น่าน- วิจัยพบ “คนบ้านหลวง เมืองน่าน” เป็นมะเร็งตับ-มะเร็งท่อน้ำดี สูงสุดในประเทศ คาด มาจากพฤติกรรมการกินและกรรมพันธุ์ ตลอดจนพื้นที่มีการใช้สารเคมีสูง
วันนี้ (26 มี.ค.) ศาสตราจารย์ นพ.จรัส สุวรรณเวลา รองประธานบริหารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้เป็นประธานพิธี โครงการศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งเซลล์ตับและท่อน้ำดี ใน อ.บ้านหลวง จ.น่าน ภายใต้โครงการเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพของโรงพยาบาลจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
หลัง ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานมูลนิธิ พอ.สว.ที่โรงเรียนบ้านหลวง ต.ป่าคาหลวง อ.บ้านหลวง เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ทรงพบว่า ประชาชนในอำเภอบ้านหลวง มีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งเซลล์ตับ และมะเร็งท่อน้ำดี สูงกว่าประชาชนในชุมชนอื่นของประเทศ
จึงทรงมีพระดำริให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ประสานความร่วมมือกับ นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน โรงพยาบาลบ้านหลวง และโรงพยาบาลน่าน เพื่อดำเนินโครงการศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งเซลล์ตับและท่อน้ำดี ในประชาชน อ.บ้านหลวง ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2554 เป็นต้นมา
ในระยะที่ 1 ได้มีการตรวจเลือด และอุลตราซาวนด์ตับ ประชาชน รวม 4,187 ราย พบความผิดปกติด้านต่างๆ จำนวน 1,799 ราย สำหรับรายที่พบความผิดปกติของตับ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวินิจฉัย และส่งต่อรับการรักษาเพิ่มเติม ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยได้ดำเนินการผ่าตัดผู้ป่วยแล้ว 10 ราย และจะติดตามรักษาต่อไปตลอดระยะเวลา 5 ปี
จากนั้นจึงดำเนินการอย่างต่อเนื่องในโครงการระยะที่ 2 ในครั้งนี้
ศาสตราจารย์ นพ.พิทยภูมิ กล่าวว่า โครงการศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งเซลล์ตับ และท่องน้ำดี ในอำเภอบ้านหลวง จ.น่าน ด้วยพระกรุณาธิคุณใน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานโครงการดังกล่าว สามารถพบผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ ตั้งแต่ในระยะที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ
ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งได้ และมีแนวทางในการรณรงค์ ให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้เกิดพฤติกรรมการป้องกันโรค ลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค ช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จากการศึกษาวิจัย เชื่อว่า น่าจะมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ชาวบ้านหลวง เป็นมะเร็งตับ และมะเร็งถุงน้ำดีมาก อาจจะเกิดจากพฤติกรรมในการบริโภคที่มีการบริโภคอาหารสุกๆ ดิบๆ จำพวกลาบก้อย ปลาดิบ ปลาร้า และการใช้สารเคมีในพื้นที่มีสูง จากการทำไร่ทำสวน โดยเฉพาะการปลูกพืชล้มลุกที่ต้องมีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้าประจำ นอกจากนั้น ยังมีประเด็นของพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะต้องทำการศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่องและเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นที่มีลักษณะภูมิประเทศเช่นเดียวกันด้วย