xs
xsm
sm
md
lg

ชป.สรุปเหนือล่างจมน้ำแล้วกว่า 3 แสนไร่-รมว.เกษตรฯ ชี้ อนาคต “แก่งเสือเต้น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - ชลประทานฯสรุปยอดน้ำท่วม 4 จังหวัดแถบภาคเหนือตอนล่าง ทั้งอุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ จมบาดาลแล้ว กว่า 3 แสนไร่ ขณะที่ รมว.เกษตรฯ บอกคนลุ่มน้ำยมทุกข์แสนสาหัส 20 ปี ชี้ “แก่งเสือเต้น” มี 2 ทางเลือก ทำเขื่อนใหญ่ 1.2 หมื่นล้าน หรือ 2 เขื่อนเล็ก

วันนี้ (18 ส.ค.) ที่สำนักชลประทานที่ 3 อ.เมือง จ.พิษณุโลก นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมามาตรวจสถานการณ์อุทกภัยด้านการเกษตร พร้อม นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน และนายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เจ้าหน้าที่สำนักชลประทานที่ 3 รายงานว่า พื้นที่น้ำท่วม ในเขต สชป.3 จนถึง 15 ส.ค.54 รวมพื้นที่ 310,536 ไร่ คือ จ.อุตรดิตถ์ พื้นที่น้ำท่วม คือ ต.นาอิน ต.คอรุม ต.ท่ามะเฟือง ต.พญาแมน จำนวน 18,000 ไร่ จ.พิษณุโลก พื้นที่น้ำท่วม คือ อ.พรหมพิราม จำนวน 79,360 ไร่, อ.บางระกำ จำนวน 79,349 ไร่ อ.เมือง จำนวน 20,000 ไร่ รวมทั้ง 3 อำเภอ (21 ตำบล 117 หมู่บ้าน) จำนวน 178,709 ไร่ (หรือจำนวน 7,107 ครัวเรือน)

จ.พิจิตร พื้นที่น้ำท่วม คือ อ.สามง่าม 40,000 ไร่ อ.โพธิ์ประทับช้างจำนวน 16,000 ไร่, อ.บึงนาราง อ.โพทะเล 13,422 ไร่ อ.อำเภอ อ.ตะพานหิน อ.บางมูลนาก 33,300 ไร่ รวมทั้งสิ้น 102,722 ไร่

จ.นครสวรรค์ พื้นที่น้ำท่วม คือ อ.เมือง 10,511 ไร่ อ.ชุมแสง จำนวน 14,159 ไร่, อ.เก้าเลี้ยว จำนวน 500 ไร่ อ.โกรกพระ 2,135 ไร่ รวมทั้ง 4 อำเภอ จำนวน 27,305 ไร่

ขณะที่ นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลห่วงประชาชน จำเป็นติดตามปัญหาอุทกภัย เร่งบูรณาการแก้ไขพร้อมตรวจสอบความเสียหายเร่งด่วน ณ วันนี้ยังให้การช่วยเหลือ 606 บาทต่อไร่ตามระเบียบไปก่อน ส่วนรัฐบาลจะเพิ่มเท่าไหร่ก็ว่ากันภายหลัง

“ความผิดพลาดในปีนี้ คือ ทางกระทรวงเกษตรฯได้ขอให้เกษตรกรเลื่อนการทำนาออกไป 1 เดือน พอใกล้ฤดูการเก็บเกี่ยว ปรากฏว่า น้ำมาพอดีทำให้ผลผลิตเสียหายจำนวนมาก พื้นที่ประสบอุทกภัยคงเป็นพื้นที่เดิม และเร็วๆ นี้ จะมีร่องความกดอากาศพาดผ่านภาคเหนือ ฝนยังคงแพร่กระจายพื้นที่เดิม ผลกระทบจึงอาจเกิดซ้ำอีก”

นายธีระ บอกอีกว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว ลุ่มน้ำยมได้พูดมานาน แต่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาทั้งระบบได้ กรมชลประทาน มองแนวแก้ไขไว้คือ แบ่งเป็นลุ่มน้ำยมตอนบน ลุ่มน้ำยมตอนล่าง เนื่องจากเป็นพื้นที่แตกต่างกัน ปัจจุบันรัฐบาลว่าจ้างมหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เพื่อแก้ปัญหาลุ่มน้ำยม เพราะประชาชนในลุ่มน้ำยมทุกข์สาหัสกับน้ำท่วมมานานกว่า 20 ปี

ถ้าแก้ปัญหาลุ่มน้ำยม โดยสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ เขื่อนแก่งเสือเต้น 1 แห่ง เป็นเขื่อนขนาดใหญ่กักเก็บกักน้ำได้ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจำนวน 900 ครัวเรือน มูลค่าการก่อสร้างเขื่อนอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท

กรณีที่ 2 สร้างเขื่อนขนาดเล็กหรืออ่างเก็บน้ำ ลุ่มน้ำยมตอนบนกับลุ่มน้ำยมตอนล่าง เก็บน้ำได้ 670 ล้านลูกบาศก์เมตร (ครึ่งหนึ่งของเขื่อนแก่งเสือเต้น) แต่ค่าก่อสร้างแพงกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นมาก แต่ผลกระทบด้านมวลชนน้อยกว่ามาก

ทั้งนี้ รัฐบาลคงต้องชั่งน้ำหนักดูว่าจะทำอย่างไร แนวทางที่ 2 ก็ความเป็นไปได้สูง แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่ม หากทำ ก็ต้องขอเวลาศึกษา 2 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังคณะของ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมารับฟังปัญหาอุทกภัยได้เดินทางต่อไปยังบ้านวังขี้เหล็ก ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม เพื่อมอบถุงยังชีพจำนวน 500 ถุง จากนั้นเดินทางไปมอบถุงยังชีพ ณ ศาลาบางลายเหนือ อ.บึงนาราง จ.พิจิตร จำนวน 300 ชุด และกลับขึ้นเครื่องบินที่พิษณุโลกเข้ากรุงเทพฯในช่วงเย็นของวันเดียวกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น