xs
xsm
sm
md
lg

จนท.UNHCR ชี้แผนปิดศูนย์อพยพฯตาก-สนองคำขอพม่าไม่ง่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก - UN สวนผู้ว่าฯตาก ปิดศูนย์อพยพชาวกะเหรี่ยงไม่ง่าย แต่ยอมรับอยู่นานเกินไป แถมจำนวนไม่เคยลด แม้ส่งไป ปท.ที่ 3 มากกว่า 5 หมื่นคนแล้วก็ตาม

หลัง นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้เปิดประเด็นถึงผลการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับพม่าเรื่องเปิดด่านแม่สอด-เมียวดี ที่ทางการพม่าปิดมากว่า 1 ปี ซึ่งทางการพม่ายื่น 3 เงื่อนไขให้ไทยแก้ไขแลกเปิดด่าน คือ 1.เรื่องของศูนย์อพยพ 3 แห่ง ในชายแดนตากที่ทางการพม่า มองว่า เป็นที่พักพิงของชนกลุ่มน้อยต่อต้านรัฐบาลพม่า 2.ให้ไทยจับกุมตัวกลุ่มผู้ก่อวินาศกรรมหลายครั้งในเมืองหลวงของพม่าและหลบเข้ามาอยู่ในแม่สอด และ 3.ให้ไทยดำเนินการกับแกนนำกะเหรี่ยงเคเอ็นยู นับสิบคนที่มาพักอาศัยในจังหวัดตาก โดยพม่ามีพิกัดที่อยู่รายชื่อส่งมาให้ทั้งหมด

ล่าสุด เจ้าหน้าที่ภาคสนามของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ (UNHCR) ด้านชายแดนไทย-พม่า จังหวัดตาก กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการประสานจากไทยในกรณีที่หน่วยงานของรัฐบาลไทยมีแผนที่จะปิดพื้นที่พักพิงผู้ลี้ภัยจากการสู้รบชาวกะเหรี่ยง สัญชาติพม่า ที่อาศัยกว่า 70,000 คน ในพื้นที่พักพิงบ้านแม่หละ ตำบลแม่หละ อ.ท่าสองยาง, บ้านอุ้มเปี้ยม ตำบลคีรีราษฎร์ อ.พบพระ และบ้านนุโพ ตำบลแม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก

เขาเชื่อว่า การปิดพื้นที่พักพิงมันไม่ง่าย ต้องใช้ระยะเวลา 2-3 ปีและยังเป็นคำถามอยู่ว่าจะผลักดันกลับไปได้เลยทั้งหมดหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า ผู้หนีภัยจากการสู้รบมาอาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงในพื้นที่จังหวัดตากนั้น ได้อาศัยอยู่มานานถึง 27 ปี มันเป็นเวลานานเกินไปแล้ว และจำนวนประชากรในพื้นที่พังพิงก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่าง แม้ว่า จะมีการส่งไปประเทศที่ 3 อย่างต่อเนื่องไปกว่า 5 หมื่นคนแล้วก็ตาม ดังนั้นการแก้ปัญหาด้วยการส่งไปประเทศที่ 3 จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด

ส่วนการปิดหรือไม่ปิดศูนย์ผู้ลี้ภัยนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของยูเอ็นเอชซีอาร์ เพราะเราเป็นเพียงผู้ดูแลผู้อพยพเท่านั้น ดังนั้นหากจะปิดศูนย์อพยพ ทั้งสองประเทศ คือ พม่าและไทยจะต้องทำ บันทึกความเข้าใจแล้วจึงจะดำเนินการได้ และเมื่อถึงตอนนั้นทางยูเอ็นเอชซีอาร์ ก็มีหน้าที่เข้าไปดูเรื่องการส่งกลับมาตุภูมิว่ามีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ กลับไปแล้วสามารถประกอบอาชีพอยู่ได้อย่างไม่ขาดแคลน ซึ่งถึงจุดนั้น ก็จะหมดหน้าที่ของ UNHCR

กำลังโหลดความคิดเห็น