xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้องผิดเรือน้ำตาลล่ม "อยุธยา-ปทุม"ภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - วิบัติหนัก พิษ!เรือน้ำตาลล่ม ประกาศภัยพิบัติ 2 จังหวัด พระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานี แถมลุกลามไปสู่ 5 อำเภอใกล้เคียง ด้านกรมประมง เล็งฟ้องเอาผิดเรือน้ำตาลทรายล่ม แต่ไม่โยงผู้เกี่ยวข้อง ประเมินผู้เลี้ยงปลาในกระชังเสียหาย 6 ล้าน ขณะที่ครม.สั่งช่วย 60% ของความเสียหายจริง

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กล่าวถึงกรณีเกิดอุบัติเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพื้นที่หมู่ 2 ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ขณะนี้ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากอุบัติเหตุเรือล่ม ใน 2 จังหวัด 5 อำเภอ ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี โดย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากอุบัติเหตุเรือล่ม รวม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.บางปะอิน อ.พระนครศรีอยุธยา และอ.บางไทร ส่วน จ.ปทุมธานี ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากอุบัติเหตุเรือล่ม รวม 2 อำเภอ ดังนี้ อ.สามโคก และอ.เมืองปทุมธานี

นายวิบูลย์ กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขปัญหากระแสน้ำไหลเชี่ยวกัดเซาะตลิ่งพัง ได้เชื่อมโลหะท้องเรือบรรทุกที่มีรอยปริแตกจากการชนกระแทกตอม่อสะพานติดเป็นเนื้อเดียวกัน พร้อมสูบน้ำออกจากเรือและนำเรือยนต์ลากจูงเรือบรรทุกน้ำตาลที่จมน้ำ เพื่อให้กระแสน้ำไหลกลับเข้าสู่ร่องน้ำเดิม และลดความแรงของกระแสน้ำ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้พื้นที่ริมตลิ่งได้รับความเสียหายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกส่วนราชการได้ประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเป็นระบบแล้ว เพื่อเร่งแก้ปัญหาต่อไป

**กรมเจ้าท่าเร่งหาวิธีกู้เรือ

นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ทางกรมเจ้าท่าได้ปรับแผนกู้เรือน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ หลังจากแผนที่ 1 คือ ให้กรมชลประทานลดการจ่ายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากกระแสน้ำแรงมาก ทางกรมฯ จึงได้เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง และสรุปวิธีการกู้เรือใหม่ โดยใช้แผน 2 คือ จะใช้โป๊ะเทียบเรือ ซึ่งเป็นเหล็กกว้าง 5 เมตร ยาว 12 เมตร ลึก 1.5 เมตร ลักษณะคล้ายกล่องไม้ขีด นำมาอัดอากาศให้เหมือนเป็นบอลลูน ซึ่งจะใช้ทั้งหมด 6 ตัว ยกเรือให้ลอยขึ้นมา โดยด้านบนจะมีปั้นจั่นคอยประคองเรือด้วย ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมอุปกรณ์ โดยจะได้นำอุปกรณ์ไปกู้เรือภายในวันที่ 10 หรือ 11 มิถุนายนนี้ และคาดว่าจะกู้เสร็จภายในวันที่ 12 มิถุนายน

ทั้งนี้ จะไม่ให้กระทบชาวบ้านที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำแน่นอน ซึ่งเชื่อว่าแผนนี้จะสำเร็จ 90% อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ได้ขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ทำงานเปลี่ยนเวรกันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเร่งช่วยเหลือชาวบ้านให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวอีกว่า ความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งการกู้เรือ และการซ่อมตลิ่งให้ชาวบ้าน กรมเจ้าท่าจะรวบรวมเพื่อไปเรียกเก็บกับเจ้าของเรือน้ำตาลที่ล่ม ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินค่าเสียหายได้ แต่คาดว่าคงไม่เกิน 10 ล้านบาท

***ฟ้องได้แค่! บริษัทเรือน้ำตาล

นายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า กรมประมงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ รวมทั้งแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาในกระชังให้ทราบ เพื่อเตรียมการแก้ไขและป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมกับรวบรวมและช่วยเหลือพันธุ์ปลาในแม่น้ำที่ลอยหัว จากการขาดออกซิเจนไปพักไว้ในสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้น ขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ใช้เงินจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบ สาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาในกระชังในสัดส่วน 60% ของความเสียหายจริง ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 3,601,528 บาท และกรมฯจะรวบรวมความเสียหายทั้งหมด ประกอบในการดำเนินการฟ้องร้องกับผู้ทำให้เกิดความเสียหายต่อไป

นางสมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่าจากการสำรวจพบความเสียหายด้านประมงประกอบด้วย 1. เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ได้รับความเสียหายใน 2 จังหวัด คือจ.พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี รวม 30 ราย 117 กระชัง พื้นที่ 2,293 ตารางเมตร มูลค่าความเสียหาย 6,002,548 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น