xs
xsm
sm
md
lg

เร่งคลี่ปมฮุบป่าแม่กกฝั่งขวา หลังนายทุน-ชาวบ้านเปิดศึกแย่งถือครองพันไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชียงราย - จังหวัดเชียงรายเร่งคลี่คลายกรณีพิพาทนายทุน-ชาวบ้านแย่งที่ดินทำกินเขตตำบลท่าข้าวเปลือก หลังชาวบ้านแห่ร้องถูกนายทุนฮุบ สอบพบคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ถูกผู้มีอิทธิพลบีบขายยุคที่ดินบูม ตั้งแต่ 20 ปีก่อน ทั้งที่ไร้เอกสารสิทธิ แต่นายทุนไม่เข้าทำประโยชน์ จนถูกชาวบ้านเข้าครอบครองแทน

หลังจากชาวบ้านจาก ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน ได้ร้องเรียนต่อทางจังหวัดว่าได้ถูกกลุ่มทุนจากนอกพื้นที่เข้าไปถือครองที่ดินซึ่งพวกเขาได้เคยทำกินมานาน โดยอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์มาโดยชอบธรรม จนเกิดกรณีพิพาทมานานกว่า 3 ปีบนเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นป่าเสื่อมโทรมและที่ดินรกร้างว่างเปล่านั้น

ล่าสุด นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย, นายกันณ์ คำหมู่ ปฏิรูปที่ดิน จ.เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางไปพบปะกับชาวบ้าน และตัวแทนกลุ่มทุนที่วัดท่าข้าวเปลือก หมู่ 7 ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน เพื่อคลี่คลายปัญหาดังกล่าว

นายกันณ์กล่าวว่า พื้นที่ที่เป็นปัญหา เป็นป่าแม่กกฝั่งขวา ซึ่งมีเนื้อที่รวมกันประมาณ 23,700 ไร่ เป็นเขตติดต่อระหว่าง ต.ท่าข้าวเปลือก ต.หนองป่าก่อ ต.โชคชัย และ ต.ปงน้อย อ.ดอยหลวง ต่อมาคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแห่งชาติ ได้ยกพื้นที่บางส่วนให้กับองค์การทหารผ่านศึกจำนวน 12,000 ไร่ และจัดสรรอีกส่วนหนึ่งให้ทหารผ่านศึกและครอบครัว ใช้ทำกินอีกประมาณ 11,000 ไร่เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2553

นายกันณ์กล่าวอีกว่า จากนั้นยังได้มีการยกให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ชาวบ้านทำกินจำนวน 834 ไร่ อย่างไรก็ตาม ได้มีชาวบ้านบางส่วนขายที่ดินให้แก่นายทุนจากนอกพื้นที่ แต่นายทุนก็ยังไม่เข้าไปทำกินทำให้ชาวบ้านใช้ทำกินเรื่อยมาจนถึงรุ่นลูกหลาน กระทั่งต่อมาเมื่อถึงเวลาที่ชาวบ้านต้องไปขอออกเป็น ส.ป.ก.4-01 ตามกำหนด ก็ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มทุนที่อ้างว่าได้เข้าไปซื้อเอาไว้แล้ว

ด้าน นายราช สอนสุกกอง อดีตผู้ใหญ่บ้านท่าขี้เหล็ก ต.ท่าข้าวเปลือก กล่าวว่า ยอมรับว่าในอดีตได้มีการซื้อขายที่ดินดังกล่าวกันจริง โดยกลุ่มนายทุนได้ซื้อจากชาวบ้านในราคาไร่ละประมาณ 3,000 บาท แต่เนื่องจากไม่ได้เข้าไปใช้ทำประโยชน์ใดๆ ทำให้กลุ่มชาวบ้านยังคงเข้าไปใช้เป็นที่ดินเหล่านี้ทำกินเรื่อยมา

นางบรรพกา กัมปหะ อายุ 28 ปี ชาวบ้านท่าข้าวเปลือก กล่าวว่า ชาวบ้านอาศัยทำกินในพื้นที่ดังกล่าวก่อนจะมีการจัดสรรมานานกว่า 30 ปี โดยส่วนใหญ่ใช้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แต่ต่อมาคนรุ่นพ่อแม่ถูกบังคับขู่เข็น จากผู้นำท้องถิ่นในขณะนั้นให้ขายให้กับนายทุนในราคาถูก ทำให้ต้องจำใจขาย และคนรุ่นลูก ก็ประสบปัญหาจึงเข้าไปร้องเรียนกับจังหวัด

ขณะที่ นายธนวุฒิ ชินวงศ์ ทนายความซึ่งอ้างเป็นตัวแทนของนายทุนรายหนึ่งระบุว่า เมื่อราวปี 2532-2533 ทางเจ้าของที่ดินได้ซื้อที่ดินจากชาวบ้านอย่างถูกต้อง โดยมีหลักฐานเป็นสัญญาเช่าและใบเสียภาษีที่ดินต่อสำนักงานที่ดิน แต่ได้อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าทำกินได้ชั่วคราว ดังนั้นจึงอยากให้ใช้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาเรื่องนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดนายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้สรุปแนวทางแก้ไขปัญหาว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับที่ดินที่เป็นข้อขัดแย้งแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ การซื้อขายที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ และมีการซื้อขายแล้วไม่เข้าทำประโยชน์ จึงมีปัญหาในแง่ของข้อกฎหมายที่คนรุ่นพ่อแม่ของชาวบ้าน ซึ่งได้ขายไปแล้ว แต่ต่อมาคนรุ่นลูกหลานไม่มีที่ดินทำกินจะมีสิทธิหรือไม่

ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องหาทางออกทั้งด้วยหลักนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยจังหวัดจะตั้งกรรมการเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อยุติปัญหาให้เร็วที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น