xs
xsm
sm
md
lg

คนลุ่มน้ำโขงนัดเดินธรรมยาตราสามเหลี่ยมทองคำถึงแก่งผาได

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด นัดร่วมขบวนเดินธรรมยาตราจากสามเหลี่ยมทองคำ-แก่งผาได สุดพรมแดนน้ำโขงในพื้นที่ภาคเหนือกลางเดินนี้ พร้อมจัดกิจกรรมสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของน้ำโขงจากพลังทุนตลอดเส้นทาง

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา และเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 11-19 ก.พ.55 นี้ เครือข่ายประชาชน ชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรทางศาสนา องค์กรรัฐในท้องถิ่นเชียงราย และผู้คนที่รักในแม่น้ำโขงจะจัดกิจกรรมธรรมยาตราเพื่อแม่น้ำโขง ตั้งแต่ อ.เชียงแสน ไปจนถึง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย หรือสุดพรมแดนทางแม่น้ำโขงของภาคเหนือ เพื่อร่วมกันแสดงออกและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสังคม ศาสนา ชุมชน ศิลปวัฒนธรรมในการแสดงความห่วงใยต่อแม่น้ำโขงในปัจจุบัน รวมทั้งร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 750 ปีเมืองเชียงรายด้วย

การเดินธรรมยาตราดังกล่าวจะมีคณะสงฆ์และภาคประชาชน ประมาณ 100 คนเริ่มต้นด้วยสติทุกย่างก้าวจากสามเหลี่ยมทองคำ บ้านสบรวก ม.1 ต.เวียง อ.เชียงแสน ไปจนถึงแก่งผาได บ้านห้วยลึก ม.4 ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น ระยะทางประมาณ 117 กิโลกรัม โดยใช้ระยะเวลา 9 วัน 8 คืน เพื่อเสริมสร้างการฝึกฝนสติทุกย่างก้าว เรียนรู้ตนเอง ผู้คนร่วมทางและผู้คนระหว่างทาง

รวมทั้งเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิญญาณของคนกับธรรมชาติ เสริมสร้างพลังทุนทางสังคมของชุมชนท้องถิ่นในการสาน-ยกระดับเครือข่ายการปกป้องและจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง และเผยแพร่รณรงค์สำนึกในปัญหาและการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติแม่น้ำโขงต่อสาธารณชนทั่วไป

โดยตลอดเส้นทางจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดินภาวนาและประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อศาสนา กิจกรรมปฏิบัติการสื่อรณรงค์ การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม การเข้าร่วมต้อนรับและไปส่งของชุมชนชาวบ้านและเด็กเยาวชนในแต่ละจุดที่คณะธรรมยาตราเดินทางผ่าน การร่วมเสวนา ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเดินธรรมยาตราและการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิญญาณของคนกับธรรมชาติ

สำหรับกำหนดการธรรมยาตราครั้งนี้จะเริ่มตั้งแต่ที่ปางช้างโรงแรมอนันตรา สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน โดยมีการสนทนาพูดคุยเรื่อง "ความหมายและข้อปฏิบัติในการเดิน สถานที่พักและจัดกิจกรรมตามกำหนดการ" จากนั้นทำวัตรเช้า ประกอบพิธีกรรมของคณะธรรมยาตราที่แม่น้ำรวกซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านสบรวก และเริ่มออกเดินทางจนพักกินข้าวเที่ยงที่หน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน

ช่วงนี้บ่ายก็จะมีผู้แทนคณะธรรมยาตรา กล่าวปาฐกถาธรรมยาตรากับธรรมชาติ ก่อนเดินทางไปพักค้างแรมที่วัดพระธาตุผาเงา และกลางคืนมีการจัดเวทีเสวนาคนเชียงแสนกับแม่น้ำโขง

จากนั้นจะมีการออกเดินทางไปเรื่อยๆ โดยตามเส้นทางจะมีกิจกรรมทางศาสนา เช่น บิณฑบาต รับฟังเทศนาธรรมที่เกี่ยวข้องกับธรรมะและธรรมชาติ ไปเรื่อยๆ เรียบไปตามถนนริมฝั่งแม่น้ำโขงจนถึงบริเวณ ต.ริมโขง อ.เชียงของ ก็จะมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อแม่น้ำโขง ณ เขตอนุรักษ์คอนผีหลงซึ่งเป็นเกาะแก่งขนาดใหญ่กลางแม่น้ำโขง มีกิจกรรมเล่าเรื่องชีวิตคนน้ำโขง และที่ที่พักวัดหัวเวียง อ.เชียงของ มีกิจกรรมทีชเชอร์แคมป์โดยเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านหัวเวียงและกลุ่มเยาวชนรักษ์เชียงของ ระบำแห่งสายน้ำ บทเพลงเพื่อศิลปะ ธรรมคีตา โดยศิลปะแขนต่างๆ และการแสดงของกลุ่มเยาวชนรักษ์เชียงของ

และในวันที่ 16 ก.พ.55 นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย จะเดินทางไปเป็นประธานเปิดพิธีและเริ่มเดินรณรงค์ใน อ.เชียงของ ร่วมกับคณะสงฆ์ โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนสบสม โรงเรียนเชียงของวิทยาคม โรงเรียนพระกุมารเยซู ชมรมสามล้อ เครือข่ายการท่องเที่ยวเชียงของ และชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ ก่อนเดินทางต่อไปเรื่อยๆ เพื่อร่วมกิจกรรมกับชาวบ้านที่ อ.เวียงแก่น

และวันสุดท้ายถึงบ้นห้วยลึกบริเวณแก่งผาได ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเกาะแก่งในแม่น้ำโขงและชายแดนที่แม่น้ำโขงไหลเข้าสู่ สปป.ลาว เป็นอันสิ้นสุดธรรมยาตรา

ทั้งนี้ แม่น้ำโขงมีความยาว 4,909 กิโลเมตร ไหลจากแผ่นดินธิเบต ผ่านจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชาและเวียดนาม มีพื้นที่ชุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลาเป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยความยาวและความหลากหลายของภูมินิเวศ ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์พืชพันธุ์ปลาและสัตว์ ซึ่งหล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 100 กลุ่มชาติพันธ์ ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน

นายสมเกียรติ บอกว่า สำหรับแม่น้ำโขงที่เชื่อมไทย-สปป.ลาว ทางภาคเหนือ ที่จะมีการเดินธรรมยาตราดังกล่าวมีแม่น้ำสาขาสองสายที่สำคัญคือ แม่น้ำอิง และแม่น้ำกก ซึ่งนับได้ว่าเป็น แอ่งวัฒนธรรมโบราณของล้านนา ที่ผู้คนในเขตลุ่มน้ำโขง อิง-กก ต่างพึ่งพาอาศัย แต่เมื่อดินแดนแถบนี้กลายเป็นเป้าหมายของกระบวนการพัฒนา สมัยใหม่ เช่น โครงการส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยว โครงการขุดลอกทางน้ำ โครงการระเบิดเกาะแก่งเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ และโครงการเขื่อนในลุ่มน้ำโขง ได้นำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ดินแดนแถบนี้อย่างมาก

โดยเฉพาะโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในลำน้ำโขงเป็นรูปธรรมของมิจฉาพัฒนาที่มุ่งเน้นตัวเลขทางเศรษฐกิจ คำนึงถึงประโยชน์ ของคนบางกลุ่ม ละเลยคนส่วนใหญ่ที่ต้องตกเป็นฝ่ายแบกรับภาระอย่างไม่มีจุดจบสิ้น จากผลกระทบที่ระบบนิเวศแม่น้ำโขงถูกทำลาย ทั้งระดับน้ำที่ขึ้นลงไม่ปกติ พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ลดจำนวนลง เกิดปรากฎการณ์น้ำท่วมหนักฉับพลัน และน้ำแห้งลงอย่างมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏ ฯลฯ

ซึ่งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์ทวีรุนแรงขึ้นเป็นอีกหลายเท่า โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงตอนล่างอีก 12 เขื่อน ซึ่งมีเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ซึ่งนายทุนใหญ่จากไทยได้รับสัมปทาน โดยไม่ฟังรายงานผลการศึกษาผลกระทบของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ที่เสนอให้เลื่อนการสร้างและศึกษาผลกระทบให้ละเอียดออกไปอีก 10 ปี เป็นต้น

สำหรับเขื่อนตอนบนในจีนประกอบไปด้วยปัจจุบันเขื่อนเสี่ยวหวานตั้งอยู่เหนือเขื่อนอื่นๆ มีความสูง 300 เมตร มีกำลังผลิตไฟฟ้า 4,200 เมกะวัตต์ และมีความจุอ่างน้ำกว่า 145,560 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเริ่มกักเก็บน้ำตั้งแต่เดือน ต.ค.2552 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ มีเขื่อนมันวาน มีความสูง 126 เมตร มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,500 เมกะวัตต์ เขื่อนต้าเฉาซาน สูง 110 เมตร 1,350 เมกะวัตต์ และเขื่อนจิงหง มีความสูง 118 เมตร มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,500 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ มีโครงการจะสร้างอีก 4 เขื่อนได้แก่เขื่อนเขื่อนนัวจาตู้ มีความสูง 254 และมีกำลังผลิตไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์โดยมีกำหนดสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2563 เขื่อนกงกว่อเฉียว มีความสูง 130 เมตร กำลังผลิตไฟฟ้า 750 เมกะวัตต์ เขื่อนกันลันปา กำลังผลิตไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ และเขื่อนเมงซอง กำลังผลิตไฟฟ้า 600 เมกะวัตต์

กำลังโหลดความคิดเห็น