xs
xsm
sm
md
lg

คลังเอาอยู่! หนี้สาธารณะ1ล้านล้าน ThaiBMAชี้รัฐกู้เงินเพิ่มไม่ทำดบ.ขึ้นมาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"คลัง" เผย หนี้สาธารณะไทยปี 2556 จะขึ้นไปแตะ 50.4% ของจีดีพี คาด ยังสามารถบริหารได้ เพราะเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง ด้าน Thaibma ชี้ แผนกู้เงิน 1.1 ล้านล้านบาท ไม่ทำให้ดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวขึ้นมาก ขณะที่นักลงทุนมีทางเลือกการออมมากขึ้น

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนาเรื่อง หนี้สาธารณะและผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนไทย ที่จัดโดยบลจ.เอ็มเอฟซี ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประมาณ 40.30% เมื่อรวมการก่อหนี้ตามกรอบกฎหมายและกฎหมายกู้เงินและการขาดดุลงบประมาณในปีหน้าก็จะมีหนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะในปี 2556 ขยับขึ้นไปแตะระดับ 50.4% ของ GDP ซึ่งยังอยู่ในวิสัยที่ยังบริหารจัดการได้ และไม่อยากให้มองเฉพาะสัดส่วนหนี้ต่อ GDP เท่านั้น แต่คงต้องดูถึงความสามารถในการชำระหนี้ของภาครัฐด้วย กรอบสัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณรายจ่ายกำหนดไว้ไม่เกิน 15% แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 9.33% เท่านั้น ดังนั้นในช่วง 2 - 3 ปี จากนี้ เรื่องหนี้สาธารณะยังไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วงแต่ประการใด ที่สำคัญปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยเกือบ 100% เป็นหนี้ในสกุลเงินบาท ซึ่งหากรัฐต้องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นก็ยังมีกรอบที่จะกู้เงินจากต่างประเทศได้ 10% ที่เป็นช่องทางที่สามารถจะทำได้อยู่

ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมาก แม้จะเจอความเสียหายจากน้ำท่วม 1.4 ล้านล้านบาท แต่บริษัทจัดอันดับเครดิตเข้ามาประเมินก็ยังมองว่ามีเสถียรภาพเพราะภาครัฐไม่มีปัญหาหนี้ ภาคเอกชนก็ไม่มีปัญหาหนี้ และประการสำคัญประเทศไทยไม่เคยมีประวัติในการผิดนัดชำระหนี้มาก่อนดังนั้นหนี้สาธารณะของไทยในปีจจุบันและมองไปในอีก 2 - 3 ปี ข้างหน้ายังไม่ใช่ปัญหา แม้วงเงินในการก่อหนี้จะฟังดูมากประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท แต่การออกพันธบัตรของรัฐจะออกตามแผนที่มีการวางไว้ประจำปี ซึ่งในปีนี้นี้มีแผนจะออกพันธบัตร 5 แสนล้านบาท ที่เกินกว่านั้นก็จะใช้วิธีการระดมทุนจากแหล่งอื่น ดังนั้นนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้จึงไม่ต้องกังวลจนเกินไปถึงผลกระทบที่จะมีกับอัตราดอกเบี้ย

ด้านนายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า แผนการกู้เงิน 1.1 ล้านล้านบาท ของภาครัฐคงไม่ออกเป็นพันธบัตรทั้งหมด และนั่นไม่น่าจะส่งผลกระทบให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้ปรับตัวขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญเพราะรัฐเองก็คงจะต้องเลือกโพรดักส์ในการระดมทุนที่หลากหลายด้วย ดังนั้นเรื่องซัพพลายของตราสารหนี้จากภาครัฐที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดตราสารหนี้จึงไม่น่าห่วงเท่าไร ที่สำคัญปัจจุบันประเทศไทยไม่มีปัญหาการว่างงาน ดังนั้นเมื่อรัฐบาลมีการกู้เงินเพื่อลงทุนเพิ่มมากขึ้นก็น่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนเพื่อผลิตมากขึ้นตามมา ในเรื่องของเรื่องที่กังวลว่าอัตราดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้นอาจจะกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนนั้นจึงไม่น่าเป็นห่วงและไม่คิดว่าการใช้จ่ายภาครัฐในครั้งนี้จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการลงทุนภาคเอกชนแต่ประการใด

“นอกจากนี้การที่ภาครัฐมีแผนการกู้เงินเป็นจำนวนมาก ด้วยรูปแบบการระดมทุนที่หลากหลายก็น่าจะส่งผลดีต่อประชาชนผู้มีเงินออมเองด้วย เพราะจะมีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นในอนาคต” นายนิวัฒน์ กล่าว

นายพิชัย ชุนหวชิร ประธานอนุกรรมการบริหารการลงทุน สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันเงินออมในประเทศไทยมีมากกว่า 10 ล้านล้านบาท สภาพคล่องในระบบก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก เฉพาะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องดูดซับสภาพคล่องเข้าไปก็มีประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท แล้ว ดังนั้นเงินกู้ของรัฐในระดับ 1.1 ล้านล้านบาท นั้น ดีมานด์การลงทุนในประเทศรองรับได้สบายมากไม่น่ามีปัญหาอะไร แล้วมองการขาดดุลงบประมาณในระดับ 3 - 4 แสนล้านบาทต่อปี ก็ถือว่าน้อยมาก เพราะเป็นการกู้เองในประเทศและสัดส่วนการกู้ต่างประเทศก็ยังมีอยู่น้อย ประเด็นคือความสมดุลในตลาดตราสารหนี้ปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตราสารหนี้ภาครัฐโดยมีสัดส่วนของตราสารหนี้ภาคเอกชนปพียง 19% เท่านั้น ซึ่งเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะบริษัทเอกชนในไทยหลังผ่านวิกฤติปี40 มาก็ไม่นิยมก่อหนี้เพราะมีบทเรียนจากช่วงวิกฤติดังกล่าว

“ด้วยบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน หากเศรษฐกิจมีการขยายตัว ภาครัฐมีการลงทุน แนวโน้มท่ภาคเอกชนจะมีการระดมทุนเพื่อขยายการลงทุนเพิ่มากขึ้นก็มีเช่นเดียวกัน และเรื่องเงินทุนไม่ต้องห่วงถ้าเศรษฐกิจประเทศไทยดีไม่เฉพาะเงินในประเทศเท่านั้นที่พร้อมลงทุนเงินต่างประเทศก็พร้อมจะไหลเข้ามาลงทุนด้วยเช่นกัน” นายพิชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น