พบ “มะเร็ง” คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 5 หมื่นราย เร่งระดมสมองผ่านเวทีประชุมวิชาการ รณรงค์วิธีการป้องกัน-รักษา ดึงนักวิชาการมาเลเซียเข้าร่วม หวังผลักดันวัคซีนป้องกันเอชพวี หลังพบมะเร็งปากมดลูกยังน่าห่วง
วันนี้ (14 มี.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 11 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ในหัวข้อเรื่อง “ประสานงานวิจัยสู่การดูแลควบคุมโรคมะเร็งที่พอเพียง”(Bridging cancer research to optimized cancer care and control) ว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ขณะนี้โรคมะเร็งกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรงเป็นสาเหตุให้คนทั่วโลกเสียชีวิตปีละ7.6 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี คาดการณ์ว่า พ.ศ.2573 ผู้เสียชีวิตจากโรคนี้จะเพิ่มเป็น 17 ล้านคน ซึ่ง 2 ใน 3 ของผู้ป่วยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา สำหรับประเทศไทย โรคมะเร็งก็เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของประเทศติดต่อกันมาตั้งแต่ พ.ศ.2543 และมีแนวโน้มอัตราการเกิดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด พ.ศ.2553 พบผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้ารักษาในโรงพยาบาล 269,204 คน ผู้เสียชีวิต 58,076 คน โดยเป็นมะเร็งตับ-ท่อน้ำดีมากที่สุด รองลงมาคือ มะเร็งหลอดคอ-หลอดลมใหญ่และปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และคาดว่า อีก 3 ปีไทยจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 133,767 คน และมีผู้เสียชีวิต 84,662 คน
นายวิทยา กล่าวด้วยว่า จะมุ่งเน้นการป้องกันเป็นหลัก เพราะร้อยละ 40 ของผู้ป่วยสามารถรักษาให้หายได้ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่เบื้องต้นที่รู้ตัวว่าป่วย ไม่ให้มะเร็งลุกลามวิธีดำเนินการมี 2 วิธี คือ การป้องกันไม่ให้ป่วย และมีระบบการคัดกรองผู้ป่วยแนะนำผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพค้นหาความผิดปกติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้รู้ตั้งแต่เนิ่นๆ และนำไปสู่การรักษาอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งรณรงค์นโยบายลดหวานมัน เค็ม ลดอ้วน ลดโรค เพิ่มผักผลไม้ เพิ่มการออกกำลังกาย และลดละเลิกอบายมุข และ 5 ทำ 5 ไม่ห่างไกลมะเร็ง ได้แก่ ออกกำลังกายเป็นนิจ ทำจิตแจ่มใส กินผักผลไม้ อาหารหลากหลาย ตรวจร่างกายเป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีเซ็กซ์มั่ว ไม่มัวเมาสุรา ไม่ตากแดดจ้า และไม่กินปลาน้ำจืดดิบ โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นแกนหลักดำเนินการร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)
รมว.สธ.กล่าวว่า การประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 11 นี้ หัวข้อหลักเน้นเรื่องการประมวลข้อมูลการวิจัย ระบาดวิทยาผลกระทบต่ออุบัติการณ์ของโรคมะเร็งต่างๆ อาทิ โรคอ้วน การติดเชื้อไวรัสเอชพีวีกับมะเร็งปากมดลูก การสูบบุหรี่ การติดเชื้อในกระเพาะอาหารและทางเดินน้ำดี ภัยจากแร่ใยหินที่พบในบ้านทั่วไป นวัตกรรมล่าสุดในการค้นหาความเสี่ยงทางพันธุกรรม การป้องกันโรคด้วยวัคซีน รวมไปถึงการดูแลรักษาทางการแพทย์ ที่สามารถนำมาใช้งานได้จริงในผู้ป่วยมะเร็ง การดูแลผู้ป่วยด้วยวิทยาการต่างๆ ทั้งภูมิปัญญาตะวันตก และตะวันออก ทางด้านอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งหรือสมุนไพร นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษสำหรับประชาชนในหัวข้อเรื่อง “สารก่อมะเร็งในบ้าน มหันตภัยใกล้ตัว : แร่ใยหิน พลาสติกรังสีกับเครื่องใช้ในบ้าน”
ด้าน นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 11 นี้ จะมีการเชิญนักวิชาการจากมาเลเซีย เพื่อมาบรรยายข้อดีของการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี (HPV) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกด้วย เนื่องจากมาเลเซียเป็นประเทศที่มีการบริการฉัดวัคซีนแก่ประชาชนแล้ว ซึ่งซื้อได้ในราคาประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 150 บาทต่อโดส ขณะที่ไทยยังซื้อในราคา 3 โดส 6,000 บาท แต่มาเลเซียนั้นยังไม่มีการคัดกรองที่ดีพอเหมือนไทย เนื่องจากเป็นสังคมมุสลิมประชากรจึงเข้าถึงการคัดกรองยาก จำเป็นจะต้องสนับสนุนเรื่องวัคซีนให้ดีที่สุด ขณะที่การตรวจคัดกรองของไทยมีประสิทธิ-ภาพสูงถึง 80% ทำให้ขณะนี้มีอัตราป่วยมะเร็งปากมดลูกลดลงมาเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านม คือ มีอัตราป่วย แค่ 18 คนต่อแสนประชากรเท่านั้น ซึ่งถือว่า การเร่งรณรงค์ให้คัดกรองได้ผลดีเยี่ยม แต่หากมีวัคซีนมาบริการด้วยก็จะยิ่งดีขึ้น ซึ่งหากการผลักดันเป็นผลสำเร็จจะเสนอให้เริ่มบริการในเด็กอายุตั้งแต่ 13 ปี แต่ขณะนี้ต้องพยายามเสนอให้ภาครัฐเห็นความสำคัญและเสนอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการเจรจากับบริษัทยาเพื่อจะได้ซื้อวัคซีนในราคาถูก