เชียงราย- ธ.ก.ส.สาขาเชียงราย ยอมเจรจากับสมาชิกองทุนฟื้นฟูฯพร้อมยอมรับมีเจ้าหน้าที่ออกไปให้ข้อมูลและชักชวนจริง ระบุข้อมูลของการใช้หนี้มีรายละเอียดใกล้เคียงกัน พร้อมจะทำความเข้าใจกันใหม่เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันทุกสาขา
รายงานข่าวจาก จ.เชียงรายแจ้งว่า จากกรณีกลุ่มชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จ.เชียงราย ประมาณ 300 คน ได้พากันไปชุมนุมที่ด้านหน้าอาคารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาเชียงราย ถนนธนาคาร อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อเรียกร้องให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ให้สมาชิกกองทุนฯ เสียสิทธิ์ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 เม.ย.2553 ที่ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิกกองทุนฯ นั้น โดยบรรดาชาวบ้านออกมาระบุว่าทาง ธ.ก.ส.เกรงจะเสียลูกค้าจากโครงการจึงได้ไปชักจูงให้ชาวบ้านร่วมการชดใช้หนี้ในลักษณะคล้ายกัน ทำให้ชาวบ้านหลายรายหลงไปทำสัญญาใหม่และเสี่ยงต่อการเสียสิทธิจากโครงการกองทุนฟื้นฟูฯ
ล่าสุดนายสุเนตร ใจหลัก รองผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.เชียงราย ได้ออกมารับหนังสือจากชาวบ้านและเจรจากับตัวแทนเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯประจำจังหวัดเชียงราย ก่อนเชิญเข้าร่วมประชุมภายในห้องประชุมของสำนักงานโดยใช้เวลาประชุมหารือไม่นานนักขณะที่กลุ่มชาวบ้านต่างพากันยืนรอที่หน้าสำนักงานติดถนนธนาลัยจนทำให้การจราจรติดขัดเล็กน้อย
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ยอมรับอย่างไม่เป็นทางการว่าที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่หรือพนักงานระดับล่างของ ธ.ก.ส.ออกไปให้ข้อมูลกับชาวบ้านเพื่อชักชวนให้เข้าร่วมโครงการชดใช้หนี้สินกับ ธ.ก.ส.จริง
นายสุเนตร กล่าวว่า จะได้มีการประชุมพนักงานผู้บริหารและพนักงาน ธ.ก.ส.ทุกสาขาดำเนินการตามแนวโยบายของกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรดังกล่าวต่อไป อย่างไรก็ตามเนื่องจากรายชื่อของเกษตรกรที่มีอยู่ในบัญชีของ ธ.ก.ส.มี 475 คน ดังนั้นจึงจะมีการตรวจสอบรายชื่อให้สอดคล้องกันเพื่อดำเนินการต่อไป จากนั้นในอนาคตจะได้จัดประชุมระหว่างผู้บริหารของ ธ.ก.ส.สาขาต่างๆ กับคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ และตัวแทนของเกษตรกรเพื่อให้เข้าใจตรงกันต่อไป
รายงานข่าวแจ้งอีกว่าจากนั้นนายสุเนตร ตัวแทนชาวบ้านและผู้บริหารกองทุนฟื้นฟูฯ จ.เชียงราย ได้ออกไปชี้แจงกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้าสำนักงาน ธกส.ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมพอใจและแยกย้ายพากันกลับไปรอฟังข่าวต่อไป ทั้งนี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 ได้ให้เกษตรกรจำนวน 510,000 รายทั่วประเทศได้ปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพกับสถาบันการเงินของรัฐ 4 แห่ง คือ ธ.ก.ส. ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยให้เกษตรกรชำระหนี้เงินต้น 50% ภายใน 15 ปี หากชำระได้ครบตามที่กำหนดก็ให้ตัดส่วนที่เหลืออีก 50% และดอกเบี้ยทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทาง ธ.ก.ส.ก็มีโครงการที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเพื่อชักชวนให้เกษตรกรไปชดใช้หนี้ทั้งหมด จนทำให้มีการชุมนุมเรียกร้องดังกล่าว