ศูนย์ข่าวศรีราชา - ธุรกิจลอจิสติกส์ ภาคตะวันออก ในอนาคตโตอย่างต่อเนื่อง หลังมีปัจจัยสอดรับจากนโยบายของรัฐบาล ทั้งด้านการบริการ และเส้นทางการขนส่ง ชี้ การเมืองคืออุปสรรค ที่มีระยะเวลาในการบริหารบ้านเมือง แต่ยุคสั้นและไม่มีการประสานงานอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (20 เม.ย.) ที่ห้องประชุม สนามกอล์ฟ แหลมฉบังอินเตอร์เนชั่นแนล คันทรีคลับ จ.ชลบุรี บริษัท ทีเอ็นที เอ็กซเพรส เวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย) ผู้นำด้านบริการขนส่งพัสดุภัณฑ์ด่วนทั้งในและระหว่างประเทศ ได้จัดสัมมนาและบรรยายพิเศษ เรื่อง “ฝ่าวิกฤติ สร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยโลจิสติกส์” โดยมี ดร.ธนิตย์ โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นวิทยากรพิเศษ เพื่อบรรยายให้กับกลุ่มลูกค้า ผู้ประกอบการด้านลอจิสติกส์ ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
ดร.ธนิตย์ กล่าวได้ถึงสถานการณ์ลอจิสติกส์ ในพื้นที่ภาคตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งที่ผ่านมามีตู้สินค้าผ่านเข้าออกประมาณ 5 แสน TEU เท่านั้น แต่สถานการณ์ในปัจจุบันจนถึง ปี พ.ศ. 2558-2559 นั้น จะสามารถรองรับตู้คอนเทรนเนอร์ได้ถึง 5.5 ล้าน TEU ตามแผนงานที่วางไว้ และที่สำคัญ รัฐบาลมีนโยบายขยายท่าเทียบเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 2 ปี โดยจะแล้วเสร็จตามแผนงานในช่วงปี พ.ศ. 2561 โดยในช่วงนั้น จะสามารถรองรับตู้สินค้าได้ถึง 15 ล้าน TEU ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเจริญเติบโตมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีนโยบายในการก่อสร้างสาธารณูปโภคในการรองรับ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง จาก กทม.-ระยอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวน เนื่องจากจะต้องการขยายเส้นทางดังกล่าวให้ไปถึงจังหวัดตราด เนื่องจากจะสามารถลดต้นทุนด้านการขนส่ง หรือด้านการท่องเที่ยวด้วย เนื่องจากพื้นที่จังหวัดจันทบุรี-ตราด มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและเมืองผลไม้ เมื่อมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปถึง ก็จะอำนวยความสะดวกเพิ่มมากขึ้น
ดร.ธนิตย์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการทางรถไฟรางคู่ ที่เริ่มจากไอซีดีลาดกระบัง-ศรีราชา- แหลมฉบัง โดยใช้เวลาในการก่อสร้าง 2 ปี ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2556 นี้ ซึ่งโครงการหลักๆ ดังกล่าว หากดำเนินการไปตามแผนงานที่วางไว้ ในอนาคตพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด จะเป็นหัวใจหลักที่สำคัญของประเทศอย่างแน่นอน
แต่หากโครงการล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ อาจจะส่งผลกระทบต่อ การพัฒนาประเทศได้ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ซึ่งมีท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ และประเทศพม่า ด้านตอนใต้ ที่เมืองทวาย กำลังมีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเช่นกัน หากล่าช้า การส่งสินค้า หรือการลงทุนต่างๆ อาจจะหนีไปลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของเทศไทยอย่างแน่นอน
สำหรับปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบ โดยเฉพาะด้านการวางผังเมือง ซึ่งจะต้องมีการทบทวนหรือวางผังเมืองให้ชัดเจน โดยแยกพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมออกจากชุมชน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น กรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่เกิดปัญหาในขณะนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ไม่กล้าจะเข้ามาลงทุน เนื่องจากหวั่นเกรงเรื่องมาตรฐานในการดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น จะต้องมีการวางกฎเกณฑ์ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน ,มีกฎระเบียบด้านการดูแลสภาพแวดล้อมที่เข้มงวด และต้องสร้างความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่ที่มีการลงทุน โดยทั้ง3 รูปแบบต้องควบคู่กันไป
ด้าน นายธราธร ศรีสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ทีเอ็นที เอ็กซเพรส เวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย) กล่าวถึงสถานการณ์ด้านลอจิสติกส์ ในพื้นที่ภาคตะวันออกนั้น มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี โดยเฉพาะด้านวันสต๊อปเซอร์วิส ที่ภาคเอกชนไม่ต้องเสียเวลานานในการขนส่งสินค้า
นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การขนส่งสินค้าในรูปแบบต่างๆ สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้ลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าด้วย