พระนครศรีอยุธยา - บริษัท JNP ส่งเรือเปล่า 2,400 ตัน เข้าเทียบเรือน้ำตาลล่มที่พระนครศรีอยุธยาเพื่อเตรียมสูบน้ำตาลออกจากเรือแล้ว ขณะที่ผู้ว่าฯกรุงเก่าลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุหลังบ้านเรือนชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจุดใกล้ที่เกิดเหตุได้รับผลกระทบจากกระแสน้ำที่เปลี่ยนทิศทางทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย พร้อมสั่งให้ตำรวจเข้าไปดำเนินการรับแจ้งความเอาผิดกับบริษัทเรือบรรทุกน้ำตาลฐานทำให้เกิดความเสียหายกับชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมในลำน้ำเจ้าพระยา
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่เรือบรรทุกน้ำตาลทรายแดง 2,400 ตัน เกิดอุบัติเหตุถูกกระแสน้ำพัดชนเสาตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหมู่ 2 ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา จมลงในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (2 มิ.ย.) นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และคณะ ได้เดินทางไปดูที่เกิดเหตุอีกครั้งพบว่า ทางบริษัท JNP ได้นำเรือเปล่าขนาด 2,400 ตันกินน้ำลึกประมาณ 5 เมตร ยาวประมาณ 40 เมตร ถูกลำเลียงมาเทียบเรือกับเรือ บีเอ็ม 6 ที่จมอยู่โดยใช้เครื่องสูบน้ำ 5 เครื่องสูบน้ำตาลและน้ำในเรือลำที่จมออกใส่เรือเปล่า แต่การทำงานเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากกระแสน้ำไหลแรงมาก ประกอบกับลำน้ำแคบจึงเกรงว่าเรือจะกระแทกกับตลิ่งพังมากลงไปอีก
นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ท้ายของเรือน้ำตาลที่ล่มลงทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางกัดเซาะแนวตลิ่งของชาวบ้านพังลงไปในน้ำกว้างประมาณ 10 เมตร จนต้องเริ่มรื้อบ้านของ น.ส.ขนิษฐานันท์ พาลีขำ อีก 1 หลัง เนื่องจากกระแสน้ำแทงแนวตลิ่งพังไปจนถึงเสาบ้าน ล่าสุดได้สั่งให้กรมเจ้าท่า ประสานกับป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฯ ในการทำแนวเขื่อนกันน้ำชั่วคราวในจุดเหนือเรือน้ำตาลล่ม เพื่อลดกระแสน้ำไม่ให้กัดเซาะตลิ่งมากไปกว่านี้แล้ว
ส่วนการแก้ปัญหาสัตว์น้ำลอยขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำขณะนี้นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังประมงจังหวัดฯ ให้ตรวจสอบปลาหน้าวัดทุกวัดแล้ว เพราะเข้าใจว่าหากปริมาณอ๊อกซิเขนในน้ำที่อยู่ในเขต อ.บางไทร และ อ.บางปะอิน ยังต่ำลงอยู่ในลักษณะนี้ต่อไปสัตว์น้ำจะตายเพิ่มมากขึ้น
นาวาโท รชต ผกาฟุ้ง เจ้าท่าสาขาอยุธยาฯ เผยว่า การกู้เรือน้ำตาลด้วยการสูบน้ำในเรือน้ำตาลถ่ายออกใส่เรืออีกลำนั้น หากเครื่องมือและคนงานพร้อมจะใช้เวลาในการสูบน้ำอย่างน้อย 1 วัน จึงคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จทั้งหมด ส่วนตัวเรือที่กู้นั้นคาดว่าจะใช้เวลาในการกู้ไม่ต่ำกว่า 3 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับจุดที่เรือบรรทุกน้ำตาลทรายแดงขนาด 2,400 ตันล่มได้เร่งตอกเสาเข็มด้วยไม้ยูคาลิปตัสตลอดหน้าบ้านตนเองริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลังพบว่ากระแสน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนทิศทาง จนทำให้ตลิ่งฝั่งตรงข้ามกับเรือน้ำตาลล่มเริ่มทรุดตัว และบางจุดพบว่าต้นไม้ริมแม่น้ำที่ชาวบ้านปลูกไว้ปะทะน้ำถูกน้ำกัดเซาะพังทลายแล้ว ส่วนจุดที่เรือน้ำตาลทรายแดงล่มนั้น ขณะนี้ตลิ่งเริ่มพังทลายมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว และกระแสน้ำเริ่มกัดเซาะดินตรงจุดที่มีเรือน้ำตาลล่มเป็นโพรง ซึ่งคาดว่าตลิ่งจะเริ่มพังลงอีกในวันนี้
ขณะที่ พ.ต.อ.สมบัติ ชูชัยยะ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา ได้สั่งการให้ พ.ต.ต.จักรพันธ์ ธูปเตมีย์ พนักงานสอบสวน ลงพื้นที่ ต.ภูเขาทอง ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุเรือน้ำตาลล่มเพื่อรับแจ้งความจากชาวบ้านและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวแทนอำเภอพระนครศรีอยุธยา ตัวแทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนกรมเจ้าท่า ตัวแทนสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ตัวแทนประมงจังหวัดฯให้ร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิดกับคนที่ทำให้เกิดความเสียหายกับชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมในลำน้ำเจ้าพระยา
สำหรับการร้องทุกข์ดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งของนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากก่อนหน้านี้ทางจังหวัดได้ตกลงกับเจ้าของเรือว่าจะใช้วิธีการกู้น้ำตาลในเรือเบื้องต้นด้วยการสูบน้ำในเรือน้ำตาลใส่รถดับเพลิงแล้วนำไปทิ้ง แต่ในช่วงเย็นเจ้าของเรือกลับไม่ยอมให้ใช้วิธีสูบน้ำใส่รถแต่จะใช้วิธีการนำเรือมาเทียบแล้วสูบน้ำจากเรือน้ำตาลที่ล่ม ใส่เรือที่นำมาเทียบแทน ซึ่งวิธีดังกล่าวทำให้การกู้เรือล่าช้าขึ้นไปอีก
ส่วนค่าออกซิเจนในน้ำที่ต่ำกว่า 0 มิลลิกรัม/ลิตร ในพื้นที่ อ.บางไทร และ อ.บางปะอิน จนทำให้สัตว์น้ำจำนวนมากขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ และบางส่วนทยอยตายลงไปนั้น มีคำสั่งจากจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้นายอำเภอและชาวบ้าน โดยเฉพาะคนที่เลี้ยงปลากระชัง ทั้ง 2 พื้นที่ไปแจ้งความไว้เป้นหลักฐาน เพื่อใช้ในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
ส่วนการแก้ปัญหาสัตว์น้ำหน้าวัด นายประมวล มีแป้น ประมงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ได้จัดตั้งชุดเฉพาะกิจแก้ปัญหาสัตว์น้ำ 2 ชุด บริเวณหน้าวัดเชิงเลน และวัดโบสถ์สมพรชัย อ.บางไทร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกจับสัตว์น้ำหน้าวัด เอาไปอนุบาลไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด บางไทร และหากสถานการณืน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่ภาวะปกติ จึงจะนำกลับมาปล่อยไว้อย่างเดิม
ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เรียกหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนเรือบรรทุกน้ำตาลรวมกว่า 50 คน เข้าประชุมเรื่องเรือบรรทุกน้ำตาลล่มทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและระบบนิเวศในพื้นที่ใกล้เคียง ณ ห้องประชุมรับรองชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างรวดเร็วคือ 1 ต้องกู้เรือให้เร็วที่สุดเพื่อนำน้ำตาลขึ้นมา 2 แก้ไขป้องกันตลิ่งพัง และ 3 แก้ไขเรื่องน้ำมวลของน้ำมีค่าออกซิเจนต่ำและทุกหน่วยงานให้สำรวจตัวเองว่าได้รับความเสียหายอย่างไรรีบรายงาน
นางมานิตย์ แสนฤทธิ์ อายุ 41 ปีเจ้าของเรือบรรทุกทราย บอกว่า ตนมีเรืออยู่ 4 ลำจอดอยู่ที่ปากคลองโผงเผง อ.ปาโมก จ.อ่างทอง วิ่งผ่านไม่ได้ตนรับจ้างวิ่งเที่ยวละ 10,000 กว่าบาททำให้ขาดรายได้ และล่าช้าอาจถูกปรับ นอกจากนี้ยังมีเรือที่จอดรออยู่อีกกว่า 100 ลำที่ไปไม่ได้