เชียงราย- ชาวเชียงรายกว่า 300 คน ที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯพากันชุมนุมหน้า ธ.ก.ส.สาขาเชียงราย พร้อมเตือน ธ.ก.ส.ไม่ให้ยุยงชาวบ้านให้ออกจากกองทุน ทั้งให้ทำตามมติ ครม.ที่ให้ลดหนี้ 50% ไม่เช่นนั้นจะพากันแจ้งความฐานละเลยมติ ครม.แถมบิดเบือนข้อมูลให้ชาวบ้านเข้าใจผิด
วันนี้ (21 มี.ค.) มีกลุ่มชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จ.เชียงราย ประมาณ 300 คน ได้พากันไปชุมนุมที่ด้านหน้าอาคารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาเชียงราย ถนนธนาคาร อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีข้อเรียกร้องระบุขอให้ ธกส.หยุดวิธีการที่อาจทำให้สมาชิกกองทุนฯ เสียสิทธิ์ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิกกองทุนฯ และให้จัดทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ตามมติ ครม.ดังกล่าวด้วย
นายประนอม เชิมชัยภูมิ ประธานคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ จ.เชียงราย กล่าวว่ามติ ครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 ได้ให้เกษตรกรจำนวน 510,000 รายทั่วประเทศปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพกับสถาบันการเงินของรัฐ 4 แห่ง คือ ธ.ก.ส.ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยให้เกษตรกรชำระหนี้เงินต้น 50% ภายใน 15 ปี หากชำระได้ครบตามที่กำหนดก็ให้ตัดส่วนที่เหลืออีก 50% และดอกเบี้ยทั้งหมด อย่างไรก็ตามแทนที่ ธกส.จะสนับสนุนนโยบายนี้ กลับกลายเป็นองค์กรที่เป็นอุปสรรคไปเสีย
นายประนอม กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ออกไปให้ข้อมูลชาวบ้านในทางที่ผิดๆ และบิดเบือน เช่น สร้างความเข้าใจผิดว่านโยบายของรัฐเกี่ยวกับกองทุนฟื้นฟูฯ กับ ธ.ก.ส.เป็นสิ่งเดียวกัน ให้ผู้ค้ำประกันกดดันสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อให้ไปร่วมกับ ธกส.พร้อมกับข่มขู่ด้วยวิธีการต่างๆ อ้างว่ามติ ครม.ดังกล่าวได้ยกเลิกไปแล้ว โจมตีกองทุนฟื้นฟูฯ ว่าไม่ได้มีอยู่จริงหรือล้มเลิกไปแล้ว หรือแม้แต่ระบุว่าหากรัฐบาลล้มโครงการนี้ก็จะล้มเลิกไป เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ก็ทำนโยบายที่ใกล้เคียงกับกองทุนฟื้นฟูฯ คือแจ้งให้เกษตรกรว่าให้ใช้หนี้สินทั้งหมด 50% ภายใน 15 ปีเช่นกัน แต่หากใช้หนี้สินได้ตามกำหนดจึงค่อยนำหนี้สินอีก 50% ที่เหลือมาชำระกันใหม่ ซึ่งแตกต่างจากของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ให้ยกเลิกหนี้ไปเสีย
“เชื่อว่ าที่ทำเช่นนี้เพราะ ธ.ก.ส.ไม่อยากเสียลูกค้า คือ พวกเราไป ดังนั้น พวกเราจะยื่นหนังสือให้ ธกส.ในวันนี้ หากว่ายังไม่หยุดพฤติกรรมเช่นนี้อีกก็จะไปชุมนุมกันที่โรงพักเพื่อแจ้งความดำเนินคดีข้อหาไม่ให้ความร่วมมือกับมติ ครม.และบิดเบือนข้อมูลไปพร้อมๆ กันเลย” นายประนอม กล่าวและว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวนประมาณ 14,000 คน และได้ผ่านขั้นตอนจนแสดงเจตจำนงค์รวมทั้งได้รับการช่วยเหลือแล้วจำนวนประมาณ 3,800 คน รวมมูลค่าหนี้สินทั้งหมดนับหมื่นล้านบาท
นายวิรัตน์ พรหมสอน รองประธานคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ กล่าวว่า พวกเราถือเป็นลูกค้าชั้นดีของ ธ.ก.ส.เพราะส่วนใหญ่นำโฉนดที่ดินไปไว้ที่ ธ.ก.ส.กันทั้งนั้น ทั้งมีอายุเฉลี่ย 53 ปีแต่ละคนมีหนี้สินกับ ธกส.เฉลี่ยรายละประมาณ 300,000 บาท จึงเป็นเหตุให้ ธ.ก.ส.ไม่อยากให้เสียไปและพยายามจะทำให้เกษตรกรไปทำสัญญาธุรกิจการเงินครั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาหนี้สินวนเวียนไม่รู้จักจบสิ้น เพราะบางคนหลังเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ แล้วก็ได้รับการโอนหนี้สินไปให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ หรือแม้แต่บางรายถูกสถาบันการเงินยึดทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน ฯลฯ ไปแล้วทางกองทุนฟื้นฟูฯ ก็สามารถไถ่คืนมาให้ได้ ขณะที่รายอื่นๆ ก็เริ่มทยอยได้รับการดำเนินการไปเรื่อยๆ แต่ก็มาพบอุปสรรคอย่าง ธ.ก.ส.ดังกล่าว
ด้าน นายสุรศักดิ์ ธรรมชัย อายุ 58 ปี ลูกค้า ธ.ก.ส.และสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ กล่าวว่า ตนเป็นหนี้ ธ.ก.ส.มานานประมาณ 10 ปี โดยเป็นเงินต้นประมาณ 300,000 บาท แต่เมื่อมีดอกเบี้ยสูงถึงกว่า 400,000 บาท ทำให้กลายเป็นหนี้สินประมาณ 700,000 บาท จึงได้เข้าสู่ระบบของกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ทาง ธ.ก.ส.ก็รีบประสานไปว่าให้ตนใช้หนี้สินเงินต้นก่อน 50% หากแล้วเสร็จก็จึงค่อยคิดหนี้สินส่วนที่เหลือ ทำให้พวกตนสับสนกับมาตรการนี้อย่างมาก
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวแจ้งอีกว่าต่อมา นายพิเชียร จอมพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.เชียงราย ได้เชิญบรรดาแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปร่วมหารือแล้ว