Super บันเทิง ผ่าโลกนางงามกับความสวยแบบ "ลูกครึ่ง" ว่าแท้จริงแล้วเป็นความงามที่สมบูรณ์ หรือเป็นเพียงความสวยความงามแบบกลายพันธุ์ และเพราะเหตุใดบรรดานางงามลูกครึ่งยุโรป-ตะวันตก ถึงถูกต่อต้ามากกว่านางงามลูกครึ่งแถบประเทศตะวันออก...
ลูกครึ่งสวยกว่า?
การเลือกสาวลูกครึ่งเป็นตัวแทนในการขึ้นเวทีประกวดนานาชาติ อาสามารถอ้างอิงการศึกษาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวของ ดร. ไมเคิล ลิวอิส แห่งมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ด้วยการสอบถามความเห็นของผู้คนจำนวนมาก มีผลสรุปออกมาว่าส่วนใหญ่แล้ว มักจะมีความเห็นตรงกันว่าคนที่เป็นลูกครึ่งมักจะมีหน้าตาดีกว่าคนที่มีเชื้อสายใดแท้ ๆ
โดยสมมุติฐานดังกล่าว อ้างอิงมาจากทฤษฏีของ ดาร์วิน ที่ว่า ลูกผสมมักจะมีคุณสมบัติที่สมบูรณ์แบบมากกว่ารุ่นพ่อและแม่ ซึ่งนอกจากจะหน้าตาดี หรือมีเสน่ห์ดึงดูดมากกว่าแล้ว ลูกครึ่งยังมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่ามากกว่าด้วย ลูกครึ่งระดับโลกที่ประสบความสำเร็จมากกว่า ก็มีอย่าง ไทเกอร์ วูดส์, ฮัลลี เบอร์รี, ลิวอิส แฮมิลตัน หรือประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็เป็นลูกครึ่งด้วยเช่นเดียวกัน
สำหรับวงการนางงามลูกครึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเวทีประกวดสถาบันต่างๆ มาอย่างยาวนาน มีทั้งแง่มุมในทางบวกการยกย่องชมเชยคว้าตำแหน่งสำคัญๆ ต่อเนื่อง และกระแสทางลบกับการถูกต่อต้านสลับสับเปลี่ยนกันไป
ลูกครึ่งบนเวทีประกวด
ในบ้านเราเองหากถามถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เวทีการประกวดนางงามใหญ่ๆ หันมาให้ความสนใจกับบรรดาผู้ที่เป็นสาวอิมพอร์ตตลอดจนบรรดา "ลูกครึ่ง" ทั้งหลายคงจะต้องย้อนกลับไปนับตั้งแต่การก้าวขึ้นไปรับตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สของ "ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก" นั่นเอง
อันที่จริงจะบอกว่าเธอคนนี้เป็นลูกครึ่งก็คงจะไม่ถูกต้องนักเพราะปุ๋ย ภรทิพย์มีบิดามารดาแม่เป็นคนไทยแถมยังเกิดที่ประเทศไทยอีกต่างหาก
ทั้งนี้จุดเด่นที่ทำให้สาวลูกครึ่งมีความโดดเด่นมากกว่าก็คงจะเป็นเรื่องของรูปร่างสูงโปร่ง, หน้าตาที่เป็นส่วนผสมของความสวยแบบเอเชียกับตะวันตก จนไปถึงความมั่นใจแบบสาวฝรั่ง และทักษะทางภาษาที่คล่องแคล่วเป็นภาษาแรก (แม้บางครั้งพวกเธอเหล่านั้นอาจแทบพูดไทยไม่ได้เลย) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หลายคนเชื่อว่าจะเพิ่มโอกาสให้กับตัวแทนของไทยในเวทีระดับโลกนั่นเอง
แต่ถึงแม้จะเป็นจุดเด่น ทว่าในบางครั้งจุดเด่นตรงนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออกไปเลยทีเดียวเหมือนกับที่ตัวแทนสาวไทยบนเวทีการประกวด "มิสยูนิเวิร์ส 2012" อย่างน้องริด้า ณัฐพิมล นาฏยลักษณ์ (ฟาริด้า คัลเล่อร์) มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ ต้องเผชิญอยู่
เพราะในขณะที่สาวลูกครึ่งไทย/ออสเตรียคนนี้ได้รับคำชมว่า สวยมีเสน่ห์ กระทั่งมีสิทธิ์ที่อาจจะได้เข้ารอบลึกๆ ในการประกวด ทว่าความสวย ความมีเสน่ห์ ของเธอนั้นกลับเป็นความสวย ความมีเสน่ห์ ในสไตล์สาวๆ แถบประเทศอเมริกาใต้ ทั้ง เอกวาดอร์ เวเนซูเอลา บราซิล ฯ ชนิดที่ว่ากันว่าหากไม่มีสายสะพายที่เขียนคำว่า "Thailand" เอาไว้ก็แทบจะเดากันไม่ออกเลยว่าเธอเป็นตัวแทนของไทย
ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าไทยควรเลือกตัวแทนที่จะแสดงออกถึงความงามแบบ "ไทยแท้" ได้อย่างชัดเจนมากกว่า และอันที่จริงความสวยแบบเอเชียก็น่าจะถูกใจกรรมการมากกว่าความสวยของสาวลูกครึ่งตะวันตก ที่จะว่าไปแล้วก็คงสู้ของ "แท้" ไม่ได้ ซึ่งบ่อยครั้งข้อโต้เถียงก็อาจปานปลายไปถึงประเด็นที่ว่า ความหมายที่แท้จริงของคำว่าหน้าตาแบบ "ไทยแท้" คืออะไรกันแน่
รวมถึงข้อโต้แย้งที่ว่าเหตุใดสาวลูกครึ่งยุโรปจึงมักจะถูกตั้งข้อแม้รังเกียจเมื่อพวกเธอได้รับเลือกเป็นตัวแทนของชาติ แต่สาวลูกครึ่งไทยจีนกลับไม่มีใครตะขิดตะขวงใจเลย
อย่างไรก็ตาม คงไม่ใช่แค่บ้านเราเท่านั้นที่ประเด็นของความสวยแบบลูกครึ่ง หรือความสวยตามแบบฉบับเจ้าของประเทศแท้ๆ จะกลายเป็นประเด็นให้ได้ถกเถียงกัน
เจซินตา วัล วัย 21 ปี เคยถึงขั้นโดนโห่จากกลุ่มผู้ชมในการประกวดท้องถิ่น มิสอินเดียนิวซีแลนด์ ที่เวลลิงตัน เมื่อปี 2010 หลังผู้ชมในวันนั้นที่แทบทั้งหมดเป็นชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์มองว่า สาวคนนี้ที่เป็นลูกครึ่งนิวซีแลนด์ และฟิจิเชื้อสายอินเดีย ไม่น่าจะมีสิทธิ์ขึ้นเวทีประกวดเพื่อค้นหาสาวงามเชื้อสายอินเดียที่อาศัยในนิวซีแลนด์นั่นเอง
"คิมเบอร์ลี เล็กเก็ตต์" สาวงามมมาเลย์หน้า "ฝรั่ง"
สำหรับมิสยูนิเวิร์สในปี 2012 สาวงามตัวแทนจากมาเลเซียก็ต้องเผชิญกับคำวิจารณ์ที่คล้าย ๆ กับสาวไทย คิมเบอร์ลี เล็กเก็ตต์ เจ้าของตำแหน่งมิสมาเลเซียยูนิเวิร์ส เมื่อปี 2011 เป็นตัวแทนขึ้นประกวดในเวทีมิสยูนิเวิร์สของปีนี้ พร้อมคำชื่นชมที่ว่าเธอเป็นตัวแทนจากมาเลย์ที่สวยโดดเด่นที่สุดในรอบหลายปี แต่สำหรับเสียงจากบางส่วนในประเทศ กลับมองว่าเธอคนนี้แทบไม่มีความเป็นมาเลย์เลย
"ดิฉันเกิดที่ปีนัง และเติบโตขึ้นที่นั่น พ่อเป็นคนอังกฤษ แม่เป็นลูกครึ่งมาเลเซีย (ครึ่งมาเลย์ครึ่งยุโรป) เพราะฉันเป็นคนรุ่นใหม่, เป็นลูกผสมหลายเชื้อชาติ ฉันคิดว่าตัวเองจะเป็นตัวแทนของหญิงมาเลเซียที่เต็มไปด้วยความหลากหลายค่ะ" เล็กเก็ตต์ กล่าวในบทสัมภาษณ์ทาง YouTube หลังคว้าตำแหน่งผู้หญิงที่สวยที่สุดของประเทศเมื่อปีก่อนเพื่อยืนยันว่าเธอคือคนมาเลย์เต็มร้อย อย่างไรก็ตามนั่นดูจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับใบหน้า, รูปร่าง หรือกระทั่งชื่อ ที่แทบไม่บ่งบอกความเป็นมาเลย์เลย
"ฉันแค่มีพื้นเพมาจากครอบครัวที่มีเชื้อยุโรป, แค่มีรูปร่างหน้าตาที่ออกไปทางฝั่งยุโรป แต่ฉันไม่คิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะทำให้ตัวเองหลุดไปจากตัวตนความเป็นมาเลเซียหรอกนะคะ" เธอกล่าว
มาเลเซียอาจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยคนเชื้อชาติต่างๆ ทั้งชาวมาลายู, จีน และอินเดีย จนความหลากหลายทางเชื้อชาตินี่เองที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมามากมาย แต่ในเวลาเดียวกันก็กลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไปด้วย อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏว่าเชื้อสายคอเคเชียนเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมาเลย์ จึงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับสาวที่มีเลือดชาวยุโรปมากกว่า 75% ในตัวเองอย่าง เล็กเก็ตต์ ที่จะถูกตั้งคำถามว่าเธอเป็น "มาเลย์แท้" จริงหรือไม่ แม้เจ้าตัวจะยืนยันว่าตนเองเติบโต และใช้ชีวิตเหมือนเด็กสาวธรรมดาๆ ที่นี่ทุกคน
แอนเดรีย ฟอนเซกา อดีตมิสมาเลเซียเมื่อปี 2004 ที่นั่งตำแหน่งผู้อำนวยการของ มิสยูนิเวิร์สมาเลเซีย มาตั้งแต่ปี 2010 คือผู้ที่หลายคนระบุว่ามีส่วนต่อความเปลี่ยนแปลงการคัดเลือกสาวผู้ครองตำแหน่งในระยะหลัง
อดีตนักศึกษาสาขากฏหมายของมหาวิทยาลัยสิงคโปร์อย่าง ฟอนเซกา เองก็เป็นสาวลูกครึ่งเช่นเดียวกัน รวมถึงสาวงามหลังจากเธอไม่ว่าจะเป็น นาดีน แอน โทมัส มิสมาเลเซีย 2010 ที่มีเชื้อสายจีน, อินเดีย และตะวันตก หรือมิสมาเลเซีย 2011 เดเบอราห์ พรียา เฮนรี ก็เป็นสาวลูกครึ่งอินเดียกับยุโรป
อย่างไรก็ตามเอาเข้าจริงๆ แล้วการเลือกให้ คิมเบอร์ลี เล็กเก็ตต์ เป็นตัวแทนของประเทศ อาจทำให้ชาวมาเลเซียหลายๆ สบายใจกว่า เพราะอย่างน้อยด้วยเชื้อสายมาเลย์ และยุโรปของเธอก็ไม่ได้ทำให้สาวคนนี้ถูกเชื่อมโยงไปถึงความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวมาเลย์, จีน และอินเดีย ที่มีมาตลอดประวัติศาสตร์ของประเทศ
และด้วยความสวย, มั่นใจ ตลอดจนคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ หาก คิมเบอร์ลี เล็กเก็ตต์ จะกลายเป็นสาวมาเลย์คนแรกนับตั้งแต่ปี 1962 ที่คว้ามงกุฏมิสยูนิเวิร์สได้ หรืออย่างน้อยก็เข้ารอบ 15 คนสุดท้ายเป็นคนแรกของประเทศในรอบ 45 ปี มาเลเซียก็คงยอมรับเธอเป็นตัวแทนได้อย่างเต็มใจแน่นอน
"ฟิจิ" ไม่ปลื้มนางงามลูกครึ่ง
ที่ ฟิจิ ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ หญิงสาววัย 16 ปีเจ้าของตำแหน่ง มิสฟิจิเวิร์ล 2012 ต้องโดนวิจารณ์หนักเนื่องจากหลายคนคิดว่าเธอดูไม่ "ฟิจิ" พอ และลงเอยต้องถูกถอดจากตำแหน่งในที่สุด
โทริกา วัตเตอร์ส ที่เป็นลูกครึ่งยุโรป และฟิจิ สามารถเอาชนะสาวฟิจิแท้ที่ขึ้นประกวดจนได้มงกุฏมาครอง ในการประกวดที่มี เรเชล ฮันเตอร์ ซูเปอร์โมเดลชาวนิวซีแลนด์ และกรรมการที่ไม่ใช่ชาวฟิจิอีกหลาย ๆ คนมาเป็นผู้ตัดสินในวันนั้น
ความไม่พอใจของประชาชนเกิดขึ้นและลุกลามบานปลายทันที เมื่อประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นชาวฟิจิประมาณ 51% และเชื้อสายอินเดียอีก 49% รู้สึกว่าสาวคนนี้ไม่ใช่ตัวแทนความงามของพวกเขา โดยเฉพาะสีผิว และผมตรงของเธอที่แตกต่างกับสาวๆ ฟิจิโดยทั่วไป จนเป็นสิ่งที่น่ารำคาญตาสำหรับคนดูจำนวนมาก และด้วยประวัติศาสตร์เรื่องความขัดแย้งทางสังคม และการเมือง ที่เชื่อมโยงกับเรื่องเชื้อชาติ ก็ยิ่งทำให้มีความไม่พอใจถูกกระตุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนปรากฏออกมาเป็นการเขียนข้อความที่รุนแรงใน Facebook ของ มิสเวิร์ลฟิจิมากมาย
สุดท้าย โทริกา วัตเตอร์ส จึงถูกถอดจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตามกองประกวดอธิบายว่าการตัดสินใจดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องข้อวิจารณ์เรื่องเชื้อชาติ แต่เป็นเพราะเธอมีอายุไม่ถึงเกณฑ์ประกวดต่างหาก ซึ่งมีคำชี้แจงว่าผู้เข้าประกวดแต่ละคนต้องมีอายุ 16 ปี 11 เดือนในวันที่ประกวด ซึ่ง วัตเตอร์ส ยังไม่ถึง
ส่วนตัวของสาวงามได้ให้สัมภาษณ์อย่างไม่ค่อยจะพอใจนิดหน่อย ว่าเธอได้รับคำยืนยันจากกองประกวดแล้วว่าตัวเองมีคุณสมบัติครบ "ฉันรู้สึกอึดอัดกับสิ่งที่เกิดขึ้นค่ะ ทั้งคำโกหก, การหลอกลวง, ไม่เป็นมืออาชีพของการประกวด" อดีตมิสฟิจิ กล่าว พร้อมยืนยันในสิ่งที่ทุกคนคลางแคลงใจในตัวเธอ "ฉันภูมิใจในตัวตนความเป็นชาวฟิจิค่ะ"
ความงามแบบ "ฟิลิปปินส์แท้" มีจริงหรือ?
ขณะที่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาอันเป็นสังคมที่ประกอบขึ้นด้วยคนหลากหลายเชื่อชาติมาตั้งแต่ต้น จนแต่ละปีจะมีสาวงามเชื้อสายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป, ผิวสีแอฟริกัน-อเมริกัน, ฮิสปานิก หรือกระทั่งตะวันออกกลาง เป็นตัวแทนของประเทศในการขึ้นประกวดเวทีความงามระดับโลกมาแล้ว การสรรค์หาความงามแท้ของประเทศจึงไม่ได้เรื่องใหญ่อะไร แต่เรื่องแบบนี้ยังคงจำเป็นสำหรับบางสังคม
จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น แทบจะไม่พิจารณาตัวแทนที่เป็นลูกครึ่งในการส่งขึ้นเวทีระดับนานาชาติเลย สำหรับกรณีของญี่ปุ่นในยุค 60s การประกวดสาวงามชาวญี่ปุ่นในเมืองใหญ่ต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ทั้งที่ ซานฟรานซิสโก, ลอสแอนเจลิส, ซีแอตเทิล จนไปถึงฮอนโนลูลู ยังถูกใช้สำหรับเป็นเวทีเพื่อเชิดชูหญิงสาวสายเลือดญี่ปุ่นแท้ ในยุคที่มีชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยย้ายถิ่นฐานไปอยู่สหรัฐฯ และบางส่วนก็สร้างครอบครัวกับชาวต่างชาติ จนมีเด็กลูกครึ่งสายเลือดปลาดิบลืมตาดูโลกขึ้นมา เป็นที่มาของความวิตกกังวลว่าเลือดญี่ปุ่นแท้กำลังเจือจาง
สำหรับฟิลิปปินส์เรื่องดังกล่าวกลับยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก
"มหาอำนาจ" แห่งวงการนางงามเอเชีย เป็นดาวเด่นที่มีบทบาทบนเวทีประกวดความงามสำคัญ ๆ เสมอ อย่างไรก็ตามความสำเร็จเหล่านั้นมักจะมาพร้อมกับคำวิจารณ์ที่ว่าสาวสวยชาวปินอยประสบความสำเร็จได้ก็เพราะความสวยแบบสาวลาติน หรือยุโรป ที่ได้มาจากการตกเป็นเมืองขึ้นของสเปน และต่อด้วยสหรัฐอเมริกาติดต่อกันเป็นร้อยปี ซึ่งอาจถือว่าเป็นคำพูดที่ชาวฟิลิปปินส์บางส่วนอาจไม่ค่อยสบายใจนัก
ในการประกวด Mutya ng Pilipinas (ไข่มุขแห่งฟิลิปปินส์) เวทีความงามสำคัญของประเทศอีกสถาบันที่มีการมอบรางวัลในหลากหลายสาขา เมื่อปี 2011 ที่เมือง ซาน ฮวน มีการรายงานข่าวว่าการประกวดครั้นั้นถูกผูกขาดตำแหน่งโดยสาว "ฟิลิปปินส์เชื้อสายยุโรป และอเมริกา" ทั้งผู้ได้รับตำแหน่ง Mutya ng Pilipinas International อย่าง วิกกี มารี รัชตัน ลูกครึ่งอังกฤษ, เฟลิเซีย บารอน สาวลูกครึ่งสหรัฐฯ ได้ตำแหน่ง Mutya ng Pilipinas-Tourism, ไดอานา ซันชาย ราเดมัน ตำแหน่งรองอันดับ 1 เป็นลูกครึ่งเยอรมัน, ส่วนสาวลูกครึ่งสหรัฐฯ ทิฟานี อเล็กซานดรา กริมส์ เป็นรองอันดับ 2
มีเพียง บี ซานดิอาโก ตัวแทนชาวฟิลิปปินส์จากแคนาดาที่ได้ตำแหน่ง Mutya ng Pilipinas-Overseas เท่านั้นที่เป็นสาวฟิลิปปินส์แท้
ผลการตัดสินครั้งนั้นได้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมา ว่าพวกเขาสามารถหาสาวสวย "ฟิลิปปินส์แท้" เป็นตัวแทนของประเทศ โดยไม่ได้เป็นลูกครึ่งอะไรเลยได้หรือไม่ เพราะแม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสายสัมพันธ์กับโลกตะวันตกอย่างใกล้ชิดยาวนาน แต่จากข้อมูลชาวฟิลิปปินส์ที่เป็นลูกครึ่งตะวันตก (ส่วนใหญ่เป็นสเปน และสหรัฐฯ) ก็มีเพียงประมาณ 5 - 7% เท่านั้น ลูกครึ่งที่มีจำนวนมากกว่าก็คือ ชาวฟิลิปปินส์ลูกครึ่งจีนที่มีอยู่ราว 15-20% และคนส่วนใหญ่ก็คือประชากรที่มีเชื้อสายเป็นฟิลิปปินส์แท้นั้นเอง ซึ่งก็ได้แก่กลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ โดยมีชาวตากาล็อกเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด
ชาวฟิลิปปินส์รายหนึ่งกล่าวว่าพวกเขาควรภูมิใจในรูปกายภายนอก ผิวสีเข้ม, ตัวไม่สูงใหญ่ และจมูกบี้ของตัวเอง อย่างไรก็ตามสำหรับเรื่องการประกวดนางงาม อันเป็นสิ่งที่ประชาชนชาฟิลิปปินส์ให้ความสนใจราวกับเป็นวาระแห่งชาติ สาวงามลูกครึ่งคือกลุ่มที่ถูกเลือกมากที่สุด
วีนัส ราช ตัวแทนเมื่อปี 2010 ที่ไปไกลถึงตำแหน่งรองอันดับ 4 มิสยูนิเวิร์สก็เป็นสาวลูกครึ่งอินเดีย ส่วน แชมซี ซุปซุป เจ้าของตำแหน่งรองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส เมื่อปี 2011 เป็นคนที่ยืนยันว่าเธอเป็น "ฟิลิปปินส์แท้" มีพ่อและแม่เป็นคนฟิลิปปินส์ล้วน ๆ แม้หลายคนยังคงสงสัย และไม่แน่ใจก็ตาม
....................................................................
ท้ายที่สุด ถึงตอนนี้แม้ความหมายของการประกวดความงาม อาจเสื่อมความนิยม และอิทธิพลต่อสังคม กลายเป็นธุรกิจบันเทิงแบบเต็มร้อยในบางประเทศ แต่ก็ยังคงมีไม่น้อยที่มองเวทีประกวดเป็นสนามแข่งขันระดับชาติ เป็นเวทีอวดอัตลักษณ์ และความภาคภูมิใจของตนเอง เกี่ยวพันไปถึงเรื่องทางการเมือง และประเด็นทางสังคม ที่จะทำให้ "เวทีความงาม" เป็นอะไรมากแค่การเดินโชว์ตัวอวดความสวย และรูปร่างของหญิงสาวต่อไป
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม