xs
xsm
sm
md
lg

เจาะ “บางระกำโมเดล” พบเน้นรายงานตรงนายกฯ-ของบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - เจาะ “บางระกำโมเดล” มีอะไรในกอไผ่ นายอำเภอเร่งตั้งคณะทำงานเตรียมระบบ ICT เน้นประสานงานตรงถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อของบ เล็งทำแก้มลิงเพิ่มเสริมแผนกรมชลประทาน

หลังเกิดภาวะน้ำท่วมในภาคเหนือตอนล่างหลายจังหวัด ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงกับเอ่ยปากสั่งการใช้ “บางระกำโมเดล” เป็นพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบนั้น

นายธงชัย ทุ่งโพธิแดง นายอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า “บางระกำโมเดล” ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายสั่งการให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้มาประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ที่ว่าการอำเภอบางระกำ เพื่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ระดับอำเภอและระดับจังหวัด ลักษณะ “วอร์รูม”

ล่าสุดตนจึงได้เร่งตั้งคณะทำงานระดับอำเภอ โดยมีนายอำเภอบางระกำเป็นประธาน มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. และนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเป็นคณะทำงาน เน้นพื้นที่เป้าหมายที่มักเจอน้ำท่วมประจำ ใน 5 ตำบลคือ ต.ชุมแสงสงคราม, ต.ท่านางงาม, ต.บางระกำ, ต.คุยม่วง และ ต.วังอิทก อ.บางระกำ เมื่อตั้งคณะทำงานแล้วก็รอให้ทางรัฐบาลจัดส่งเครื่องมือสื่อสาร ระบบ ICT มาให้ใช้ที่ศูนย์ป้องกันและช่วยเหลือน้ำท่วม เป้าหมายก็เพื่ออำนวยความสะดวก ประสานงานกับจังหวัด กระทรวงและนายกรัฐมนตรี เน้นให้การช่วยเหลือประชาชนเร่งด่วน

ทั้งนี้ หากติดตั้งระบบ ICT แล้วเสร็จ คณะทำงานก็เริ่มจัดทำข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่กำหนดให้อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่ต้นแบบของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หรือ “บางระกำโมเดล” เพื่อช่วยเหลือเยียวยาราษฎรผู้ประสบภัย การฟื้นฟูหลังน้ำลด และการป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบในระยะยาวทันที

เมื่อถามว่าบางระกำโมเดลมีอะไรแปลกใหม่ นายธงชัยยอมรับว่า การทำงานไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่ภาครัฐทำอยู่ สิ่งที่เพิ่มเติมคือ การตั้งคณะทำงาน มีเครื่องมือสื่อสาร ระบบ ICT และงบประมาณเตรียมดำเนินการแก้ไขปัญหา และได้รับการเหลียวแลจากระดับจังหวัด กระทรวงรัฐบาลมากขึ้นเท่านั้น

เป็นต้นว่า เมื่อน้ำท่วมขัง ทางตำบลและอำเภอ คณะทำงานจะต้องเร่งสำรวจให้แน่ชัดว่ามีผู้ประสบภัยเท่าใด มีพื้นที่เกษตรเท่าใด เพื่อทำการช่วยเหลือเกี่ยวกับถุงยังชีพ ถนน สะพาน เรือ สังกะสี ไม้หนุนพื้นบ้าน หากพื้นที่ประสบภัยกว้าง ผู้เดือดร้อนมากก็ใช้ระบบ ICT สื่อสารส่งเรื่องเพื่อขอความช่วยเหลือในระดับที่สูงขึ้น

นอภ.บางระกำบอกว่า บางระกำโมเดลมีเซ็นเตอร์สั่งการ แบ่งงาน เตรียมพร้อม ด้านข้อมูลรวมถึงการกระจายความช่วยเหลือถึงมือประชาชนทันที และหลังน้ำลด ก็ต้องส่งทีมงานเข้าไปฟื้นฟูบรรเทา

ต่อข้อถามที่ว่า “บางระกำโมเดล” จะมีแผนในการแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างไรบ้าง นายธงชัยย้ำว่า พื้นที่บางระกำก็ทราบดีว่าลุ่มน้ำยมไม่มีเขื่อน ฉะนั้นต้องมองไปที่การเป็นพื้นที่รับน้ำจาก จ.แพร่ จ.สุโขทัย เมื่อขุดลอกแม่น้ำยมสายเก่า ทำให้น้ำมาถึง อ.บางระกำ ภายในเวลา 2-3 วัน ต้องผันน้ำจากแม่น้ำยม ลงสู่แม่น้ำน่าน ตั้งแต่ที่ หาดสะพานจันทร์ จ.สุโขทัย สู่คลองเมม อ.พรหมพิราม คลองบางแก้ว อ.บางระกำ ก่อนไหลสู่แม่น้ำน่าน ที่ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก เพื่อระบายน้ำให้เร็วขึ้น

สำหรับ กรมชลประทานตั้งงบ “ปรับปรุงระบบผันน้ำยม-น่าน” ปี 2555 จำนวน 530 ล้านบาท ใน 4 โครงการ 1) ประตูคลองผันน้ำสวรรคโลก-พิชัย พร้อมอาคารงบประมาณ 150 ล้านบาท 2) ขุดลอกคลองระบายน้ำ DR 2.8 และ DR 15.8 พร้อมปรับปรุงอาคารงบประมาณ 30 ล้านบาท 3) ปรับปรุงประตูบางแก้ว 150 ล้านบาท 4) ทำแก้มลิงบึงตะเครง 200 ล้านบาท

นายอำเภอบางระกำกล่าวทิ้งท้ายถึงงบกรมชลประทานว่า ผู้ว่าฯ เสนอเพิ่มไปอีก คือ สร้างพื้นที่รับน้ำ หรือ แก้มลิง 3-4 โครงการที่อำเภอบางระกำ คือ การขุดบึงตะเครง เนื้อที่ 2,000 ไร่ บึงอีแร้ง เนื้อที่ 300 ไร่ บึงระมาน เนื้อที่ 4,000 ไร่ ส่วนงบปี 2555 ผู้ว่าฯ อนุมัติงบประมาณของผู้ว่าฯ ทำแก้มลิงที่บ้านกรุงกรัก ใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท ส่วนงบขุดลอกคลองคด ระยะทาง 17 กิโลเมตร ยังไม่ทราบว่าจะได้งบประมาณดำเนินการเท่าใด


กำลังโหลดความคิดเห็น