หนองคาย - ครบ 1 ปี เปิดใช้รถไฟระหว่างประเทศสายประวัติศาสตร์ หนองคาย-ท่านาแล้ง ต่างชาตินิยมใช้บริการมากกว่าคนไทยหรือลาว เหตุเพราะสามารถนั่งรถไฟไปเที่ยวต่อในลาว หรือต่อวีซ่าได้สะดวกไม่ต้องต่อรถ รถไฟหนองคายเตรียมเสนอปรับเวลาการเดินรถ เหตุผู้โดยสารบ่นรอรถนานแถมต้องเดินทางกลับเร็ว ด้านศุลกากรเผยรถไฟสายนี้ยังไม่พร้อมสำหรับขนส่งสินค้า แต่การเริ่มต้นด้วยขบวนท่องเที่ยวถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ก่อนจะขยายเส้นทางลอจิสติกส์ระบบรางในอนาคต
หลังจากที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิดการเดินขบวนรถไฟเป็นปฐมฤกษ์ระหว่างประเทศไทย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(ส.ป.ป.ลาว) ร่วมกับท่านบุญยัง วอละจิต รองประธานประเทศ ส.ป.ป.ลาว เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2552 และได้มีการเปิดรถไฟเที่ยวพิเศษในวันที่ 6 มีนาคม 2552 ให้แก่ประชาชนที่ได้มีการซื้อตั๋วโดยสารที่ระลึก โดยที่ยังไม่ได้มีการเปิดให้บริการเดินรถ และได้เปิดให้บริการรถไฟได้ตามปกติ ในวันที่ 9 มีนาคม 2552 จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 1 ปีแล้ว
นายทวีป เสือรอด นายสถานีรถไฟหนองคาย เปิดเผยว่า ระยะเวลาเกือบ 1 ปี รถไฟระหว่างประเทศไทย-ลาว สายหนองคาย-ท่านาแล้ง ได้อำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประประชาชนชาวไทย ชาวลาว และชาวต่างชาติได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวต่างชาตินั้นได้หันมาใช้บริการมากยิ่งขึ้น
ขณะนี้มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 70-80 คน จำนวนผู้โดยสารเข้าออกในรอบปี 2552 พบว่าผู้โดยสารชาวไทยเข้าออก รวม 8,377 คน, ผู้โดยสารชาวลาว รวม 3,332 คน ส่วนผู้โดยสารต่างชาติ รวม 11,400 คน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมใช้บริการรถไฟ เนื่องจากส่วนใหญ่เดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ เพื่อไปท่องเที่ยวและต่อวีซ่าที่ลาว อีกทั้งมีบริษัทนำเที่ยวในลาว นิยมจัดส่งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่กลับจากการท่องเที่ยวในประเทศลาวให้ได้สัมผัสบรรยากาศการนั่งรถไฟข้ามประเทศ จากสถานีรถไฟท่านาแล้ง มายังสถานีรถไฟหนองคาย ก่อนจะเดินทางกลับไปยังกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ
แต่ขณะเดียวกัน คนไทยกลับใช้บริการน้อยเหตุ เพราะใช้รถยนต์ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว สะดวกและคล่องตัวมากกว่า
นายทวีป กล่าวอีกว่า ขบวนรถไฟที่ให้บริการในแต่ละวันขณะนี้ มีจำนวน 2 เที่ยว คือ ขบวน 913-914 หรือ 4 ขบวนๆ ละ 2 ตู้ ประกอบด้วย ตู้ชั้น 2 และ ตู้ชั้น 3 สำหรับอัตราค่าโดยสาร ชั้น 2 ปรับเอนได้ มีพัดลม ค่าโดยสาร 30 บาท และชั้น 3 ราคา 20 บาท ทางสถานีรถไฟหนองคายได้เสนอปรับเวลาเดินรถให้เหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดปัญหาผู้โดยสารรอรถไฟนาน และต้องรีบเดินทางกลับ จึงเห็นควรขยายเวลาการเดินรถออกไปประมาณ 2 ชั่วโมง
จากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 45 นาทีในการเดินรถไฟในแต่ละเที่ยว กล่าวคือ รถไฟเที่ยวแรกออกจากสถานีหนองคาย ไปสถานีท่านาแล้ง เวลา 10.00 น. ออกจากสถานีท่านาแล้ง กลับมาสถานีหนองคาย 10.45 น.และเที่ยวที่ 2 ออกจากสถานีหนองคาย ไปสถานีท่านาแล้ง เวลา 16.00 น.แล้วออกจากสถานีท่าแล้ง กลับมาสถานีหนองคาย เวลา 17.00 น.
ทั้งนี้ จะพิจารณาปรับเที่ยวเดินรถใหม่ เป็นเที่ยวแรกจะออกจากสถานีหนองคาย เวลา 09.00 น.และกลับจากสถานีรถไฟท่านาแล้ง ในเวลา 11.00 น.ส่วนเที่ยวบ่ายจะออกจากหนองคายในเวลา 15.00 น.และกลับจากสถานีรถไฟท่านาแล้ง ในเวลา 17.00 น. คาดว่า จะได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงเวลาเดินรถที่เสนอไปใหม่ในเร็วๆ นี้ หากมีการเดินรถเวลาใหม่คาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการมากยิ่งขึ้น
ด้านนายเผดิมเดช มั่งคั่ง หัวหน้าฝ่ายควบคุมทางศุลกากร ด่านศุลกากรหนองคาย เปิดเผยว่า รถไฟสายหนองคาย-ท่านาแล้ง จุดประสงค์เริ่มแรกจะเน้นในการท่องเที่ยวเป็นหลัก ก่อนจะพัฒนาให้เอื้อต่อระบบการขนส่งสินค้าในอนาคต ซึ่งจะต้องก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมจากสถานีท่านาแล้งต่อไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ ประมาณ 9 กม.
แต่เนื่องจากระบบลอจิสติกส์ในปัจจุบันนี้ระบบขนส่งทางบกด้วยรถยนต์ยังสะดวกกว่ามาก ที่สำคัญคือ การขนส่งด้วยรถยนต์สามารถทำได้รวดเร็ว ไม่มีข้อจำกัดในด้านเวลาด้วยการรอขบวนรถไฟเหมือนที่เป็นอยู่ ซึ่งหากจะมองความคุ้มค่าสำหรับการขนส่งสินค้าต้องเป็นการขยายระบบลอจิสติกส์ด้วยระบบรางจนถึงประเทศจีน กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์-หลวงพระบาง-คุนหมิง แต่คาดว่าต้องใช้เวลานานพอสมควร แต่ด้วยศักยภาพของจีนเองที่มีความพร้อมทั้งเงินทุน และผลประโยชน์ตอบแทนที่จะได้รับจากการขยายเส้นทางเชื่อมรถไฟสายดังกล่าวนี้ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะดำเนินการ
ในแง่ของศุลกากรเอง มองว่า การพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบราง อาจต้องใช้เวลานาน ตราบใดที่ยังไม่มีการพัฒนาพื้นที่สำหรับคอนเทนเนอร์ยาร์ด (Container yard : CY) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการส่งสินค้า ทั้งสองประเทศต้องมีความพร้อม แม้ว่าทางลาวเองจะเตรียมพื้นที่สำหรับ CY ไว้บ้างแล้วก็ตาม ซึ่งจะถือว่าเป็นเฟส 2 ของสถานีท่านาแล้งของลาวก็ได้ แต่ในส่วนของหนองคายยังไม่มีการพิจารณาพื้นที่ดำเนินการแต่อย่างใด
สำหรับรถไฟระหว่างประเทศ สายหนองคาย-ท่านาแล้ง เป็นโครงการระยะแรกของโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟจากหนองคายถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ส.ป.ป.ลาว ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางรถไฟผ่านทวีปเอเชีย (Trans Asian Railway) ขององค์การสหประชาชาติ โดยเมื่อปี 2543 รัฐบาลไทยได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยก่อสร้างทางรถไฟจากกึ่งกลางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เชื่อมต่อกับสถานีหนองคาย ระยะทาง 2.5 กม.
ต่อมา ส.ป.ป.ลาว ได้ลงนามในสัญญารับการช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลไทย ภายในวงเงิน 197 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 30 เป็นเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า ส่วนอีกร้อยละ 70 เป็นเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำมาก่อสร้างทางรถไฟจากสะพานมิตรภาพ-ท่านาแล้ง บ้านดงโพสี เมืองหาดทรายฟอง ระยะทาง 3.5 กม.โดยเริ่มการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2549 แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2551 ระยะเวลาในการก่อสร้าง 18 เดือน