xs
xsm
sm
md
lg

ชง “กรณ์” แก้ กม.FIDF สางปมหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ-ลดภาระ ดบ.จ่ายปีละ 6 หมื่น ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังเร่งแก้กฎหมาย พ.ร.บ.เงินตรา-เอฟไอดีเอฟ สางปมปัญหาชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ระบุเป็นช่องทางช่วยรัฐบาลลดภาระรายจ่ายดอกเบี้ยปีละกว่า 6 หมื่นล้านบาท เตรียมเสนอ “กรณ์” ชงเข้า ครม.เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการแก้ไขเร็วๆ นี้

นายกฤษดา จีนะวิจารณะ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ฝ่ายกฎหมาย ศสค.ได้ดำเนินการจัดทำร่างแก้ไขกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) จำนวน 2 ฉบับ ประกอบไปด้วย ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินตรา พ.ศ... และร่างแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ....เสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะนำเสนอต่อ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้ในเร็วๆ นี้ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการต่อไป

สำหรับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.เงินตรา เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการลงบันทึกบัญชีที่เกี่ยวข้อง 3 บัญชีคือ บัญชีหนุนหลังเงินตรา บัญชีดอกเบี้ยและผลประโยชน์และบัญชีสำรองพิเศษ ซึ่งตามกฎหมายเดิมระบุว่า เมื่อมีการลงบันทึกตามราคาตลาด (Mark to market) แล้ว หากบัญชีหนุนหลังเงินตราด้อยค่าลง จะต้องนำเงินจากบัญชีดอกเบี้ยและผลประโยชน์มาใส่เพิ่ม ขณะที่หากมีผลกำไรเกิดขึ้น กำไรดังกล่าวจะถูกโอนไปอยู่ที่บัญชีสำรองพิเศษแทน ดังนั้น จึงแก้ไขใหม่เป็นไม่ว่าจะเป็นการด้อยค่าลง หรือมีกำไรให้เป็นการโอนย้ายกันไปมาระหว่างบัญชีหนุนหลังธนบัตรและบัญชีสำรองพิเศษแทน

โดยการดำเนินการดังกล่าว เพื่อทำให้บัญชีดอกเบี้ยและผลประโยชน์มีตัวเลขคงที่ สามารถนำเงินไปชำหนี้พันธบัตรเพื่อการชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฉบับที่ 3 (FIDF3) ซึ่งปัจจุบันมียอดคงค้าง 6 แสนล้านบาทลดลงที่ออกทั้งสิ้น 7.8 แสนล้านบาท ขณะที่พันธบัตรเพื่อการชำระหนี้กองทุนฟื้นฟู ฉบับที่ 1 (FIDF1) ขณะนี้มียอดคงค้างเหลือ 4.6 แสนล้านบาท ลดลงจากเดิม 5 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก เพราะกำหนดว่าจะต้องเป็นการชำระหนี้จากกำไรจากการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) เท่านั้น แต่ ธปท.ยังมียอดขาดทุนสะสมอยู่ 3-4 แสนล้านบาท

“พ.ร.บ.เงินตรากำหนดว่า ทุกครั้งที่มีการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม 1 บาท จะต้องมีทุนหนุนหลัง 1 บาท ทำให้ขณะนี้ในบัญชีหนุนหลังธนบัตรมียอดทั้งสิ้น 1 ล้านล้านบาท ขณะที่ในบัญชีสำรองพิเศษมียอดอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท จึงยังสามารถดูแลได้ เพราะเงินไม่ได้ไปไหน เป็นการโอนไปมาระหว่าง 2 บัญชีเมื่อมีการบันทึกบัญชีเท่านั้น” นายกฤษดา กล่าว

สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ.เอฟไอดีเอฟ นั้น ขณะนี้เอฟไอดีเอฟมีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 3 แสนล้านบาท และมีหนี้สินจำนวน 3 หมื่นล้านบาท ที่จะครบกำหนดการชำระคืนภายในปลายปีนี้ และมีสินทรัพย์เพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ จากการจ่ายเงินปันผลและกำไรของธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTB บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด BAM และบริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด SAM แต่กฎหมายยังไม่มีช่องทางใดที่จะโอนสินทรัพย์มาได้ ทั้งที่หนี้ได้โอนมาทั้งหมดแล้ว 1.3 ล้านล้านบาทผ่าน FIDF1 และ FIDF 3 จึงต้องแก้ไขกฎหมายใหม่ เพื่อให้สามารถนำสินทรัพย์และเงินของกองทุนฟื้นฟูฯ มาใช้เพื่อการชำระหนี้ได้เท่านั้น

ทั้งนี้ หากการแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับเสร็จสิ้นโดยเร็ว จะทำให้รัฐบาลประหยัดเงินงบประมาณแผ่นดินในการชำระคืนดอกเบี้ยที่สูงถึงปีละ 6 หมื่นล้านบาท ให้ลดลงโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น