สธ.จัดทีมเคลื่อนที่เร็วกว่า 1 พันทีมเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากน้ำท่วม 24 ชม.“วิทยา” เผย ชาวบ้าน อ.บางระกำ เข้ารับบริการตรวจสุขภาพจิต 1,464 ราย มีอาการซึมเศร้า 376 ราย และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 29 ราย โดยให้อยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด
ที่ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันช่วยเหลือ ฟื้นฟู ปัญหาอุทกภัย อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมต้อนรับนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ อ.บางระกำ และ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก โดยกระทรวงสาธารณสุข จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ชุดใหญ่ พร้อมยาเวชภัณฑ์รักษาโรค ออกให้บริการประชาชน 3 จุด ที่วัดสุนทรประดิษฐ์ วัดย่านใหญ่ อ.บางระกำและวัดคลองเมม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก พร้อมมอบยาชุดน้ำท่วมจุดละ 1,000 ชุด รวม 3,000 ชุด
นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้มีทีมแพทย์ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อให้บริการทุกวัน วันละ 300 กว่าทีม มีผู้ป่วยสะสม 58,423 ราย โรคที่พบมากที่สุด คือ น้ำกัดเท้า อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังโรคระบาดที่เกิดหลังน้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย ไข้หวัดใหญ่ ตาแดง รวมทั้งโรคมือเท้าปากในเด็กเล็กด้วย ถึงแม้ว่าไม่ใช่โรคที่มากับน้ำท่วมโดยตรงก็ตาม ซึ่งพบผู้ป่วยประปรายในปีนี้ แต่หากมีเด็กมาอยู่รวมกันจำนวนมากและมีเด็กบางคนมีเชื้ออยู่อาจติดกันได้ง่าย หรือในพื้นที่น้ำท่วมที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดในการล้างมือ ซักเสื้อผ้า ทำความสะอาดของใช้ เพราะโรคนี้ติดต่อกันโดยการรับเชื้อที่ติดอยู่ตามข้าวของเครื่องใช้เข้าทางปาก หรือแพร่ทางไอจามได้ด้วย นอกจากนี้ ได้ให้ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วที่มี 1,030 ทีมทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ป้องกัน อย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง หากมีผู้ป่วยในพื้นที่แม้เพียงรายเดียวก็ตาม ให้ลงพื้นที่เพื่อควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดทันที จนถึงขณะนี้ยังไม่มีโรคระบาด
“สำหรับการดูแลด้านสุขภาพจิต ได้ตรวจคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงเพื่อให้การดูแลต่อเนื่อง เช่น ผู้สูงอายุที่ไม่คนดูแล ผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตอยู่เดิม และครอบครัวผู้ที่สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และผู้ที่มาขอรับบริการด้านสุขภาพจิต ขณะนี้ได้ตรวจไปแล้ว 3,004 ราย พบมีอาการซึมเศร้า 639 ราย ต้องติดตามพิเศษเนื่องจากเสี่ยงฆ่าตัวตาย 144 ราย เฉพาะที่ อ.บางระกำตรวจทั้งหมด 1,464 ราย พบมีอาการซึมเศร้า 379 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 29 ราย ทั้งหมดนี้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยจะติดตามอาการเป็นระยะๆ จนกว่าจะหายเป็นปกติ” รมว.สธ.กล่าว