พิษณุโลก - องค์กรชุมชนตีแสกหน้า “บางระกำโมเดล” เดินผิดทิศผิดทาง ระบุ ชาวบางระกำตกสำรวจเพียบ เผย บางหมู่บ้านมี 200 กว่าหลังคาเรือน ตกสำรวจมากถึง 98 ครัวเรือน ระบุ หลังนายกฯตั้งโมเดล คนนอกมองคนบางระกำสบาย แต่ความจริงเป็นคนละเรื่อง ชี้แนวทางแก้ปัญหาต้องไม่ใช่การสงเคราะห์เยียวยา
วันนี้ (31 ส.ค.) ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย องค์กรชุมชน จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมชั่วคราว ที่ตั้งอยู่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก นายสัญชัย ฐิติปุญญา รองนายก อบจ.พิษณุโลก ได้มอบถุงยังชีพจำนวน 100 ชุด ให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ตกสำรวจ ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ
นายณัฐวุฒิ อุปปะ ผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย องค์กรชุมชน เปิดเผยว่า หลังเกิดน้ำท่วมบางระกำ กลุ่มองค์กรชุมชน ได้รวมตัวกันจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือ และเริ่มออกสำรวจผู้ประสบภัยน้ำท่วมช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา และจะดำเนินการต่อไปอีกในระยะ 2 เดือนข้างหน้า
ซึ่งผลลงพื้นที่สำรวจ พบมีผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ตกสำรวจ ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐประมาณ 300 คน เพราะทะเบียนบ้าน เลข 13 หลักของบัตรประชาชน ที่เดิมเป็นครอบครัวใหญ่ แต่เมื่อแยกครอบครัว แต่ไม่ได้แยกทะเบียนบ้าน เมื่อได้รับความช่วยเหลือก็ได้รับชุดเดียว และอยู่ในพื้นที่ห่างไกล
นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม ควรดูแลเป็นพิเศษ คือ ผู้สูงอายุ คนพิการ เมื่อสำรวจพบ ระบบการจัดการผู้พิการกลับไม่ครอบคลุม ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการช่วยเหลือผู้พิการ ผู้สูงอายุ
“บางระกำโมเดล ควรให้ความสำคัญผู้พิการอันดับต้นๆ เช่น ม.15 ต.บางระกำ มี 200 หลังคาเรือน มีผู้ตกสำรวจประมาณ 98 หลังคาเรือน และผู้พิการประมาณ 20 คน ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ”
นายณัฐวุฒิ เผยต่อว่า มีผู้เดือดร้อนที่ยังตกสำรวจอีกมาก ดังนั้น ระหว่างที่รัฐกำลังดำเนินการ “บางระกำโมเดล” แต่ภาคประชาชนยังเดือดร้อนเหมือนเดิม ปัญหาวันนี้ คือ คนภายนอกมองว่าบางระกำโมเดลเดินแล้ว มองว่าคนบางระกำสบายแล้ว หน่วยงานทุกหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่
“ข้อมูลต่างๆ ที่มาถึงชาวบ้าน ทั้งระดับน้ำ ภัยพิบัติจากแหล่งน้ำต้นทุน แหล่งต้นน้ำ การผันน้ำ แผนการรับมือเป็นอย่างไร ข้อมูลอย่างนี้ชาวบ้านต้องรู้ เป็นข้อมูลรายวัน แต่ไม่มี”
นายณัฐวุฒิ บอกว่า ที่จริงแล้วการช่วยเหลือของภาครัฐต้องไม่ออกมาแบบสังเคราะห์และเยียวยา ถ้าบางระกำจะเป็นระบบให้ดี บางระกำต้องมองภาคประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่มองการบริหารจัดการของภาครัฐ ถ้ารับฟังปัญหาจากข้างล่าง ระดับผู้เดือดร้อนจริงๆ แล้วนำไปเป็นนโยบาย จะเป็นนโยบายที่ตรงใจ แก้ไขปัญหาของประชาชนได้ แต่ถ้าเป็นการทำงานที่ต่างคนต่างทำ ปัญหาบางระกำ 30-40 ปี ก็จะมีน้ำท่วมเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าจะมีบางระกำโมเดลแล้วก็ตาม
ด้าน นายสัญชัย ฐิติปุญญา รองนายก อบจ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า อบจ.พิษณุโลก พร้อมออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกอำเภอ ช่วงนี้ในระยะเร่งด่วน ได้ออกมอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และในระยะยาว อบจ.จะเข้ามาช่วยฟื้นฟูอาชีพ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้วย