ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว เพื่อเชื่อมโยงกับกลุ่มอาเซียนด้วยกัน อาจมีปัญหา ถ้าหากประเทศเพื่อนบ้านไม่ปรับเปลี่ยนระบบรางใหม่ ในขณะที่รถไฟลาวได้เปลี่ยนไปใช้รางมาตรฐานกว้าง 1.435 เมตร ซึ่งบรรดาประเทศเพื่อนบ้านควรจะพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างนี้ไปด้วย
รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของลาว ได้แสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขณะที่การก่อสร้างทางรถไฟจากชายแดนจีนไปยังนครเวียงจันทน์กำลังจะเริ่มในเดือนหน้า
การให้สัมภาษณ์ของนายนาม วิยาเกด รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ยังมีขึ้นในขณะที่จีนเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงรถไฟคนใหม่ แทนคนเดิมที่ถูกบังคับให้ลาออกหลังถูกกล่าวหาเกี่ยวกับทุจริตคอร์รัปชั่น และ ยังไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับการตัดสินใจของไทยที่จะลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจาก จ.หนองคาย เข้ากรุงเทพฯ
ปัจจุบันรางรถไฟของไทยและประเทศเพื่อนบ้านแถบนี้ ยังเป็นรางกว้างขนาด 1.00 เมตร ไม่สามารถรองรับรถไฟที่แล่นด้วยความเร็วระดับ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระหว่างจีนกับลาวได้
“การเชื่อมโยงเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558 หากโครงล่างพื้นฐานทางรถไฟ รถยนต์และเครื่องบินของ 10 ประเทศอาเซียนยังไม่เป็นเอกภาพกันก็จะทำให้เชื่อมโยงได้ยาก..” ดร.นามกล่าว
“เพราะฉะนั้นการที่ลาวและจีนได้มีการเซ็นบทบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อจะสร้างทางรถไฟร่วมกันจึงเกิดปัญหามีความกังวล ในหลายประเทศอาเซียนจะต้องมีการพิจารณา (ก่อสร้าง) ทางรถไฟของตน..” หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-สังคม อ้างคำกล่าวของรัฐมนตรีผู้นี้
ดร.นาม กล่าวอีกว่า หลังจากลาวได้ยกระดับเป็นรถไฟที่มีความเร็วสูง 200 กม./ชม.สำหรับขบวนโดยสาร และ 120 กม./ชม.สำหรับรถขนส่งสินค้าแล้ว หากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนยังใช้รางรถไฟขนาดเท่าเดิม จะทำให้การเชื่อมต่อและขนส่งสินค้า ระหว่างจีน-ลาวกับอาเซียนยากลำบาก
ลาวและจีนได้ทำสัญญากันเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อก่อสร้างทางรถไฟหัวกระสุนระยะทาง 421 กม. จากด่านชายแดนบ่อแตน-บ่อหาน ไปยังนครเวียงจันทน์ ไปสิ้นสุดลงที่ฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อข้ามสะพานอีกแห่งหนึ่งไปยังฝั่งไทย ซึ่งทั้งหมดจะต้องลงทุนราว 7,000 ล้านดอลลาร์ รัฐบาลจีนถือหุ้นใหญ่ 70%
ตามรายงานก่อนหน้านี้ จีนและไทยสามารถบรรลุข้อตกลงกรอบการลงทุนเพื่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงส่วนที่อยู่ในประเทศไทยได้แล้ว โดยฝ่ายไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโครงการที่จะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล แต่ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งเงินทุน ตลอดจนกรอบเวลาที่แน่นอนในการดำเนินการ
ไทยได้กลายเป็นดินแดนเชื่อมต่อที่สำคัญมากสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-อาเซียน หากไม่มีการก่อสร้างส่วนที่อยู่ในประเทศไทย แผนการอันทะเยอทะยานของจีนไม่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้
ตามรายงานของสื่อทางการลาว การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจะเริ่มขึ้นในปลายเดือน เม.ย.นี้ และ ในเดือน ม.ค.ที่่ผ่านมา ฝ่ายจีนได้แจ้งให้ลาวทราบว่า การก่อสร้าง จะต้องใช้เวลาถึง 5 ปี เพิ่มขึ้นจาก 4 ปีจากที่คาดเอาไว้แต่เดิม
ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการใดๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างในขณะนี้
นายหลิวจื่อจุน (Liu Zhijun) รัฐมนตรีกระทรวงรถไฟจีน ผู้ที่ลงนามในสัญญากับฝ่ายลาวถูกกดดันอย่างหนัก ทำให้ต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว หลังจากถูกกล่าวหาว่า รับสินบนเป็นเงินมหาศาลจากสัญญา และการทำความตกลงต่างๆ เกี่ยวกับการสร้างและขยายระบบรถไฟความเร็วสูงในประเทศ ที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์
แต่ นายเสิงกวางซู (Sheng Guangzu) รัฐมนตรีที่เพิ่งเข้ารับรับตำแหน่ง ยืนยันว่า จะยังดำเนินโครงการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงต่อไป แม้จะมีการกล่าวหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชันอย่างมากมายก็ตาม สำนักข่าวซินหัวรายงานในวันจันทร์ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา
2
3
อาเซียนสตาร์-ยูโรสตาร์
4
5
6
7