xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” ลุยบางระกำโมเดล-ย้ำ “แก่งเสือเต้น” ไม่อยู่ในผัง นัดเวิร์กชอปเดือนหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - “ยิ่งลักษณ์” ลุยติดตามบางระกำโมเดล ระบุยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ใช้เป็นต้นแบบประยุกต์แก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่อื่นต่อ ยัน “แก่งเสือเต้น” ไม่อยู่ในผัง สั่งกรมชลประทานเป็นแม่งานหลักรวมรวม และแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว นัดเวิร์กชอปต่อทันทีเดือนหน้า พร้อมเข้านมัสการเกจิดัง-แจกถุงยังชีพผู้ประสบภัย

วันนี้ (28 ส.ค.) ที่ว่าการอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เช่น รมว.เกษตรและสหกรณ์, รมว.มหาดไทย รมต.ประจำสำนักนายกฯ และอธิบดีกรมชลประทาน ฯลฯ ได้เดินทางตรวจความคืบหน้าของโครงการ “บางระกำโมเดล” ท่ามกลางกลุ่มแม่บ้าน และประชาชนชาวบางระกำ มายืนรอให้การต้อนรับก่อนเข้าประชุมที่ “ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันช่วยเหลือฟื้นฟูปัญหาอุทกภัยบางระกำ”

โดยมี นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก บรรยายสรุปปัญหาน้ำท่วม ว่า จากสภาวะฝนตกหนักดังกล่าว ทำความเสียหายของพืชผลการเกษตรเป็นจำนวนมาก โดยจังหวัดพิษณุโลก มีอำเภอที่ได้รับความเสียหาย ได้แก่ อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอพรหมพิราม และอำเภอบางระกำ ซึ่งเป็นอำเภอที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ถูกน้ำท่วมขังเกือบทั้งปี

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวในที่ประชุมว่า การเดินทางมาครั้งนี้ต้องการทราบความคืบหน้าของโครงการบางระกำโมเดล เพื่อเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั่วทุกภาคของประเทศไทย เป้าหมายเพื่อให้หลายหน่วยงานทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน แก้ไขปัญหาให้เกิดเป็นรูปธรรม เป็นระบบ พร้อมกับจัดทำแผนแก้ไขปัญหาภัยแล้งควบคู่ไปด้วย

สำหรับหลักการ 2 พี 2 อาร์ แตกต่างจากที่เคยทำไปแล้วอย่างไรบ้างนั้น แบบบางระกำโมเดล คือ ต้นแบบ เพื่อให้รวมศูนย์ตัดสินใจ เชื่อมโยงจากพื้นที่บางระกำ ไปส่วนกลางในการแก้ปัญหาน้ำท่วม คาดหวังว่าจะแก้ปัญหารวดเร็วขึ้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้กล่าวกับผู้สื่อข่าว ว่า งานที่ต้องทำ คือ แก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างไรบ้าง ซึ่งกรณีน้ำท่วมบางกระกำ ได้จัดตั้งศูนย์คอลเซ็นเตอร์เชื่อมต่อ รับเรื่องร้องเรียนจากพื้นที่ไปยังส่วนกลาง โดยจะมีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาทันท่วงที เป็นการสร้างกระบวนการที่รวดเร็วขึ้น ทั้งเรื่องเกษตรกรรมและพืชไร่

ส่วนการป้องกันระยะยาว ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นำเสนอการแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างถาวร ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องนำไปบูรณาการในภาพรวม เพื่อวางแผนจัดทำต่อไป

นายกรัฐมนตรี ระบุอีกว่า การประชุมวันนี้ได้เนื้อหามากขึ้น เพราะรัฐมนตรี หลายคนเข้ารวมครั้งนี้ และนับจากการประชุม “บางระกำโมเดล”วันนี้ จะต้องจัดทำระบบรายงานที่ชัดเจน รายงานตรงเข้าสู่ส่วนกลาง เพื่อทราบสถานะในพื้นที่ทำขั้นตอนไหน เพื่อที่นำระบบไปขยายผลต่อ

ทั้งนี้ ปัญหาและอุปสรรคน้ำท่วมบางระกำ จะต้องมีการแก้ไขและต้องมองถึงภาพรวม เพราะมีบ้านเรือนนับหมื่นหลังถูกน้ำท่วม เบื้องต้น ผู้ว่าฯพิษณุโลก ขอวงเงินเพิ่มเติมอีก 5 อำเภอ แต่ส่วนกลางจะต้องเห็นภาพรวม จะต้องรับทราบด้วย ลักษณะกำกับลงไปอีกครั้ง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ย้ำว่า บางระกำโมเดลจะต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ เป้าหมายหลักคือ แก้ไขปัญหาวิธีการทำงาน รวมศูนย์เพื่อทำงานรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม “บางระกำระโมเดล” ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว รวมศูนย์เพื่อแก้ไขทันท่วงที สุดท้ายแล้ว เมื่อมีเหตุน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ จะนำไปใช้ได้ พร้อมกับประยุคปัญหาภัยแล้งอีกด้วย

สำหรับหลักการเยี่ยวยาและฟื้นฟู แม้ว่า จะต้องรอเหตุการณ์น้ำลดก่อน ประเมินก่อนอนุมัติค่าใช้จ่ายได้นั้น ถือว่าช้าไป เพราะประชาชนได้รับผลกระทบ เมื่อมี “บางระกำโมเดล” วันนี้ จะต้องดำเนินการรวดเร็ว เพราะบางพื้นที่ทราบความเสียหายแล้ว ควรแก้ไขและดำเนินการได้เลย

ส่วนการทำแม่น้ำเทียม ซึ่งคนในพื้นที่แนะนำไว้ จะต้องประเมินกับภาพรวม พิษณุโลกอาจแก้ปัญหาถูกต้องถูกจุด แต่จะไปสร้างปัญหาในจังหวัดอื่น ดังนั้นจะต้องนำ “บางระกำโมเดล”ที่คนพิษณุโลก มองเห็น ส่งต่อให้กรมชลประทานวางแผนจัดการน้ำทั้งระบบ

ถามว่า แก่งเสือเต้น อยู่ในแผน “บางระกำโมเดล” หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า ไม่อยู่ในแผน บางระกำโมเดล ดูวิธีการเชื่อมแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านว่า ไหลรวมไปที่ใด ระหว่างทางมีผลกระทบบริเวณใดบ้าง ส่วนการทำแก้มลิงหรือไม่นั้น จะต้องให้กรมชลประทานเป็นคนตัดสินใจ

ต่อข้อถามว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วม จะใช้เวลาเท่าใดนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า จะทำให้เร็วที่สุด นับจากนี้ต่อไปจะเร่งทำเวิร์ชอปในเดือนหน้า แบ่งเป็นการทำงานระยะสั้น ระยะกลาง ส่วนแก้ปัญหายาวจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญทำเรื่องน้ำทั้งระบบทั่วประเทศ จะเอาปัญหาน้ำท่วมปลายทางเป็นตัวตั้ง โดยให้อธิบดีกรมชลประทาน เป็นคนรวบรวมสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมต่อไป

หลังจากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปกราบนมัสการพระครูมงคลสุธี หรือ หลวงปู่แขก ที่วัดสุนทรประดิษฐ์ เกจิอาจารย์แห่งเมืองสองแคว เพื่อขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องจากในช่วงเลือกตั้งนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ เคยไปกราบนมัสการครั้งหนึ่งแล้ว โดยในครั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้นำพวงมาลัยถวายหลวงปู่แขก จากนั้นหลวงปู่แขก ก็มอบพวงมาลัยให้ด้วยการโยนเข้าศีรษะนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า ไม่ตรง ทำให้นายกรัฐมนตรี ต้องหยิบมาคล้องคอแทน

จากนั้น หลวงปู่แขกได้มอบรูปปั้นนกยุงรำแพน ที่ผ่านการปลุกเสกให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีด้วย พร้อมกับแนะนำการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ อ.บางระกำ ด้วยการสร้างแม่น้ำเทียม คือการขุดคลองให้ลึก 6 เมตร เพื่อเป็นสถานที่กักเก็บน้ำได้ ป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเป็นผู้รับเรื่อง








กำลังโหลดความคิดเห็น