xs
xsm
sm
md
lg

เฟี้ยว! ครม. หน้าร้อน แต่งชุดไทยเข้าประชุมสภาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลการะทบในเรื่องวิกฤติการณ์ทางด้านพลังงานที่ประเทศไทยกำลังเผชิญนั้นร้อนระอุขึ้นไปทุกที ล่าสุดรัฐบาลก็เร่งหามารตรการลดใช้พลังงานเข้ามาใช้ เริ่มกันที่เรื่องใกล้ตัวที่เน้นย้ำให้คณะรัฐมนตรีทุกคนถอดเสื้อสูทแล้วหันมาใส่ผ้าไทย!

มีผลบังคับใช้ทันทีหลังผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อย ท่านนายกฯก็มอบหมายภารกิจแก่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้สอดรับกับมาตรการประหยัดพลังงานของทางรัฐบาล รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย พร้อมๆ กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมผ้าประจำท้องถิ่น

แน่นอนว่า เร็วๆ นี้ คงจะได้เห็นท่านคณะรัฐมนตรีในภาพที่แปลกตาออกไป เพราะท่านสุภาพบุรุษและสตรีทั้งหมดจะพร้อมใจสลัดชุดสูทฝรั่ง แทนที่ด้วยชุดผ้าไทยร่วมสมัยที่นำมาดีไซน์อย่างเรียบง่ายและดูดี

'ผ้าไทย' กดไลน์แล้วแชร์ต่อ!
สำหรับผ้าไทยที่นำมาออกแบบตัดเย็บในครั้งนี้ก็ป็นผ้าพื้นถิ่นที่ถูกคัดสรรค์อย่างพิถีพิถัน ทันทีที่ สนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รับลูกนโยบายก็มอบหมายแก่คณะทำงานตามลำดับ

ส่วนผู้ที่รับหน้าที่ออกแบบชุดผ้าไทยก็คือ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ สํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ดีกรีเจ้าของรางวัลชนะเลิศการประกวด Mango Fashion Awards 2012 ณ นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน

ขณะที่คณะทำงานก็ได้ทำการออกแบบผ้าไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำนวน 5 แบบ ประกอบด้วย

ชุดกึ่งทางการ (ชาย-หญิง) เสื้อผ้าฝ้ายทอ ลายในตัว โดยประยุกต์จากเสื้อพระราชนิยม แต่ลดทอนรายละเอียดเพื่อให้กระบวนการผลิตง่ายขึ้น

ชุดใส่ทำงาน (ชาย) เสื้อไท จากชาวไทยทรงดำ ปรับให้แขนสั้น เพื่อให้สวมใส่ได้ง่ายขึ้น ตัวเสื้อใช้ผ้าฝ้ายทอมือ ส่วนปกเป็นผ้าพื้นเรียบสีขาว

ชุดใส่ทำงาน (หญิง) เสื้อป้าย จากชาวไทยลื้อ เพิ่มปกให้ดูสุภาพเรียบร้อย ปรับระดับความยาวแขนให้สั้นขึ้น เพื่อความสะดวกสบายในการทำงาน ตัวเสื้อใช้ผ้าฝ้ายทอมือ ส่วนปกเป็นผ้าเรียบสีขาว

ชุดลำลอง (ชาย) เสื้อทรงนิยมที่มักใส่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ปรับให้มีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย โดยปรับปกแบบโปโล ที่สำคัญสามารถสวมใส่ได้หลายโอกาส

ชุดลำลอง (หญิง) เสื้อคอปาดผูกเอว ที่ปรับให้ทันสมัยด้วยการวางแนวเฉียง นำผ้าขาวม้ามาประยุกต์เล่นลวดลาย และมีเส้นต่อกลางตัว

ส่วนแหล่งที่มาของเนื้อผ้าที่ถูกเลือกมาใช้ในการตัดเย็บนั้นเป็นผ้าพื้นถิ่นทั้งสิ้น เบื้องต้นนำผ้าจาก 3 แหล่งใหญ่ อาทิ ผ้าย้อมสีธรรมได่ชาติ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, ผ้าทอลายผ้าขาวม้า อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา และผ้าลายลูกแก้ว อ.เกาะยอ จ.สงขลา

วชิรวิชญ์ ผู้รับหน้าที่ผู้ออกแบบผ้าไทย กล่าวถึงแรงบันดาลใจ “มันเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของการใช้งาน อย่างที่ทราบคือมี ชุดสำหรับใส่ทำงาน ชุดลำลอง และชุดกึ่งทางการ แต่โดยรวมทั้งหมดนี้มีหัวใจหลักคือเอาวัสดุที่เกิดจากภูมิปัญญาของไทยมาใช้โ ดยเน้นไปที่ผ้าฝ้ายก่อนเป็นหลัก แล้วต่อไปอาจจะใช้เป็นผ้าไหม หรือวัสดุอื่นๆ ต่อ แรงบันดาลใจหลักมาจากเสื้อที่มีอยู่แล้วในกลุ่มชาติพันธ์ของไทย เช่น ชุดทำงานของผู้หญิงมาจากไทยลื้อ แต่ทำอย่างไรถึงจะมาปรับให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น และก็เหมาะกับทุกเพศทุกวัยทุกสรีระ มันก็ค่อนข้างยากเหมือนกัน”

ซึ่งการออกแบบผ้าไทยครั้งนี้เน้นใช้สีโทนกึ่งคลาสสิก เหมาะสำหรับทุกคนทุกสรีระ แต่ได้เป็นสีหรือลวดลายที่ตายตัว เพราะทางคณะรัฐมนตรีผู้สวมใส่สามารถออกแบบลวดลายสะท้อนตัวตนได้เช่นกัน

เป็นที่ทราบกันดีว่าคุณสมบัติของผ้าไทยนั้นจะค่อยข้างใส่สบาย เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ วิชระวิชญ์ อธิบายถึงคุณสมบัติสำคัญในการคัดเลือกผ้าพื้นถิ่นมาใช้

“เน้นดูแลรักษาง่ายเป็นหลัก เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการลดใช้พลังงาน รวมถึงการผลิตด้วยที่จะไม่เน้นให้มีการเน้นรีด คือทำอย่างไรถึงจะประหยัดพลังงานได้โดยรวมตั้งแต่กระบวนการผลิตไปถึงกระบวรการรักษาที่ต้องทำให้ดูแลรักษาง่ายขึ้น แล้วใส่สบายไม่ร้อน เหมาะกับอาการของบ้านเรา”

คลาสสิก คลายร้อน ลดภาระโลก
สำหรับชุดที่ออกแบบมาทั้งหมดนั้นดูจะเป็นชุดสำหรับหน้าร้อนรับมวลอากาศระบุของประเทศโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม วชิรวิชญ์ กล่าวว่า หากนโยบายเรื่องผ้าไทยได้รับการปฏิบัติและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีการพัฒนารูปแบบอื่นๆ ต่อไป ซึ่งก็ต้องว่ากันดุลพินิจของผู้หลักผู้ใหญ่ในสภาฯ

ถามว่าเทียบกับชุดสูทสากลแล้วการนำผ้าไทยมาออกแบบถือว่าเชยล้าสมัยหรือเปล่า นักออกแบบท่านเดิมแสดงทัศนะขึ้น “กระบวนการผลิตเราคำนึงให้เอาไปใช้ได้ เป็นกึ่งประยุกต์เข้ากับสากล ถ้าดูจากแบบเป็นการประยุกต์กึ่งเชิ้ตกึ่งสูทผสมกัน เพียงแต่กระบวนการผลิตลึกๆ มันไมได้เป็นฝรั่งไปเสียทั้งหมด”

แน่นอนว่าการออกแบบผ้าไทยในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเขาไม่น้อย เพราะด้วยระยะเวลา และโจทย์ที่ต้องให้ทุกๆ คนสามารถสวมใสได้ไม่จำกัดเพียงคณะรัฐมนตรี อีกอย่างเขาถนัดทางด้านแฟชั่นดีไซน์ พอมาเป็นการออกแบบเพื่อใส่ในชีวิตประจำวันก็ต้องผ่านกระบวนการคิดอย่างรอบคอบ

“เชยหรือเปล่า.. ผ้าไทยเรียกว่ากึ่งคลาสสิกมากกว่า เพราะทุกอย่างมันปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัคตลอดเวลา ดังนั้นเราจะทำอย่างไรมันถึงจะอยู่ไปได้นาน เราไม่ได้มองว่าเฉพาะแค่ครึ่งปีนี้หรือปีหน้า เป็นแบบที่กึ่งคลาสสิกมากกว่า อย่างสี ลายผ้า ไม่ได้ฟิค อยากทำให้แต่ละคนใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปด้วยได้ และอยากใช้ผ้าจากหลายๆ แหล่ง คิดว่าต่อไปคงมีการเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นๆ เปลี่ยนปรับแบบให้เข้ากับสรีระของแต่ละคน”

อย่างไรก็ตาม แนวคิดในเรื่องการสวมใส่ผ้าไทยนั้นไม่ได้จำกัดเพียงคณะทำงานในรัฐสภา วชิรวิชญ์ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นเหมือนกับการรณรงค์ให้ทุกคนหันในใช้ผ้าไทยในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น

“โดยรวมอยากให้คนไทยหันมาใช้วัสดุของไทย เพราะว่าท้ายสุดแล้วในภาพรวมของเศรษฐกิจมันลงไปถึงการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนใช้ของของที่มีอยู่ในประเทศเรา ถ้าเราไม่ช่วยกันต่อไปมันก็จะสาปสูญ ป็นการช่วยให้มรดกภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น คงอยู่พัฒนาต่อ”

ครม.ผ้าไทย ไปไกลได้แค่ไหน?
คงมีคำถามที่ว่าการสวมใส่ผ้าไทยนั้นสามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้จริงหรือไม่ ดร.มนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน แสดงทัศนะว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น อย่างน้อยนโยบายนี้ก็สร้างการรับรู้แก้ภาคประชาชน

“การที่ไม่ต้องแต่งชุดสากลก็เป็นการแสดงให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลก็แสดงให้ประชาชนว่าใช้นโยบายประหยัดพลังงานในระดับนึง โดยให้ผู้นำไม่ต้องไปแต่งกายในชุดสากลที่จะต้องเปิดแอร์ในที่ทำงาน ก็เป็นการแสดงในเชิงสัญลักษณ์ให้ประชาชนเห็นว่าอยากจะให้ช่วยกันประหยัดพลังงาน”

อย่างที่ทราบว่าคุณสมบัติของผ้าฝ้ายที่ถูกนำมาใช้ตัดเย็บนั้นเนื้อผ้าบางเบา ใส่สบาย แต่การเปลี่ยนชุดสากลมาเป็นชุดแบบไทยๆ ไม่ได้หมายความว่าพลังงานได้ถูกลดปริมาณการใช้ลงแล้ว

“มันคงไม่พอ ต้องประกอบด้วยมาตรการอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นอย่างจริงจังมากขึ้น เช่นเรื่องของการประหยัดไฟฟ้า เรื่องของการลดอุณภูมิเครื่องปรับอากาศ เรื่องของการให้หน่วยงานราชการทั้งหลายลดการใช้พลังงานลงอย่างเป็นรูปธรรม รงมทั้งให้หน่วยงานราชการต่างๆ ลดการใช้รถยนต์ ลดการใช้การพลังงานทุกชนิด คือต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ไม่ใช่ทำให้เห็นเพียงออกมาแต่งกายชุดไทยอย่างเดียว”

ดร.มนูญ กล่าวว่า รัฐบาลต้องมีนโยบายรับลูกในเรื่องการประหยัดพลังงานมากกว่านี้ ต้องสามารถกระตุ้นไปยังประชาชนให้เข้าใจและปฏิบัติตามด้วย

ก่อนหน้าที่คณะรัฐบาลก็มีนโยบายให้ข้าราชการใส่ชุดไทยไปทำงาน แต่ก็ยุติลงไป อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ให้ผู้ใหญ่ในสภาฯ หันมาสวมใส่ชุดไทยในครั้งนี้ก็ขอให้มีความต่อเนื่องอย่าทำในรูปแบบไฟไหม้ฟาง

“ควรทำต่อเนื่องให้มันเป็นวัฒนธรรม เป็นประเพณี แต่ข้อสำคัญคือจะทำอย่างให้ให้มันเป็นประเพณีต่อเนื่องจริง ไม่ใช่เป็นครั้งแป็นคราว เราไม่ต้องไปแต่งชุดสากล ซึ่งจริงๆ มันไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องไปแต่งชุดสากล ยกเว้นกรณีไปต่างประเทศ หรือในกรณีประชุมระหว่างประเทศจริงๆ ก็สามารถแต่งชุดไทยได้ ”

นโยบายให้คณะรัฐมนตรีสวมใส่ผ้าไทยไปทำงานนั้น ดร.มนูญ เห็นว่าสอดรับกับมาตราการประหยัดพลังงานของรัฐบาล เพียงแต่ว่าต้องปฏิบัตอย่างจริงจัง “ต้องทำประกอบกับมารตรการอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่ว่าลุกขึ้นมาแต่งชุดไทยเพียงอย่างเดียวแล้วยังคงเปิดแอร์หนาวเย็นเหมือนเดิม หรือว่าเวลาใช้พลังงานก็ยังฟุ่มเฟื่อย ต้องทำไปพร้อมๆ กันหลายมาตราการ”

ถ้าปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากเรื่องการประหยัดพลังงานนโนบายดังกล่าวยังส่งผลไปถึงเรื่องเศรษฐกิจชุมชุม ถ้าประชาชนให้ความสนใจในเรื่องผ้าไทยเพิ่มขึ้นนั้นเท่ากับว่าเม็ดเงินจำนวนมากกำลังสะพัดไปยังแหล่งชุมชุน

…..….............................
คงต้องจับตาดูกันว่านโยบายรับลูกมาตรการประหยัดพลังงานของรัฐบาลในครั้งนี้ ว่าจะปฏิวัติการลดการพลังงานของผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐสภาได้มากน้อยแค่ไหน

โปรดคำนึง.. ประชาชนไม่ได้อยากเห็นแค่เนื้อผ้าที่เปลี่ยนไป แต่อยากเห็นเนื้องานที่มีประสิทธิภาพเสียมากกว่า

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE






กำลังโหลดความคิดเห็น