูงกว่า 5% จะทบทวนอัตราเงินนำส่งลดลงได้

แล้วบทบาทสถาบันการเงินในการดูแลลูกค้ามีมากน้อยแค่ไหน

เราพยายามชี้ให้เห็นความสำคัญ ความจริงระยะหลังและจากประสบการณ์ผมเองที่เคยบริหารธนาคารพาณิชย์ พบว่า ในอดีตสถาบันการเงินอำนาจต่อรองสูง คนมักขอร้องหรือขอเงินในการกู้ยืม แต่ช่วง 6 ปีเศษที่ผมอยู่ในธนาคารพาณิชย์ต่างกัน ความคิดกลับเป็นอยากรักษาและแย่งชิงลูกค้า บางครั้งใช้ยุทธศาสตร์ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง จึงพยายามเอาใจลูกค้าในรูปแบบแตกต่างกัน แต่ตัวการสร้างความเสี่ยงภัย คือ การแข่งขัน ซึ่งบางครั้งรุนแรง ถึงขนาดไปถึงจุดหนึ่งเขาลืมไปว่าอยากรักษาลูกค้า บางทีกลับเลยเถิดไปอาจไม่ค่อยโปร่งใสกับลูกค้าดี ไม่ให้เวลาอธิบาย ข้อมูลครบถ้วนเพียงพอ ในด้านหนึ่ง ธปท.พยายามชี้ให้เห็นความสำคัญ อีกด้านหนึ่งนำเครื่องมือที่ ธปท.มีอยู่ เช่น กฎข้อบังคับมาใช้บ้าง รวมถึงหากมีปัญหาร้องเรียนเข้ามา ธปท.ยินดีให้ความช่วยเหลือ...
กำลังโหลดความคิดเห็น