xs
xsm
sm
md
lg

บางระกำโมเดล วาทกรรมเท่ห์ๆ ที่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบนปีนี้ ท่วมซ้ำซาก ท่วมนาน และท่วมหนักกว่าหลายๆปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลนี้มีบุญ โชคดีกว่ารัฐบาลที่แล้วมาก เพราะไม่ถูกสื่อโจมตีว่า ปล่อยปละละเลย ไม่สนใจความเดือนร้อนของชาวบ้าน สื่อก็พร้อมใจกัน ลดความสำคัญของข่าวน้ำท่วมลงไปอยู่ในอันดับรองๆ หรือไม่ก็ไม่พูดถึงเลย

นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชาติที่แล้ว เวลาทำบุญ คงถวายหนังสือพิมพ์ และทีวีให้พระอยู่เสมอ ชาตินี้ จึงไม่ถูกนักข่าว เกาะติด ตั้งคำถามแบบกัดไม่ปล่อย เหมือนที่ทำกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นากรัฐมนตรีคนก่อน

ทุกปี น้ำท่วมสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตรทีไร ต้องมีการพูดถึงเขื่อนแก่งเสือเต้นทุกที พอน้ำลด ก็เลิกกันไป ปีหน้าคอ่ยว่ากันใหม่ ปีนี้ มีวาทกรรมใหม่ คือ “บางระกำ โมเดล” ซึ่งเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างบูรณาการ โดยมี พื้นที่ในอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่นำร่อง

เป็นอีกหนึ่งผลงานสร้างสรรค์ ของทีมงานก็อปปี้ ไรเตอร์ ที่ชงให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ นำเสนอต่อพี่น้องประชาชน เมื่อถูกถามถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็จะอ้างถึง บางระกำโมเดล ไปตรวจน้ำท่วมที่อุดรธานี ที่น้ำยังไม่ท่วม ก็บัญญัติศัพท์ใหม่ “อุดรโมเดล” เอาตัวรอดไปได้ไปวันๆ

อันว่า แนวคิด บางระกำโมเดล ที่ว่ากันว่า ออกมาจากมันสมองของนายกรัฐมนตรีโคลนนิ่ง นี้ คือ การดำเนินการตามหลัก 2 พี 2 อาร์ คือ พี-เตรียมพร้อมความพร้อมด้านข้อมูลพื้นที่ พี-ป้องกันในระยะยาวอย่างยั่งยืน อาร์-แก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว และ อาร์-ดูแลชดเชย เยียวยา ผู้ประสบภัย
ฟังดูแล้วก็น่าทึ่งว่า นี่คือวิธีคิดใหม่ ทำใหม่ ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ให้หมดไปอย่างถาวร แต่ นายอำเภอ บางระกำ นายธงชัย ทุ่งโพธิแดง บอกว่า บางระกำโมเดล ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่ภาครัฐทำอยู่ สิ่งที่เพิ่มเติมคือ การตั้งคณะทำงาน มีเครื่องมือสื่อสาร ระบไอซีที และงบประมาณเตรียมดำเนินการแก้ไขปัญหา และได้รับการเหลียวแลจากระดับจังหวัด กระทรวงรัฐบาลมากขึ้นเท่านั้น

บางระกำถูกน้ำท่วมมานานเกือบ 2 เดือนแล้ว ในขณะที่นายกรัฐมนตรีท่องคาถา” บางระกำ โมเดล “วันละ 3 เวลาหลังอาหาร ข่าวทีวีล่าสุด ชาวบ้านต้องอพยพไปนอนริมถนนหนีน้ำท่วม รอเวลาให้น้ำลด ไม่เห็นมีใครรู้จักหรือเห็นหน้าตาว่า บางระกำโมเดลเป็นอย่างไร

นายณัฐวุฒิ อุปปะ ผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ องค์กรชุมชน เปิดเผยว่า หลังเกิดน้ำท่วมบางระกำ กลุ่มองค์กรชุมชนได้รวมตัวกันจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและเริ่มออกสำรวจผู้ประสบภัยน้ำท่วมช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาและจะดำเนินการต่อไปอีกในระยะ 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งผลลงพื้นที่สำรวจ พบมีผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ตกสำรวจไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐประมาณ 300 คน เพราะทะเบียนบ้าน เลข 13 หลักของบัตรประชาชน ที่เดิมเป็นครอบครัวใหญ่ แต่เมื่อแยกครอบครัว แต่ไม่ได้แยกทะเบียนบ้าน เมื่อได้รับความช่วยเหลือก็ได้รับชุดเดียวและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม ควรดูแลเป็นพิเศษ คือ ผู้สูงอายุ คนพิการ เมื่อสำรวจพบ ระบบการจัดการผู้พิการกลับไม่ครอบคลุม ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการช่วยเหลือผู้พิการ ผู้สูงอายุ

“บางระกำโมเดล ควรให้ความสำคัญผู้พิการอันดับต้นๆ เช่น ม.15 ต.บางระกำ มี 200 หลังคาเรือน มีผู้ตกสำรวจประมาณ 98 หลังคาเรือน และผู้พิการประมาณ 20 คน ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ”

นายณัฐวุฒิ เผยต่อว่า มีผู้เดือดร้อนที่ยังตกสำรวจอีกมาก ดังนั้นระหว่างที่รัฐกำลังดำเนินการ “บางระกำโมเดล” แต่ภาคประชาชนยังเดือดร้อนเหมือนเดิม ปัญหาวันนี้คือ คนภายนอกมองว่าบางระกำโมเดลเดินแล้ว มองว่าคนบางระกำสบายแล้ว หน่วยงานทุกหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ แต่จริง ๆแล้ว ไม่ใช่

ข้อมูลต่าง ๆที่มาถึงชาวบ้าน ทั้งระดับน้ำ ภัยพิบัติจากแหล่งน้ำต้นทุน แหล่งต้นน้ำ การผันน้ำ แผนการรับมือเป็นอย่างไร ข้อมูลอย่างนี้ชาวบ้านต้องรู้ เป็นข้อมูลรายวัน แต่ไม่มี”

นายณัฐวุฒิ บอกว่า ที่จริงแล้วการช่วยเหลือของภาครัฐต้องไม่ออกมาแบบสังเคราะห์และเยียวยา ถ้าบางระกำจะเป็นระบบให้ดี บางระกำต้องมองภาคประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่มองการบริหารจัดการของภาครัฐ ถ้ารับฟังปัญหาจากข้างล่าง ระดับผู้เดือดร้อนจริง ๆ แล้วนำไปเป็นนโยบาย จะเป็นนโยบายที่ตรงใจ แก้ไขปัญหาของประชาชนได้ แต่ถ้าเป็นการทำงานที่ต่างคนต่างทำ ปัญหาบางระกำ 30-40 ปี ก็จะมีน้ำท่วมเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าจะมีบางระกำโมเดลแล้วก็ตาม

นี่คือ ความจริงเพียงเศษเสี้ยวเดียว จากคนในพื้นที่ บางระกำ ที่ฟ้องว่า “ บางระกำ โมเดล” เป็นเพียงแค่ การคิดประดิษฐ์คำให้ฟังดูดี พูดแล้วเท่ เหมือน “ แก้ไข ไม่แแก้แค้น” “ สร้างสุข สลายทุกข์ “ แต่ไมได้มีสาระอะไรเลย แม้แต่น้อย

กำลังโหลดความคิดเห็น