xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ประกาศ 4 “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” ปี 2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

4 ผู้ได้รับรางวัล ยอดครูผู้มีอุดมการณ์ ประจำปี 2554
สพฐ. ประกาศการคัดเลือก “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” ปี 2554 ภาคละหนึ่งคนรวม 4 คน พร้อมเข้ารับรางวัลเชิดชูเกียรติจากนายกรัฐมนตรี ในวันครู 16 ม.ค.นี้

วันนี้(13 ม.ค.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดประกาศรางวัล “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” ในโครงการ “ตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู” ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี2550 เพื่อเป็นการยกย่องให้ครู มีความเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ ทั้งปฏิบัติตนและปฏิบัติงานเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมและสร้างค่านิยมให้สังคมยอมรับและเพื่อผลักดันให้ครูมีกระบวนทัศน์ใหม่ ใฝ่รู้และรู้คิดได้อย่างรวดเร็ว ดำเนินงานประสบความสำเร็จและพัฒนาการศึกษาของประเทศในสภาพของชุมชน สังคมที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม มีความยากลำบาก มีภัยคุกคามทางสังคม ความมั่นคงของชาติ ซึ่งได้มอบให้กับ “ครูจูหลิง ปงกันมูล” เป็นรายแรก ในปี 2550 เป็นต้นมา

นายชินภัทร กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2554 นี้ สพฐ.ได้ดำเนินการคัดเลือกข้าราชการครูหรือผู้ทำหน้าที่ครู ทั้งภาคราชการ และเอกชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีชุมชนและสังคมที่มีความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม มีปัญหาภัยสังคมหรือความมั่นคงของประเทศ มีความเสี่ยง ต่อการปฏิบัติงานและเป็นผู้ทุ่มเท เสียสละเพื่อช่วยเหลือดูแลนักเรียนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับประเทศภาคละหนึ่งคนรวมทั้งหมด 4 คน ได้แก่

ภาคเหนือ น.ส.สุพิทยา เตมียกะลิน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสล่าเจียงตอง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน , ภาคใต้ นายศรัทธา ห้องทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองน้ำใส อ.กาบัง จ.ยะลา , ภาคกลาง นางสิริยุพา ศกุนตะเสถียร ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษานารี เขตธนบุรี กทม. และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นางศิริพร หมั่นงาน ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านวังอ้ายคง อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ

“มีครูจำนวนมากมายที่มีความศรัทธาในวิชาชีพ มีความอดทนและรับผิดชอบ มีความเสียสละ และที่สำคัญคือมีความรัก ความเมตตา และปรารถนาดีต่อลูกศิษย์ ดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม แบ่งครึ่งชีวิตให้กับตนเองและสังคม เป็นต้นแบบที่ดีของสังคม รวมทั้งสร้างค่านิยมให้สังคม อันเป็นที่เรียกขานในสังคมว่า การเป็นครูด้วย “ จิตวิญญาณครู ” สพฐ.ขอเป็นกำลังใจ และพร้อมที่จะดูแลให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งจะร่วมก้าวไปข้างหน้ากับเพื่อนครูทั่วประเทศในการทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

นายชินภัทร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้จัดโครงการ “ครูดีในดวงใจ” ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2554 ขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ “ครูดีในดวงใจ” ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แบ่งเป็นระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวนทั้งสิ้น 744 คน และ “ครูดีในดวงใจ” ระดับ สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาละ 1 คน และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 1 คน จำนวนทั้งสิ้น 186 คน ซึ่งสรรหาและคัดเลือกครูสายงานการสอน ผู้เป็นที่ศรัทธายกย่องยอมรับของนักเรียน เพื่อนครูและสังคมว่าเป็นแบบอย่างของผู้มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู และได้ทุ่มเทเสียสละเพื่อช่วยเหลือดูแลนักเรียนอย่างต่อเนื่องจนเกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยรางวัล “ครูดีในดวงใจ” ประจำปี พ.ศ.2554 ระดับ สพฐ. จำนวน 186 คนนี้ จะเข้ารับรางวัล เข็มทองคำเชิดชูเกียรติ “ครูดีในดวงใจ” ประจำปี 2554 โล่รางวัล และเกียรติบัตร จาก นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ในวันครูที่ 16 ม.ค.นี้ ณ หอประชุมคุรุสภา ศธ.

สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัล “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” ในโครงการ “ตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู”ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2554

น.ส.สุพิทยา เตมียกะลิน
ภาคเหนือ น.ส.สุพิทยา เตมียกะลิน ผอ.ร.ร.บ้านสล่าเจียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน นั้น เป็นชาวจังหวัดลำปาง บรรจุครั้งแรกที่โรงเรียนบ้านสุดห้วยนา อ.แม่สะเรียง เมื่อปี พ.ศ. 2534 และย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ที่โรงเรียนบ้านสล่าเจียงตอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนตั้งอยู่ในป่าลึกกลางหุบเขา ติดแนวชายแดนพม่า เด็กนักเรียนเป็นชาวเขาเผ่าไทยใหญ่และกะเหรี่ยงใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสาร มีเด็กนักเรียนทั้งหมด 160 คน เป็นนักเรียนพักนอนประจำ 113 คน การเดินทางใช้วิธีการเดินเท้าอย่างเดียว เป็นผู้ที่อุทิศตนและทุ่มเทเพื่อพัฒนาการศึกษาให้กับเด็กชาวเขา ส่งเสริมให้เด็กชาวเขาได้มีโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ไม่ย่อท้อแม้จะประสบปัญหาอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเชื้อชาติ ความแตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรม แต่ก็ทุ่มเทพัฒนาโรงเรียนจนเป็นที่ศรัทธา ยกย่อง ยอมรับ จากเด็กนักเรียน ชุมชน บุคคลต่างๆทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้ได้รับการบริจาคและให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น บริจาคเงินซื้อที่ดินสร้างอาคารเรียน อาคารพักนอน ฯลฯ ผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาทั้งสองรอบ อยู่ในระดับดี และดีมาก หลักการบริหารงาน ผอ. จะใช้วิธีการยึดหลักการกระจายอำนาจ
นายศรัทธา ห้องทอง
ภาคใต้ นายศรัทธา ห้องทอง ผอ.ร.ร.บ้านคลองน้ำใส อ.กาบัง จ.ยะลา โดยโรงเรียนตั้งอยู่บนไหล่เขา ทำให้ประสบปัญหาการพังทลายของดินเป็นบางช่วง พื้นที่โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) เมื่อปี 2550 โรงเรียนถูกลอบวางเพลิงจากโจรผู้ก่อการร้าย แต่ชุมชนก็สามารถช่วยกันดับไฟได้ทัน ปัจจุบันโรงเรียนและชุมชนได้ร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้นจนทางการประกาศให้เป็นหมู่บ้านเข้มแข็ง แต่โรงเรียนก็ยังต้องมีฐานของหน่วยทหารตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนจำนวน 1 หมวดปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียนและครู เด็กนักเรียนและชุมชนเป็นชาวมุสลิม 100% แต่ ผอ.และครูส่วนหนึ่งนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันและจัดกิจกรรมต่างๆระหว่างวิถีพุทธและมุสลิมได้อย่างดีไม่มีปัญหา จนได้รับการยกย่องให้เป็นโรงเรียนคุณธรรมต้นแบบ ผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับดีมาก
นางสิริยุพา ศกุนตะเสถียร
ภาคกลาง นางสิริยุพา ศกุนตะเสถียร ผอ.ร.ร.ศึกษานารี เขตธนบุรี กทม. ซึ่ง ร.ร.ศึกษานารีเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่มีปัญหานักเรียนยากจนมาก จากการบริหารงานโรงเรียนต่างๆที่ผ่านมาทั้งโรงเรียนถาวรานุกูล จ.สมุทรสงคราม โรงเรียนราชินีบูรณะ จ.นครปฐม และโรงเรียนศึกษานารี แต่ละโรงเรียนจะประสบปัญหาต่างๆ มากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาแรงงานต่างด้าว ปัญหาความขาดแคลนอาคารสถานที่ แต่ก็ทุ่มเทเสียสละทั้งแรงกายและแรงใจ เข้าหามวลชนจัดหาทุนสร้างอาคารเรียนได้จนประสบความสำเร็จ และพัฒนาโรงเรียนจนโรงเรียนศึกษานารีได้รับรางวัลต่างๆหลายรางวัล รวมทั้งโรงเรียนรางวัลพระราชทานขนาดใหญ่
นางศิริพร หมั่นงาน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นางศิริพร หมั่นงาน ครูชำนาญการพิเศษ ร.ร.บ้านวังอ้ายคง อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ซึ่งถือเป็น เป็นครูผู้หญิงคนแรกของโรงเรียน การเดินทางเมื่อปี พ.ศ. 2523 การเดินทางต้องเดินทางด้วยเท้า มีการระบาดของโรคไข้มาลาเรียและไข้เลือดออก ชุมชนเป็นคนภูเขา (ชาติพันธุ์ญัฮกุร) เรียกตนเองว่า “ชาวบน” หรือ “คนดง” ส่วนหนึ่ง ซึ่งมีแต่ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียน และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงได้เริ่มศึกษาและทำโครงการวิจัยภาษาและวัฒนธรรมของชาวญัฮกุรขึ้นมา ถือเป็นแบบเรียนภาษาท้องถิ่นญัฮกุร เป็นเล่มแรกของโลก ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล มีการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน (เด็กญัฮกุร) ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ให้สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ จนได้รับรางวัลครูดีเด่นด้านการพัฒนาเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ผ่านภาษาแม่ (ญัฮกุร) นำมาซึ่งความเชื่อถือ ศรัทธายกย่องยอมรับจากเด็กนักเรียน ชุมชน และหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งเป็นสถานที่ศึกษาดูงานและเผยแพร่ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น