เอเจนซี- สองปีที่ผ่านมาทั้งสื่อจีนและสื่อเทศต่างประโคมออกข่าวสร้างความฮือฮาในวงการรถไฟความเร็วสูงทั่วโลก โดยรายงานข่าวการเปิดบริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างมณฑลหัวเมืองต่างๆในจีนหลายเส้นทางอย่างต่อเนื่อง พร้อมพาดหัวข่าวชูประเด็นความเร็วทุบสถิติโลก
ทว่าไม่นานก็มีรายงานข่าวตั้งคำถามกันอื้ออึงเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถไฟความเร็วสูงจีน จนรัฐบาลได้ส่งสัญญาณปรับเปลี่ยนท่าทีการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ในต้นปีสื่อของรัฐเริ่มเสนอข่าวกระแสความวิตกเรื่องความปลอดภัยของรถไฟความเร็วสูง โกลบอล ไทม์ส สื่อภาษาอังกฤษ ของพีเพิล เดลี่ เตือนว่ารถไฟหัวกระสุนที่ผลิตในจีนนั้น “มีความเสี่ยงอย่างยิ่ง” พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์ว่า “การพัฒนาเส้นทางรถไฟเป็นไปอย่างบ้าระห่ำ” ด้วยเพราะแรงขับดันทางการเมืองมากกว่าความต้องการของตลาด
ช่วงสองปีแรกของการเปิดบริการขบวนรถไฟความเร็วสูงที่พัฒนาโดยจีน ที่มีชื่อว่า “เหอเสีย” ชื่อภาษาจีนที่มีความหมายว่า “ความกลมกลืน หรือความสมานฉันท์” ยังเกิดปัญหาการเข้าถึงบริการฯของประชาชน ปัญหาดังกล่าวยิ่งปรากฏชัดเจนในช่วงการเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อไปฉลองเทศกาลตรุษจีนช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยชาวจีนที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพ มีกำลังซื้อไม่พอสำหรับจ่ายค่าตั๋วรถไฟเที่ยวความเร็วสูงที่มีราคาแพง อาทิราคาตั๋วที่นั่งตู้ชั้นสองของขบวนรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางอู่ฮั่น-ก่วงโจว ที่เปิดบริการในปี 2552 ราคา 490 หยวน หรือ ราว 2,450 บาท แพงกว่าเป็นสามเท่าของตั๋วรถไฟขบวนที่ช้ากว่า
กระแสวิพากษ์วิจารณ์ ชี้ว่าชาวจีนหลายล้านครอบครัวที่มีฐานะยากจนไม่อาจเข้าถึงบริการรถไฟความเร็วสูง ส่วนตั๋วรถไฟขบวนทั่วไปก็มีไม่เพียงพอสนองความต้องการผู้โดยสาร จีนมีเครือข่ายเส้นทางรถไฟใหญ่ที่สุดในโลก มีความยาว 91,000 กม. อีกทั้งเจ้าหน้าที่คนงานในภาคฯนี้ 3.2 ล้านคน แต่ขบวนรถไฟแทบทุกขบวน/เที่ยว มีผู้โดยสารและสินค้า แออัดล้นเกิน ดังนั้นรัฐบาลควรนำเงินไปพัฒนาขยายบริการรถไฟทั่วไป ที่มีอัตราแล่นช้ากว่า และราคาถูกกว่า
ประกาศลดความเร็ว หนุนความปลอดภัย
นายใหญ่กระทรวงรถไฟคนใหม่ นาย เซิ่ง กวงจู่ ให้สัมภาษณ์แก่พีเพิล เดลี่เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์ครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ระบุว่า จีนยังคงเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟต่อไประหว่างการดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะเวลา 5 ปี ฉบับที่ 12 (2554-2558) และสืบเนื่องจากกระแสวิตกเรื่องความปลอดภัย ดังนั้น ก็จะมีการปรับเปลี่ยนอัตราความเร็ว
ในปลายเดือนมิ.ย. ที่จะถึงนี้ จีนจะเปิดบริการเที่ยวรถไฟความเร็วสูงสายสำคัญ ได้แก่ เส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้
นาย เซิ่ง กวงจู่ กล่าวว่าเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการที่ไม่เหมือนกันของกลุ่มผู้โดยสาร เจ้าหน้าที่ได้กำหนดจัดขบวนรถไฟอัตราความเร็วสองระดับ ได้แก่ ขบวนรถไฟอัตราเร็ว 300 กม./ชั่วโมง และขบวนรถไฟอัตราเร็ว 250 กม./ชม. พร้อมกับได้กำหนดราคาตั๋วรถไฟสองอัตรา
นั่นหมายถึงว่าเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ที่ในแผนเดิมระบุว่าจะบริการด้วยอัตราเร็วสูงกว่าเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง-เทียนจิน จะลดอัตราเร็วลง โดยก่อนหน้ากระทรวงรถไฟเคยระบุว่าขบวนรถไฟความเร็วสูงของเส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ จะเป็นขบวนรถ 380A และ380B ซึ่งมีอัตราความเร็วมาตรฐาน 380 กม./ชม.
“เจ้าหน้าที่กำหนดอัตราเร็วสูงสุด 200-250 กม./ชม.ของเที่ยวรถไฟความเร็วสูงสำหรับเส้นทาง ได้แก่ เหนือ-ใต้ 4 เส้นทาง ตะวันออก-ตะวันตก 4 เส้นทาง และเส้นทางเชื่อมระหว่างภาคต่างๆ” เซิ่ง กล่าว
ผู้อำนวยการสำนักงานประชาสัมพันธ์เชิงการเมืองของกระทรวงรถไฟ นาย หวัง หย่งผิง กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับนิตยสารอีไฉ (第一财经)เมื่อวันที่ 13 เม.ย.เช่นกัน ว่าสำหรับรถไฟความเร็วสูงทั้งหมดที่จะสร้างขึ้นใหม่ จะปรับอัตราเร็วจาก 350 กม./ชม. เป็น300 กม./ชม.
กลุ่มวงในวิเคราะห์ท่าทีของผู้นำจีนว่า โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างการดำเนินแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 แม้มีขนาดใหญ่กว่าโครงการก่อสร้างฯระหว่างแผนพัฒนาฯฉบับที่แล้ว แต่จะเป็นการพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่เป็นไปอย่างก้าวกระโดดเหมือนเช่นที่ผ่านมา
กลุ่มวิศวกรของจีน นาย เจ้า เจี้ยน ผู้เชี่ยวชาญประจำมหาวิทยาลัยเจียวทงในปักกิ่ง ได้เตือนว่าอัตราความเร็วสูงสุดของระบบรถไฟจีนนั้น เร็วเกินไป “ในเมื่อโครงการได้แล้วเสร็จลงแล้ว การแก้ไขปัญหาที่ดีในขณะนี้คือ ลดอัตราความเร็ว
“รัฐบาลควรขยายเส้นทางรรถไฟปกติมากขึ้น ประเทศจีนเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ ขบวนรถไฟแต่ละเที่ยวแล่นระหว่างระยะทางโดยเฉลี่ย 1,000 กม. หลายขบวนต้องวิ่งข้ามวันข้ามคืน การประหยัดเวลาไม่กี่ชั่วโมง ดูไม่มีความหมายอะไรเลย ” เจ้า กล่าว
อุปสรรคบนเส้นทางฝันจ้าวรถไฟความเร็วสูง
รถไฟความเร็วสูงแบบหัวกระสุน เป็นนวัตกรรมภาคหนึ่ง ที่ผู้นำจีนได้ทุ่มงบประมาณมหาศาล พยายามเร่งพัฒนา เพื่อยกระดับประเทศเป็นจ้าวนวัตกรรม และไปพ้นจากสถานภาพจ้าวโรงงานสินค้าราคาถูกเสียที
รัฐบาลจีนประกาศแผนการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงภายในปีนี้ โดยใช้งบประมาณสูง 700,000 ล้านหยวน (หรือ 106,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) แผนฯดังกล่าวจะขยายเครือข่ายรางรถไฟความเร็วสูงออกไปอีก และภายในสิ้นปีนี้ ก็จะมีความยาวทั้งสิ้นถึง 13,000 กิโลเมตร และ16,000 กิโลเมตร ในปี 2563
การพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีน ได้อาศัยเทคโนโลยีพื้นฐานจากญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และเยอรมนี ดังนั้น การที่กลุ่มผู้ผลิตจีนพยายามขายรถไฟความเร็วสูงให้แก่ชาติต่างๆในละตินอเมริกา และตะวันออกกลาง จึงเกิดปัญหา โดยมีเสียงร้องเรียนว่าจีนละเมิดสัญญากับผู้ป้อนเทคโนโลยีต่างชาติ ที่ระบุว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะใช้ภายในประเทศจีนเท่านั้น
เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสในกระทรวงรถไฟได้ออกข่าวในปีที่แล้ว ว่าผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงจีนกำลังเข้าประมูลสัญญาสร้างรางรถไฟความเร็วสูงในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ หลังจากที่เปิดบริการรถไฟความเร็วสูงไม่นาน ยังมีกระแสข่าวคอรัปชั่นในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง สำนักงานตรวจสอบบัญชีแห่งรัฐ เผยในเดือนมี.ค.ว่า มีการยักยอกเงินในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่างปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ เป็นมูลค่า 187 ล้านหยวน (หรือ 28 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ต่อมาจีนได้ปลดรัฐมนตรีว่าการรถไฟนาย หลิว จื้อจวินหลังจากที่มีรายงานข่าวกล่าวหานายหลิว จื้อจวิน เรื่องคอร์รัปชั่น ทั้งการรับสินบนและการทำสัญญาก่อสร้างที่ผิดกฎหมาย พร้อมกับได้แต่งตั้งนาย เซิ่ง กวงจู่ ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงรถไฟคนใหม่.