แพร่ - ศูนย์พัะฒนาที่ดินแพร่จับมือ อบต.หัวฝายจัดกิจกรรมไถกลบตอซังฟางข้าวและเศษวัสดุทดแทนการเผา หลังสถานการณ์แนวโน้มรุนแรงช่วง เม.ย.-พ.ค. เหตุเข้าช่วงเพาะปลูก-ชาวบ้านเชื่อเผาประหยัดกว่าใช้สารเคมีฆ่าหญ้า นายก อบต.แจงเล็งคุมกลุ่มเผาถ่าน-เผาป่า ส่วนกลุ่มเผาวัชพืชแนะกลบฝังแทน
นายศรีศักดิ์ ธานี ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาที่ดินจังหวัดแพร่ ร่วมกับนายบุญยงค์ กองศิลป์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวฝาย นำเกษตรกรในต.หัวฝายหมู่ 1 บ้านช่องลม ร่วมกิจกรรมสาธิตการไถกลบตอซังฟางข้าวและเศษวัชพืช และพ่นน้ำหมักจุลินทรีย์ (อีเอ็ม) เพื่อเร่งย่อยสลายและปรับปรุงดินให้มีปุ๋ยอินทรีย์จากเศษวัชพืชโดยไม่ต้องใช้วิธีการเผา โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 200 ราย
กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าในจังหวัดแพร่ ที่นายเกษม วัฒนธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้มีคำสั่งเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าโดยเร็ว เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าในช่วงเดือน เม.ย.- พ.ค. จะมีการเผาป่าและเศษวัชพืชในพื้นที่การเกษตรเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูก อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อว่าการเผาให้ผลดีกว่าการใช้ยาฆ่าหญ้าเพื่อปราบวัชพืช และยังทำให้พืชไร่เจริญงอกงามมากขึ้นอีกด้วย
นายบุญยงค์ กองศิลป์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวฝาย อ.สูงเม่น จ.แพร่ กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันใน อ.สูงเม่นมีปริมาณที่มากเกินค่ามาตรฐานติดต่อกันหลายวัน ซึ่งหลังฝนตกลงมาอากาศก็ดีขึ้นมาบ้าง แต่การเผายังคงมีต่อไป โดยใน ต.หัวฝายมีกลุ่มที่ทำการเผาอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ๆ ประกอบด้วยกลุ่มชาวบ้านที่เผาถ่าน กลุ่มเผาวัชพืชในไร่นา และกลุ่มเผาป่า
สำหรับในกลุ่มแรกนั้นทาง อบต.และอำเภอได้ใช้กฎหมายเข้ามาควบคุม โดยประกาศห้ามเผาในช่วงนี้โดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะเอาผิดทางกฎหมาย ส่วนในกลุ่มที่สองซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่เศษ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ทำปุ๋ยได้ไม่เผาแปลงนา โดยมีเป้าหมายให้ชาวนาชาวไร่ในเขตพื้นที่ราบงดการเผาโดยเด็ดขาด และเป็นต้นแบบให้เกษตรกรรายอื่นๆ ในการขยายผลการรณรงค์ไม่เผาวัชพืชในพื้นที่เกษตรกรรมอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังเหลือกลุ่มเผาป่าที่ยังคงเป็นปัญหาและควบคุมยาก อีกทั้งในพื้นที่ป่ายังคงมีไฟไหม้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะยาวจะต้องทำความเข้าใจและร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ปัญหา ทั้งระดับตำบล อำเภอและจังหวัด
ด้านนายศรีศักดิ์ ธานี ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาที่ดินจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาที่ดินจังหวัดแพร่จะเร่งเข้าไปสร้างความเข้าใจในเรื่องการไถกลบตอซังฟางข้าวและเสษวัชพืชเพื่อทดแทนการเผาให้กับกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่องในทุกอำเภอของจังหวัดแพร่ โดยจะใช้หมอดินอาสาที่มีอยู่ในทุกตำบลเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงาน