ศูนย์ข่าวเชียงใหม่
หลังชนะเลือกตั้ง รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บินขึ้นเหนือ-อีสาน ตรวจน้ำท่วมทันที ก่อนที่จะประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั่วประเทศ นำมาซึ่ง “บางระกำโมเดล” เพื่อพิจารณาใช้เป็นต้นแบบแก้น้ำท่วมทั่วประเทศ
หลังแถลงนโยบายเสร็จสิ้น (23-24-25 ส.ค.54) ปู-ยิ่งลักษณ์ ขึ้นเหนืออีกรอบ ลงพื้นที่ “บางระกำ จ.พิษณุโลก” ติดตามความคืบหน้า “บางระกำโมเดล” ในวันที่ 28 ส.ค.54 รุ่งขึ้น (29 ส.ค.) นายกรัฐมนตรี คนที่ 28 มุ่งหน้าเข้าอุดรธานี ถิ่นเสื้อแดง ก่อนเยี่ยมชมสถานีสูบน้ำท้ายห้วยหมากแข้ง โครงการป้องกันน้ำท่วมอุดรฯ สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี อนุมัติงบ 673,409,872 บาท จัดสรรให้ 16 หน่วยงานดำเนินการ
หลังจากตรวจเยี่ยมจ.อุดรธานี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จะนำ “อุดรฯโมเดล” ไปให้ชลประทาน - หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ศึกษาปรับใช้กับแต่ละพื้นที่ต่อไป
จุดประกายความหวังให้กับเหยื่อน้ำท่วมซ้ำซากทั่วประเทศ เมื่อผู้นำประเทศ ที่ใช้เวลาหาเสียงเลือกตั้งเพียง 49 วัน ก็สามารถก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี ได้ใช้เวลาหลังได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เพียง 2 สัปดาห์เศษ ๆ ผุด “2 โมเดล” แก้น้ำท่วมให้ฮือฮากันทั้งประเทศ
เรียกได้ว่า ผุดโมเดลแก้ปัญหากันได้รายวัน รายสัปดาห์กันที
อย่างไรก็ตาม เนื้อในของ “โมเดลแก้น้ำท่วม” รัฐบาลนายกฯ แม่ปู ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปตามพื้นที่ ที่ “แม่ปู” ย่างกรายไปตรวจสถานการณ์
“บางระกำโมเดล” นายกฯแม่ปู ตอบข้อซักถามที่ว่า มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการหรือไม่ ว่า กรณีน้ำท่วมบางกระกำ ได้จัดตั้งศูนย์คอลเซ็นเตอร์เชื่อมต่อ รับเรื่องร้องเรียนจากพื้นที่ไปยังส่วนกลาง โดยจะมีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาทันท่วงที เป็นการสร้างกระบวนการที่รวดเร็วขึ้น ทั้งเรื่องเกษตรกรรมและพืชไร่
ส่วนการป้องกันระยะยาว ผู้ว่าฯพิษณุโลก นำเสนอการแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างถาวร ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องนำไปบูรณาการในภาพรวม เพื่อวางแผนจัดทำต่อไป
“แบบบางระกำโมเดล คือ ต้นแบบ เพื่อให้รวมศูนย์ตัดสินใจ เชื่อมโยงจากพื้นที่บางระกำ ไปส่วนกลางในการแก้ปัญหาน้ำท่วม คาดหวังว่าจะแก้ปัญหารวดเร็วขึ้น”
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ย้ำว่า บางระกำโมเดลจะต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ เป้าหมายหลักคือ แก้ไขปัญหาวิธีการทำงาน รวมศูนย์เพื่อทำงานรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม “บางระกำโมเดล” ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว รวมศูนย์เพื่อแก้ไขทันท่วงที สุดท้ายแล้ว เมื่อมีเหตุน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ จะนำไปใช้ได้ พร้อมกับประยุคปัญหาภัยแล้งอีกด้วย
ถามว่า แก่งเสือเต้น อยู่ในแผน “บางระกำโมเดล”หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า ไม่อยู่ในแผน บางระกำโมเดล ดูวิธีการเชื่อมแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านว่า ไหลรวมไปที่ใด ระหว่างทางมีผลกระทบบริเวณใดบ้าง ส่วนการทำแก้มลิงหรือไม่นั้น จะต้องให้กรมชลประทานเป็นคนตัดสินใจ
ด้านนายธงชัย ทุ่งโพธิแดง นอภ.บางระกำ จ.พิษณุโลก บอกว่า บางระกำโมเดล การทำงานไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่ภาครัฐทำอยู่ สิ่งที่เพิ่มเติมคือ การตั้งคณะทำงาน มีเคลื่อนมือสื่อสาร - งบประมาณเตรียมแก้ไขปัญหา และได้รับการเหลียวแลจากระดับจังหวัด กระทรวงและรัฐบาลมากขึ้นเท่านั้น
เป็นต้นว่า เมื่อน้ำท่วมขัง ทางตำบลและอำเภอ คณะทำงานจะต้องเร่งสำรวจให้แน่ชัดว่ามีผู้ประสบภัยเท่าใด มีพื้นที่เกษตรเท่าใด เพื่อทำการช่วยเหลือเกี่ยวกับถุงยังชีพ ถนน สะพาน เรือ สังกะสี ไม้หนุนพื้นบ้าน หากพื้นที่ประสบภัยกว้าง ผู้เดือดร้อนมาก ก็ใช้ระบบ ICT สื่อสารส่งเรื่องเพื่อขอความช่วยเหลือในระดับที่สูงขึ้น
“บางระกำโมเดล”มีเซ็นเตอร์สั่งการ แบ่งงาน เตรียมพร้อม ด้านข้อมูลรวมถึงการกระจายความช่วยเหลือถึงมือประชาชนทันที และเพิ่มงาน หลังน้ำลด ก็ต้องส่งทีมงานเข้าไปฟื้นฟูบรรเทา
ส่วน “บางระกำโมเดล” จะมีแผนในการแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างไรบ้าง นายธงชัย ย้ำว่า พื้นที่บางระกำก็ทราบดีว่า ลุ่มน้ำยม ไม่มีเขื่อน ฉะนั้นต้องมองไปที่พื้นที่รับน้ำจาก จ.แพร่ จ.สุโขทัย เมื่อขุดลอกแม่น้ำยมสายเก่า ทำให้น้ำมาถึงบางระกำภายใน 2-3 วัน
ดังนั้นต้องผันน้ำจากแม่น้ำยม ลงสู่แม่น้ำน่าน ตั้งแต่ที่ หาดสะพานจันทร์ จ.สุโขทัย สู่คลองเมม อ.พรหมพิราม คลองบางแก้ว อ.บางระกำ ก่อนไหลสู่แม่น้ำน่าน ที่ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก เพื่อระบายน้ำให้เร็วขึ้น
กรมชลประทาน ตั้งงบ “ปรับปรุงระบบผันน้ำยม-น่าน”ปี 2555 คือ จำนวน 530 ล้านบาท ใน 4 โครงการ 1) ประตูคลองผันน้ำสวรรคโลก-พิชัย พร้อมอาคารงบประมาณ 150 ล้านบาท 2) ขุดลอกคลองระบายน้ำ DR 2.8 และ DR 15.8 พร้อมปรับปรุงอาคารงบประมาณ 30 ล้านบาท 3) ปรับปรุงประตูบางแก้ว 150 ล้านบาท 4) ทำแก้มลิงบึงตะเครง 200 ล้านบาท
นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าฯพิษณุโลก ได้เสนอเพิ่มไปอีก คือ สร้างพื้นที่รับน้ำ หรือ แก้มลิง 3-4 โครงการที่อำเภอบางระกำ คือ การขุดบึงตะเครง เนื้อที่ 2,000 ไร่ บึงอีแร้ง เนื้อที่ 300 ไร่ บึงระมาน เนื้อที่ 4,000 ไร่ ส่วนงบปี 2555 ผู้ว่าฯ อนุมัติงบประมาณของผู้ว่าฯ ทำแก้มลิงที่บ้านกรุงกรัก ใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท ส่วนงบขุดลอกคลองคด ระยะทาง 17 กิโลเมตร ยังไม่ทราบว่าจะได้งบประมาณดำเนินการเท่าใด
แต่เบื้องแรกนี้ “บางระกำโมเดล” มีเพียง “คอลเซ็นเตอร์” ก่อน ส่วนโครงการต่อเนื่องอื่น ๆ ยังต้องรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษารายละเอียดก่อน
ขณะที่ “อุดรฯโมเดล” ที่นายกฯแม่ปู ได้ฟังบรรยายสรุปจากนายหาญชัย ฑีฆธนานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นอดีตนายกเทศมนตรีฯ และเป็นผู้ดำเนินการ ว่า สำหรับสถานีสูบ/ดันน้ำห้วยหมากแข้ง ติดตั้งหัวสูบ/ดันน้ำ จำนวน 6 หัว แต่มีงบประมาณติดตั้งหัวสูบ/ดันน้ำเพียง 3 หัว ส่วนที่เหลือกำลังจัดหางบประมาณดำเนินการ มีกำลังสูบ/ดันน้ำออกจากตัวเมืองและเขตเทศบาลนครอุดรธานี ได้ หัวละ 2 ลบ.ม./วินาที รวม 6 ลบ.ม./วินาที
จนเป็นที่มาของแนวคิด นายกฯแม่ปู ว่า จะนำไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับใช้ต่อไป ส่วนหัวสูบ/ดันน้ำ ที่ยังขาดอีก 3 หัว จะไปดูว่า มีงบประมาณส่วนไหนจัดสรรให้ได้ ก็จะพยายามจัดสรรให้เสร็จสมบูรณ์
ไม่แน่...สำหรับจังหวัดอื่น ๆ ที่ถูกน้ำท่วม อาจมีโมเดล ที่ 3-4-5 ... จากนายกฯแม่ปู ขึ้นมาอีกได้เช่นกัน