น่าน - “ยิ่งลักษณ์” ย้ำระหว่างเดินทางกรวดน้ำท่วมเหนือ เหยื่อน้ำท่วมซ้ำซากต้องเยียวยาเพิ่ม หลังฟังบรรยายสรุปเสร็จ บอกกรมชลฯ-ก.เกษตรฯ ศึกษาการเชื่อมโยงลุ่มน้ำจากน่าน-แพร่-สุโขทัย หวังแก้ปัญหาระยะยาว ควบคู่กับการฟื้นฟูป่าลดแรงน้ำ
รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางขึ้นเหนือตรวจสถานการณ์น้ำท่วมไล่ตั้งแต่สุโขทัย แพร่ น่าน ก่อนขึ้นเชียงใหม่ช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ 13-14 ส.ค.54 นั้น ในการเดินทางเข้าจังหวัดน่าน นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวจากจังหวัดแพร่ โดยผ่านจุดสำรวจภูมิประเทศบริเวณเทือกเขา อ.สันติสุข-ลำน้ำยาว, อ.ปัว-ลำน้ำยอด, อ.สองแคว-จุดวัดน้ำ N64 บ้านผาขวาง อ.เมืองน่าน เส้นทางตามลำน้ำน่านผ่านไปยังจุดวัดน้ำ n1 เข้าพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อ.เวียงสา จุดวัดน้ำ N23 และเฮลิคอปเตอร์ ลงจอดที่ลานสนามกีฬา ร.ร.ศรีเวียงสา อ.เวียงสา ซึ่งมีนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้วาราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วยนายโสภณ ศรีมาเหล็ก สว.น่าน, นายชลน่าน ศรีแก้ว, นางสิรินทร รามสูต, นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ ส.ส.พรรคเพื่อไทยทั้ง 3 เขต รวมถึงนายนรินทร์ เหล่าอารยะ นายก อบจ.น่าน, นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน, พล.ต.ชีวัน โหละบุตร ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกน่าน, พล.ต.ต.ฉลองชัย บุรีรัตน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดน่าน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการทุกภาคส่วน และองค์กรปกครองส่วนท้อง รวมทั้งพี่น้องประชาชนและมวลชลคนเสื้อแดง ให้การต้อนรับ ก่อนจะมอบเงินช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 1,050 ราย จากพื้นที่ 10 อำเภอ เงินช่วยเหลือจำนวน 1,050,000 บาท
จากนั้นเดินทางด้วยรถยนต์ต่อไปยัง บ.ดอนไชย ม.13 ต.กลางเวียง ,บ้านน้ำปั้ว ต.น้ำปั้ว อ.เวียงสา ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ซึ่งนายนราธิป พรหมพฤกษ์ นายอำเภอเวียงสา กล่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมและตลิ่งทรุดพัง โดยนายยงยุทธ กติยศ ผญบ.ม.13 ได้ยื่นหนังสือขอโครงการสร้างตลิ่งคอนกรีตแบบมาตรฐานและถาวร ระยะ 1,500 เมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมหมู่บ้านด้วย
ขณะที่ นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน และนายสรศักดิ์ คำวัง ตัวแทนชาวบ้านเขตเทศบาลเมืองน่าน ก็ได้ยื่นหนังสือขอโครงการปรับปรุงทางระบายน้ำเขตเทศบาลเมืองน่าน เพื่อผันน้ำออกจากตัวเมือง และการแก้ไขเขื่อนธงน้อย บ้านคอวัง ต.ดู่ใต้ อ.เมือง จ.น่าน ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามีส่วนทำให้น้ำลดลงช้าและท่วมขังนานกว่าปกติ
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วม ต้องแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของแต่ละพื้นที่ และช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูพื้นที่และผู้ประสบภัยให้เพียงพอ หากได้รับความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมซ้ำซาก ก็ต้องช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเข้าไปอีก ต้องเร่งสำรวจความเสียหาย
ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวต้องศึกษาการเชื่อมโยงลุ่มน้ำต่างๆ ทั้งพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ไปถึงพื้นที่จังหวัดแพร่ สุโขทัย ต้องมีการบริหารจัดการให้มีการไหลโฟล์ของน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องให้ทางกรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ เข้ามาศึกษาดูแลในเรื่องการเชื่อมโยงแต่ละลุ่มน้ำ การแก้ไขปัญหาต้องทำควบคู่กับเชิงการป้องกัน เรื่องการบุกรุกทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติ การเชื่อมลุ่มน้ำต่างๆ ต้องดูเรื่องปริมาณน้ำ การจัดการเรื่องแก่งเสือต้น ระบบเขื่อน ต้องหารือร่วมกับภาคประชาชน และการณรงค์เรื่องการปลูกป่าเพื่อลดแรงน้ำ ส่วนที่กั้นในเส้นทางน้ำ ก็ต้องมีการขยายทางน้ำ
“การเยียวยาพื้นฟูผู้ประสบภัย ต้องทำงานร่วมกับทุกหน่วย ทุกภาคส่วน กฎ กติกา กระบวนการเยียวยาปัญหาเรื่องน้ำท่วม รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาระยะยาว”