xs
xsm
sm
md
lg

นักการศึกษาเมืองดอกบัวระดมสมองรับมือประชาคมอาเซียน ติงเน้นสนองแต่สังคมอาเซียนอาจทำให้ผู้เรียนไม่มีความสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มสื่อสร้างสุขจังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีระดมสมองนักการศึกษาในจังหวัดเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอีก 3 ปีข้างหน้า โดยมีนักการศึกษาจากศูนย์คุรุศึกษาอาเซียน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นักการศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษา นักการศึกษาจากสำนักงานพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 29 และผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนชาวนา ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น
อุบลราชธานี - นักการศึกษาเมืองดอกบัว เปิดเวทีระดมมันสมองรับมือผลิตครู-อาจารย์ นักเรียนสายวิชาชีพ-สามัญ รองรับการเข้าเป็นประชาคมอาเซียนที่รวม 10 ประเทศเป็นหนึ่งเดียว โดยสายอาชีวt ระบุ นักเรียนมีความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันที ด้านมัธยมรับยังมีนักเรียนกว่า 40% ไม่พร้อม เพราะที่ผ่านมาขาดแคลนครู ทำให้คุณภาพการศึกษายังต่ำ ส่วนครูชาวนาบอก การศึกษาที่เน้นตอบสนองเข้าสู่สังคมอาเซียน ทำให้ผู้เรียนไม่มีความสุข

ที่ศูนย์วัฒนธรรมและอาเซียนศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี กลุ่มสื่อสร้างสุขจังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีระดมสมองนักการศึกษาในจังหวัดเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอีก 3 ปีข้างหน้า โดยมีนักการศึกษาจากศูนย์คุรุศึกษาอาเซียน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นักการศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษา นักการศึกษาจากสำนักงานพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 29 และผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนชาวนา ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น โดยมีนายสุชัย เจริญมุขยนันท และ น.ส.ชนินทร์ญา คำดี เป็นผู้ดำเนินรายการ

รศ.ดร.สมาน อัศวภูมิ ผู้อำนวยการศูนย์คุรุศึกษาอาเซียน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวถึงการผลิตบุคคลากรเข้าสู่สังคมอาเซียนว่า ศูนย์คุรุศึกษาจะยกระดับพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูให้มีคุณภาพ เพื่อออกมาสนองตอบความต้องการของประชาคมอาเซียนที่ 10 ประเทศรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ดังนั้น ครูผู้สอนจำเป็นต้องมีทักษะความรู้มากกว่าปัจจุบัน พร้อมมีความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรม และสังคมของแต่ละประเทศ ก่อนที่จะเดินทางไปทำงานเป็นครูในกลุ่มประเทศอาเซียน

นอกจากศูนย์จะทำหน้าที่คัดกรองครูที่มีความรู้ ความสามารถ ส่งเข้าไปแข่งขันในตลาดแรงงานของสังคมอาเซียน ก็ยังต้องตรวจสอบครูที่มาจากประเทศอื่นก่อนเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของนักเรียนได้อย่างแท้จริง

ด้าน ดร.ธนกร ไชยกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี กล่าวถึงการผลิตนักศึกษาสายอาชีพเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาคมอาเซียนว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งมีหน้าที่ผลิตนักศึกษาสายอาชีพเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีความพร้อมในการเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะที่ผ่านมานักศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาผลิต ได้รับการยอมรับในระดับอาเซียนมาก่อน

เช่น อดีตนักศึกษาด้านศิลปกรรมที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวอุบลราชธานี จำนวน 2 ท่าน ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแสดงศิลปกรรมภาพวาดของกลุ่มประเทศอาเซียน และนักศึกษาอีกหนึ่งรายได้รับรางวัลเหรียญทองด้านการผลิตอาหาร จึงทำให้นักศึกษาอาชีวเป็นที่รู้จักของกลุ่มประเทศอาเซียน และอนาคตอันใกล้นี้

นอกจากนักศึกษาจะสำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพแล้ว ยังสามารถเรียนต่อได้ถึงระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาชีพ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจะเปิดทำการเรียน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน “เมื่อนักศึกษาของเราที่เรียนมาทางสายวิชาชีพตั้งแต่ระดับ ปวช.และได้ศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีก จะทำให้มีภูมิความรู้ในแต่ละสาขามากกว่าผู้เรียนรู้มาจากด้านอื่น

นักศึกษาอาชีวทั่วประเทศ จึงมีความพร้อมและมีความได้เปรียบ เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานของกลุ่มประเทศอาเซียน จึงเชื่อมั่นว่านักศึกษาอาชีวทุกคนสามารถเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับได้ทุกคน”

ขณะที่ทางโรงเรียนมัธยมศึกษา นายศรีสมบัติ ภูมิเขียว ผู้อำนวยการสำนักงานพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 29 กล่าวว่า ปัจจุบันการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมกว่า 80,000 คน มีความรู้พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนราว 60% ส่วนอีก 40% อยู่ระหว่างการเร่งพัฒนา เพราะต้องยอมรับว่าครูผู้สอนบางแขนงวิชาขาดแคลน ส่งผลต่อนักเรียนในการเรียนรู้ด้านภาษา

โดยเฉพาะการใช้ภาษาอังกฤษที่ใช้เป็นภาษาสากลของกลุ่มประเทศอาเซียน นักเรียนส่วนใหญ่ยังใช้ภาษาไม่ได้ดีเท่าที่ควร

“แต่ก็ได้มีความพยายามสนับสนุนส่งเสริมโรงเรียนตามชายขอบของประเทศ บรรจุภาษาพูดและภาษาเขียนของประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอน อย่างเช่น จ.อุบลราชธานี มีโรงเรียนชายขอบติดทั้งประเทศกัมพูชาและลาว ก็ได้มีการบรรจุทั้ง 2 ภาษาไว้ในหลักสูตรการเรียน เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจในการใช้ภาษาสื่อสารกับคนที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านได้ดีขึ้น”

ขณะที่ น.ส.ธีดา นามให ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนชาวนา ให้ความเห็นของคำว่าพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่า ถ้าความพร้อมหมายถึงการต่อสู้ผลักดันให้เจริญรุดหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านทางด้านเทคโนโลยี ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมกว่าหลายประเทศ

“แต่ถ้าความพร้อมที่หมายถึงความสุข ที่ไม่ต้องวิ่งไปหาความเจริญแบบที่มองกันอยู่ขณะนี้ เชื่อว่าความสุขที่แท้จริงมีอยู่ในบ้าน ไม่จำเป็นต้องวิ่งไปหามาจากนอกบ้านก็ได้” ระบบการศึกษาวันนี้ จึงทำเพื่อตอบสนองความต้องการเข้าเป็นหนึ่งในสังคมอาเซียน อาจทำให้ผู้เรียนไม่มีความสุขก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น