xs
xsm
sm
md
lg

สธ.พบมะเร็งตับคร่าชีวิตคนไทยมากกว่ามะเร็งชนิดอื่น เร่งลดอัตราป่วยนสนองพระราชดำริฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์
“สธ.” เร่งลดป่วย-ตายมะเร็งตับ-ท่อน้ำดี ในอีสาน สนองพระราชดำริฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ รณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่กินปลาเกล็ดดิบ ปลาร้าดิบ หลังพบประชาชนเสียชีวิตจากมะเร็งตับและท่อน้ำดีสูงอันดับ 1 ของมะเร็งทั้งหมด

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาโรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นปัญหารุนแรงในภาคอีสาน มีอัตราป่วยและอัตราตายสูงที่สุดในโลก พบได้ 30-40 ต่อประชากร 100,000 คน ว่า ได้ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขในส่วนกลาง และใน 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กทม.ที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมผลักดันโครงการแก้ไขนี้ ให้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และจะขอให้ประกาศเป็นวาระของภาคอีสาน เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่เสด็จฯไปที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดเมื่อปี 2551 และทรงริเริ่มแนวคิดแก้ไขปัญหาดังกล่าว

จากสถิติในปี 2553 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั้งหมด 58,076 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับ และท่อน้ำดีในตับมากที่สุด 14,008 ราย เป็นชายมากกว่าหญิง 2 เท่าตัว และร้อยละ 54 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 7,513 ราย และในปีเดียวกัน มีผู้ป่วยโรคมะเร็ง 2 ชนิดนี้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลทั่วประเทศจำนวน 40,373 ราย โดยผู้ป่วยร้อยละ 44 อยู่ในภาคอีสาน จำนวน 17,777 ราย

นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า มาตรการแก้ไขป้องกันโรคเพื่อลดอัตราป่วยและตายจากโรคมะเร็งดังกล่าวในระยะเร่งด่วนนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการ 2 เรื่องใหญ่ คือ 1.ร่วมกับ สปสช. โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รณรงค์ให้ความรู้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนใน 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีประมาณ 21 ล้านคน ไม่กินปลาเกล็ดดิบ ปลาร้าดิบ รณรงค์ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ค้นหาผู้ป่วยใน 4 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มที่เป็นชาวอีสานแต่กำเนิด กลุ่มที่ตรวจพบไข่พยาธิใบไม้ตับในอุจจาระ กลุ่มที่มีถิ่นฐานบ้านเรือนใกล้ริมแม่น้ำ ลำคลอง และกลุ่มอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ชาย ซึ่งพบป่วยจากโรคดังกล่าวมากในอัตรา 200 ต่อประชากร 100,000 คน

นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ประการที่ 2 คือการค้นหาผู้ป่วยเข้ารักษาตั้งแต่เริ่มเป็นโรคใหม่ๆโดยจะเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนในภาคอีสานประมาณ 300 แห่ง ให้สามารถตรวจคัดกรองทางห้องปฏิบัติการต่อจาก อสม. เพื่อวินิจฉัยโรคให้ได้เร็วและส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาล (รพ.) 7 แห่ง ได้แก่ รพ.ร้อยเอ็ด รพ.ขอนแก่น รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี รพ.อุดรธานี รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และรพ.จุฬาภรณ์ กทม.ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลเกินกว่าร้อยละ 50 โอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น

ทั้งนี้ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อป้องกันแก้ไข และเป็นศูนย์ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 1 ชุด โดยมี นายแพทย์ สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และติดตามผลเป็นระยะๆ เพื่อทำให้การดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ เป็นในทางเดียวกัน และประสบผลสำเร็จสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น