xs
xsm
sm
md
lg

กู้ได้เล้วเรือน้ำตาลล่มจมร่วม 2 อาทิตย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระนครอยุธยา - เรือบรรทุกน้ำตาลที่จมอยู่ใต้แม่น้ำเจ้าพระยาในพระนครศรีอยุธยาถูกกู้ขึ้นฝั่งได้แล้ว หลังชนตอม่อจมมาตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.

วันนี้ (12 มิ.ย.) นายสาธิต วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการกู้เรือน้ำตาลล่ม โดยมีนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและบรรยายชี้แจง

โดยช่วงเช้าเวลา 07.30 น.เจ้าหน้าที่ทีมกู้เรือได้นำเรือกรมเจ้าท่าพร้อมเครนขนาดใหญ่ออกจากจุดเกิดเหตุ เรือลาดตระเวนกรมเจ้าท่า 6 ลำคอยสกัดไม่ให้เรือทุกชนิดวิ่งผ่านทั้งขาขึ้นและขาล่อง จากนั้นกรมเจ้าท่านำเรือบรรทุกเครื่องอัดลมขนาดใหญ่เข้าเทียบเรือบี เอ็ม 6 ที่ล่มอยู่ แล้วเจ้าหน้าที่ได้เตรียมติดตั้งอุปกรณ์สายอัดลมเข้าที่พอนทูนทั้ง 2 ลูกเพื่ออัดอากาศเข้าไปเพื่อไล่น้ำออกมา จากนั้นกรมเจ้าท่านำเรือลากขนาดใหญ่จำนวน 4 ลำผูกเชือกไว้ที่ท้ายเรือ (สภาพเรือที่ล่มท้ายเรือโด่งและขวางแม่น้ำ) จากนั้นเวลา 11.35 น.เจ้าหน้าที่กู้เรือเริ่มด้วยการอัดอากาศเข้าไปในพอนทูนทำให้เรือยกสูงขึ้นลอยตัวมาประมาณ 50 ซ.ม.เรือลากทั้ง 4 ลำจึงดึงท้ายเรือให้เรือตั้งขนานกับแม่น้ำสร้างความดีใจให้กับชาวบ้านและเจ้าหน้าต่างส่งเสียงและปรบมือเสียงดังทั้งสองฝั่งแม่น้ำและจอดนิ่งๆ

เวลาลุ้นระทึกการกู้เรือ 12.20 น.เจ้าหน้าที่อัดอากาศเข้าพอนทูนอีกครั้งด้านท้ายเรือเริ่มยกขึ้นเหนือน้ำประมาณ 4 เมตรด้านหัวเรือปริ่มๆน้ำเรือลากทั้ง 4 ลำเริ่มลากเรือบี เอ็ม 6 ทวนน้ำขึ้นไปออกจากจุดที่เกิดเหตุอย่างง่ายดายจุดหมายปลายทางไปจอดไว้ที่ท่าเทียบเรือของกรมเจ้าท่าตั้งอยู่ ซอย 13 ภูเขาทอง หมู่ 2 ต.ภูเขาทองห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 200 เมตร

นายสาธิต วงศ์หนองเตย กล่าวว่า การกู้เรือทางอธิบดีกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ กองทัพบก และผู้เชี่ยวชาญกู้เรือวันนี้เป็นไปตามแผนทุกประการจากการที่ล่าช้าหลายวันเกิดจากอุปสรรค์ทีมกู้เรือเคยทำการกู้แต่น้ำลึกแต่มาพบกระแสน้ำไหลเชี่ยวกรากและเรือมีขนาดที่ใหญ่จึงต้องวางแผนอย่างรอบคอบและประสบความสำเร็จ หลังจากนี้กรมเจ้าท่าจะได้ติดป้ายเตือนอันตรายทางน้ำและกรมทางหลวงให้ติดป้ายเตือนบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

นายสาธิ บอกต่อว่า สำหรับความเสียหายที่ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำสร้างความหายนะสูงมากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาได้ตายล้างเผาพันธุ์จึงต้องเร่งฟื้นฟูให้กรมประมงนำสัตว์น้ำจำนวน 50 ล้านตัวปล่อยลงแม่น้ำโดยจะปล่อยครั้งแรกวันที่ 16 มิ.ย.ที่อำเภอบางปะอินซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 10 กม.ทั้งนี้ไม่รวมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาที่จับมาไว้ที่ศูนย์วิจัยกรมประมง อ.บางไทร ทางด้านการชดเชยค่าเสียหายผ่านระเบียบการคลังแล้วเยียวยา 60% ให้ผู้เสียหายทั้ง 2 จังหวัดคือ อยุธยาและปทุมธานีคาดว่าสัปดาห์หน้าคงเสร็จงบประมาณ 3-4 ล้านบาท

นายสุวิทย์ คุณกิตติ กล่าวว่า การชดเชยจ่ายค่าเสียหายบ้านพังนี้ต้องให้เจ้าของเรือน้ำตาลเป็นคนชดใช้ให้ถ้าตกลงกันได้ก็จะได้รับเงินเร็วแต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องพิสูจน์กันทางหลักฐานเป็นขบวนการทางศาลก็จะล่าช้าออกไป ส่วนมลพิษทางน้ำตอนนี้ปกติ กรมควบคุมมลพิษได้วัดค่าน้ำตลอดเวลา

นายฮาโรล มาทอง อายุ 60 ปีเจ้าของบ้านเลขที่ 2/3 ที่กระแสน้ำได้กัดเซาะตลิ่งบ้านพังลงไปทั้งหลัง บอกว่า รู้สึกดีใจมากที่เห็นเรือออกไปจากหน้าบ้านเหมือนยกภูเขาออกจากอกตลอดเวลา 2 อาทิตย์ตนนอนไม่หลับ ทุกคนหมั่นสวดมนต์ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามทุกวัน ตนอยู่อาศัยที่นี่มา 20 กว่าปีคนโบราณอาศัยอยู่ริมน้ำตลิ่งก็พังลงไปบ้างเล็กน้อยไม่เหมือนสมัยนี้ มีเรือแล่นทั้งวันทั้งคืนทำให้ตลิ่งพังตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยาจึงขอฝากให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยหาทางป้องกันและทำเขื่อนให้ชาวบ้านได้อุ่นใจ

ต่อมาเวลา 17.20 น.หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่องสูบน้ำแบบหัวพญานาคสูบน้ำออกจากเรือใช้กระสอบทรายกั้นขอบเรือเพื่อป้องกันน้ำทะลักเข้าจนน้ำในตัวเรือหมด จึงทำให้ตัวเรือลอยขึ้นจนเห็นรอยแผลที่ชนกับตอม้อ จึงให้เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องเชื่อมบาดแผลบางส่วน จนกระทั้งเรือ สามารถลอยลำได้แล้วใช้เรือลากจูง 3 ลำปรับระดับการทรงตัวของเรือให้อยู่ในระดับที่พอดีทั้งหัวและท้ายก่อนเคลื่อนตัวลากไปจอดเพื่อรอซ่อมที่วัดบัวทอง จ.ปทุมธานี ซึ่งการลากเรือไปนั้นต้องใช้เครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก 5 ตัวคอยสูบน้ำประคองเรือ จากน้ำที่ยังไหลซึมเข้าเรือ ตามแผลที่ชนตลอดเวลา ชาวบ้านที่มาเฝ้าลุ้นจำนวนมากถึงกับโล่งใจเฮลั่นก่อนเดินทางแยกย้ายกันกลับบ้าน



กำลังโหลดความคิดเห็น