หนองคาย- จังหวัดหนองคาย-ลาว จัดเตรียมพื้นที่พร้อมรับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเป็นองค์ประธานเปิดขบวนรถไฟปฐมฤกษ์ หนองคาย-ท่านาแล้ง 5 มี.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีขบวนรถไฟทำการทดลองเดินรถจากสถานีรถไฟหนองคาย ไปยังสถานีรถไฟท่านาแล้ง เมืองหาดทรายฟอง ส.ป.ป.ลาว เพื่อตรวจสอบสภาพความพร้อมทั้งขบวนรถไฟ รางรถไฟ ก่อนจะมีพิธีเปิดขบวนรถไฟอย่างเป็นทางการขบวนปฐมฤกษ์ในวันที่ 5 มี.ค.นี้ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเป็นองค์ประธาน ร่วมกับ ท่านบุญยัง วอละจิต รองประธาน ส.ป.ป.ลาว
บรรยากาศโดยทั่วไปที่สถานีรถไฟท่านาแล้ง ได้มีการจัดเตรียมกางเต็นท์ผ้าใบ ติดตั้งธงประดับ ติดป้ายต้อนรับผู้ที่มาร่วมงาน นำรถน้ำมาฉีดล้างทำความสะอาดบริเวณโดยรอบทางรถไฟให้สะอาด รวมถึงนำเจ้าหน้าที่ทางการลาวทดลองระบบการตรวจสอบบุคคลเข้าออก ระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ ในห้องทำงานแต่ละแผนกภายในสถานีรถไฟ
ส่วนที่สถานีรถไฟหนองคายนั้น ก็ได้มีการตกแต่งสถานที่ ปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้ โดยมีนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ควบคุมดูแลด้วยตนเอง โดยเฉพาะที่ห้องสมุดการรถไฟ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จ.หนองคาย นำหนังสือในหมวดหนังสือต่างๆ
ทั้งหนังสือพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หนังสือวิชาการ ท่องเที่ยว นวนิยาย เป็นต้น มาจัดเตรียมสำหรับพิธีเปิดห้องสมุดและภายหลังพิธีเปิดในวันที่ 5 มี.ค.นี้แล้ว ก็จะเปิดให้ประชาชนและผู้โดยสารที่รอขึ้นรถไฟได้ใช้บริการห้องสมุดฟรี ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.ทุกวัน
ท่านศรศัก นอยานชนะ รองหัวหน้าองค์การรถไฟลาว กล่าวว่า ขณะนี้ทางลาวได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับพิธีเปิดงานใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว คาดว่า จะไม่มีปัญหา ซึ่งขบวนรถไฟสายนี้นำมาซึ่งความภาคภูมิใจและยินดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับประชาชนชาวลาว เนื่องจากเป็นขบวนรถไฟสายแรกที่เกิดขึ้นในประเทศลาว โดยประเทศไทยมีกิจการรถไฟมานานกว่า 100 ปี แล้ว แต่ลาวเพิ่งจะมีปีนี้เป็นปีแรก
แม้ว่าจะเป็นเส้นทางรถไฟสายที่สั้นที่ในโลกก็ว่าได้ที่มีระยะทางเพียง 3.5 กม.แต่ก็นำมาซึ่งก้าวแรกของการพัฒนา ซึ่งทางการลาวมีแผนที่จะขยายทางรถไฟจากสถานีท่านาแล้งไปอีก 9 กม.จนถึงนครหลวงเวียงจันทน์ จากนั้นจะขยายเส้นทางต่อไปถึงสิงคโปร์ คุนหมิง ท่าแขก ฮานอย จีนตอนใต้ เมื่อเส้นทางดังกล่าวนี้เป็นจริงจะส่งผลให้สิ่งต่างๆ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน ก็จะกระชับและแน่นแฟ้นมากขึ้นด้วย
ภายหลังเปิดใช้รถไฟหนองคาย-ท่านาแล้งแล้ว รองหัวหน้าองค์การรถไฟลาว กล่าวว่า ตั้งความหวังไว้ในด้านการขนส่งสินค้าจะได้สะดวก รวดเร็ว ราคาถูกลงเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางรถยนต์ได้มากถึงร้อยละ 50 อีกทั้งจะทำให้ถนนหนทางไม่ชำรุด เพราะลดปริมาณการขนส่งทางรถยนต์ลงไป
ส่วนอีกด้านหนึ่งที่สำคัญในช่วงแรกการเดินรถจะเป็นขบวนรถไฟโดยสาร ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ต้องการเข้ามาเที่ยวใน ส.ป.ป.ลาว จะมีทั้งระดับสูง และระดับต่ำ สามารถนั่งรถไฟจากกรุงเทพฯมาถึงเวียงจันทน์ได้เลย ทำให้สะดวกสบายมากขึ้น ส่วนภาคการขนส่งสินค้ายังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดขัดปัจจัยหลายด้าน ต้องรอเวลาสักระยะ
ขณะนี้พบว่านักธุรกิจในลาวมีความตื่นตัวกับเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า นักธุรกิจที่ต้องการเดินทางด้วยรถไฟจากหนองคายไปถึงกรุงเทพฯ ต้องจองตั๋วนานถึง 2 สัปดาห์ นั่งรถตอนเย็นถึงตอนเช้าวันถัดไป เมื่อมีขบวนรถไฟนี้แล้วจะทำให้สะดวกขึ้น และในอนาคตอาจจะมีการเพิ่มขบวนรถไฟตู้นอนให้มากขึ้น สำหรับอัตราค่าโดยสารที่สถานีท่านาแล้งจะจัดเก็บนั้นจะคิดเพิ่มจากสถานีหนองคายเล็กน้อย
ทั้งนี้ จะขายตั๋วจากหนองคายถึงท่านาแล้ง ต่อรถยนต์ถึงเวียงจันทน์ ราคาไม่เกิน 100 บาท แต่จะไม่ให้ขายแพงกว่าราคาตั๋วรถยนต์ เนื่องจากต้องการกระตุ้นให้คนใช้บริการรถไฟให้มากขึ้น
สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ประจำสถานีรถไฟท่านาแล้ง ขณะนี้มีจำนวน 8 คน เคยผ่านการฝึกงานในประเทศไทย มาเลเซีย และ อินเดีย มาแล้ว สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที แต่อัตราเต็มจำนวนอยู่ที่ 12 คน ในอนาคตเจ้าหน้าที่จะต้องทำงานให้เป็นมาตรฐานสากล ให้บริการในจุดเดียวเบ็ดเสร็จ และภายหลังพิธีเปิดทางรถไฟอย่างเป็นทางการลาวจะพยายามผลักดันร่วมกันระหว่างไทย-ลาว ให้สามารถให้บริการเดินรถไฟได้ทันที ซึ่งจากการทดลองเดินรถไฟมาแล้ว 8 วัน พบว่ามีคนลาวกระตือรือร้นกับการใช้บริการรถไฟสายนี้เป็นอย่างมาก
ท่านศรศัก นอยานชนะ รองหัวหน้าองค์การรถไฟลาว กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามตำนานคนลาวโบราณเคยพูดว่า เมื่อมีหินฟู งูใหญ่เข้าบ้าน ประเทศชาติจะเจริญ ซึ่งเปรียบหินฟู เป็นสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ส่วนงูใหญ่เปรียบเป็นรถไฟ คนลาวเองก็เชื่อเช่นนั้นว่าเมื่อมีสะพาน และรถไฟจะทำให้ความเจริญก้าวหน้าเข้ามาสู่ประเทศลาว
ด้าน นางทิพสอน จันทวงศ์ นักข่าวหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจสังคม ประจำประเทศลาว กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศลาวไม่เคยมีรถไฟเกิดขึ้นมาก่อน นี่เป็นขบวนรถไฟสายแรกแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเดินทางของคนลาวและคนไทย ทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น โดยเสียงตอบรับเส้นทางรถไฟสายนี้ของคนลาวค่อนข้างดีพอสมควร เพราะไม่ว่าเป็นใครก็ต้องการทดลองนั่งรถไฟดูสักครั้งว่าจะเป็นอย่างไร
ในส่วนของสื่อมวลชนลาวก็จะมีสื่อมวลชนทุกสำนักมาทำข่าวในวันที่ 5 มี.ค.นี้ เพราะเป็นงานใหญ่ งานแรกของการเปิดใช้รถไฟในประเทศลาว ซึ่งตั้งแต่ทราบว่า จะมีโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้สื่อมวลชนลาวก็ติดตามทำข่าวความคืบหน้าของโครงการมาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ ดร.ดุสิต ปราโมทย์จีน รองประธานกรรมการบริษัท เอสทีเอสเอ็นจิเนียริ่งคอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการทดลองเดินรถไฟจากสถานีหนองคาย-สถานีท่านาแล้งหลายครั้ง พบว่าขณะนี้มีความพร้อมสำหรับให้บริการเดินรถแล้ว และแม้ว่าจะเป็นเส้นทางรถไฟสายแรกของลาว แต่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ลาวจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี และพัฒนาคุณภาพให้เป็นมาตรฐานสากล
ในอนาคตจะมีโครงการรถไฟจากสิงคโปร์-คุนหมิง ผ่านประเทศลาว เข้าสู่ประเทศเวียดนาม และประเทศจีน ดังนั้น การพัฒนาทางรถไฟในประเทศลาวคงจะมั่นคงยั่งยืน
สำหรับขบวนรถไฟเพื่อการขนส่งสินค้าคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะให้บริการได้ เนื่องจากรถไฟในประเทศไทยเอง ไม่ว่าจะเป็นสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ก็มีเฉพาะขบวนรถโดยสารเท่านั้น รถสินค้ายังไม่ได้เดิน เพราะทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังไม่มีหัวรถจักรเพียงพอ ซึ่งทางการรถไฟนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติซื้อหัวรถจักร 7-8 หัว งบประมาณ 125 ล้านบาท เมื่อมีหัวรถจักรแล้วก็สามารถใช้ขนส่งสินค้าได้
ดร.ดุสิต กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยได้เข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลลาว โดยให้เงินเปล่าทำการสำรวจออกแบบรายละเอียดขยายเส้นทางรถไฟจากสถานีท่านาแล้งไปถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ระยะทาง 9 กม.ใช้เวลาดำเนินการ 8 เดือน ซึ่งสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) กำลังดำเนินการอยู่ โดยได้เชิญที่ปรึกษาแต่ละบริษัทเสนอรายละเอียด และจะทำการเลือกบริษัทที่ปรึกษา เมื่อออกแบบรายละเอียดเสร็จจึงจะมีการก่อสร้างภายในวงเงินประมาณ 900 ล้านบาท
ส่วนนี้ NEDA จะให้การสนับสนุนงบประมาณในโครงการระยะแรก เป็นเงินให้เปล่าร้อยละ 30 และร้อยละ 70 เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลา 30 ปี โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างขยายเส้นทางรถไฟ 3 ปี หรือประมาณปี 2555 จะแล้วเสร็จสมบูรณ์
นอกจากความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยแล้ว ยังพบว่า รัฐบาลเวียดนามกำลังให้ความสนใจศึกษาออกแบบเส้นทางจากท่าแขกถึงเมืองฮูยา เวียดนาม โดยเคยมีการพูดคุยกันระหว่างไทย, ลาว และเวียดนาม ว่า น่าจะมีการสร้างทางที่สามารถเชื่อมต่อถึงกัน 3 ประเทศ จากหนองคาย-สะหวันนะเขต-เมืองฮูยา ชายแดนเวียดนาม ระยะทางประมาณ 700 กม.