xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ 4 “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” ปี 54

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...อัจฉรา พุ่มจันทร์ มจษ.

รางวัล “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” ที่เพิ่งประกาศไปเมื่อวันครูที่ผ่านมา ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสำหรับวิชาชีพเรือจ้าง ที่ทำหน้าที่ภายใต้ความยากลำบากของ สภาพชุมชน สังคม ความแตกต่างทางวัฒนธรรม และภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2550 เพื่อยกย่อง “ครูจูหลิง ปงกันมูล” เป็นรายแรก สำหรับในปีนี้มียอดครูที่ได้รับการยกย่อง 4 ท่าน

** รางวัลไม่ใช่บทสรุปของอุดมการณ์

ครูหมู” - ศิริพร หมั่นงาน อายุ 49 ปี ครูชำนาญการพิเศษ ร.ร.บ้านวังอ้ายคง อ.เทพสถิตย์ จ.ชัยภูมิ ยอดครูผู้มีอุดมการณ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สะท้อนการทำงานท่ามกลางความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม ว่า ชุมชนที่ตนอยู่นั้นเป็นคนภูเขา (ชาติพันธุ์ญัฮกุร) โดยมีภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียน และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงได้ริเริ่มศึกษาและทำโครงการวิจัยภาษาและวัฒนธรรมของชาวญัฮกุร ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถือเป็นแบบเรียนภาษาท้องถิ่นญัฮกุร เล่มแรกของโลก ตรงนี้ถือว่าเป็นการเติมเต็มความเสมอภาคทางด้านภาษากลุ่มชาติพันธ์นี้ จนปัจจุบันเด็กได้อ่าน เขียนเรียนหนังสือได้

ผลงานของครูไม่ได้โชว์ตีแผ่ หรือโฆษณาตามงานต่างๆ เหมือนกับดารา แต่ครูนั้นทำงานอยู่ในมุมอับลึกๆ ในพื้นที่ของประเทศ เพื่อหวังพัฒนาคุณภาพเด็กไทย ซึ่งไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่รางวัล แต่ต้องสืบสานอุดมการณ์ของเราให้ยั่งยืนนานเท่านาน”ครูหมู กล่าวอย่างมุ่งมั่น

** ถึง “ลำบาก” แต่ก็คุ้มถ้าแลกกับ “อนาคต” เด็ก

ครูอึ่ง” - สุพิทยา เตมียกะลิน อายุ 50 ปี ผอ.ร.ร.บ้านสล่าเจียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ยอดครูผู้มีอุดมการณ์ภาคเหนือ ผู้ซึ่งต้องเผชิญความยากลำบากในการเดินทางเข้าสู่โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในป่าลึกกลางหุบเขา ติดแนวชายแดนพม่า ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าไทยใหญ่และกะเหรี่ยง มีฐานะยากจน และใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสาร บอกว่า ถึงแม้จะยากลำบากตนก็แค่ชีวิตเดียว แต่เด็กๆ ที่นี่มีเป็นร้อยๆ ชีวิต ก็ถือว่าคุ้มค่าที่จะแลก ทั้งนี้ ตนได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาถ่ายทอด และบูรณาการการเรียนการสอนอย่างเรื่อยมา ซึ่งก็ช่วยให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม ตนไม่สามารถทำคนเดียวได้ หากไม่มีเพื่อนครู ชาวบ้านที่นี่ทุกคนให้ความร่วมมือ

“ภูมิใจมากที่มีโอกาสได้ทำงานในพื้นที่ยากลำบาก แต่ก็ยังมีครูอีกหลายคนที่ลำบากกว่าเรา ทั้งนี้งานที่ทำก็ไม่ใช่จะสำเร็จได้ใน 1-2 ปี แต่ต้องทำไปเรื่อยๆ หวังเพียงอย่างเดียวว่าให้นักเรียนของเราจบออกมาเป็นพลังที่ประเทศชาติ”ครูอึ่งสะท้อนแนวคิด

** ขอแค่ “หน้าที่” ของตัวเองสำเร็จก็เพียงพอ

ครูธา”- ศรัทธา ห้องทอง อายุ 51 ปี ผอ.ร.ร.บ้านคลองน้ำใส อ.กาบัง จ.ยะลา ยอดครูผู้มีอุดมการณ์ภาคใต้ เล่าถึงสภาพพื้นที่ของโรงเรียนว่า โรงเรียนตั้งอยู่บนไหล่เขา เกิดปัญหาการพังทลายของดิน ที่สำคัญยังถือเป็นพื้นที่สีแดงเสี่ยงภัยต่อการก่อความไม่สงบด้วย อีกทั้งคุณภาพการศึกษาของเด็กก็ต้องการการพัฒนาอย่างเร่งด่วน เพราะตั้งแต่เป็นโรงเรียนมาที่นี่ยังไม่ได้รับการจัดสรรคอมพิวเตอร์แม้แต่เครื่องเดียว จึงถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากในการสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นกับนักเรียนที่นี่

การทำหน้าที่ที่ผ่านมานั้นไม่ได้ยึดติดกับรางวัล แต่เอาจิตวิญญาณ ภาระหน้าที่ เป็นตัวตั้ง และคิดแค่ว่าขอให้ได้ทำในงานของตัวเองให้สำเร็จแค่นี้ก็เพียงพอ รางวัลเป็นเพียงสัญญะเพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจเท่านั้น ทั้งนี้ อยากฝากถึงคนที่จะเข้าสู่วิชาชีพครูด้วยว่า อย่ายึดติดกับเทคโนโลยีจนทำให้จิตวิญญาณครูถดถอยลงไป แต่ต้องให้เทคโนโลยีและจิตวิญญาณไปด้วยกัน การศึกษาไทยก็จะมีประสิทธิภาพ ประสบความสำเร็จ” ครูธา ฝาก

** หากเป็นผู้บริหารที่อยู่ไปวันๆ รางวัลนี้ก็ไม่สมควรได้

ครูออด” - สิริยุพา ศกุนตะเสถียร อายุ 60 ปี ผอ.ร.ร.ศึกษานารี กทม.ยอดครูผู้มีอุดมการณ์ภาคกลาง เล่าว่า ในการบริหารงานต้องพบเจออุปสรรคมากมาย ที่ต้องจัดการเพื่อพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ทั้งเรื่องยาเสพติด ขาดแคลนอุปกรณ์ที่ทันสมัย ขาดแคลนอาคารสถานที่ แต่ก็ต้องทุ่มเท อาศัยความร่วมมือ ร่วมใจ จากมวลชนเพื่อจัดหาทุนสร้างอาคารเรียนจนประสบความสำเร็จ

“ทุกคนมักคิดว่าการเป็นผู้บริหารนั้นสบาย อยู่ไปวันๆ โดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย หากเป็นเช่นนั้นจริง รางวัลนี้ก็ไม่สมควรได้ แต่สิ่งที่ได้ทำลงไปนั้น เราทำดี เราทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียน และชุมชน และยังหวังจะพัฒนาให้โรงเรียนเทียบเท่าระดับสากลให้ได้” ครูออด ทิ้งท้าย

ถึงตรงนี้หวังว่า “อุดมการณ์” ที่สะท้อนผ่าน “ยอดครู” ทั้ง 4 ท่านนี้ คงเป็นแรงผลักดันให้พ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ ทั้งประเทศได้ตระหนักถึงภาระ หน้าที่ ของวิชาชีพเรือจ้างที่เต็มเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างแท้จริง!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น