xs
xsm
sm
md
lg

รองเลขาฯนายกฯตรวจความพร้อมรถไฟไทย-ลาว พระเทพฯเสด็จฯเปิด 5 มี.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนองคาย -หนองคาย-รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตรวจความพร้อมการเตรียมการเปิดเดินรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ไทย-ลาว ก่อนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเป็นองค์ประธานเปิดร่วมฝ่ายลาว 5 มีนาคมนี้ ภาพรวมทั้งสองประเทศพร้อมแล้ว ทั้งการเดินรถและการให้บริการ

เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (18 ก.พ.) นายภราดา เณรบำรุง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร พร้อมคณะ ได้สำรวจสถานที่ในพิธีเปิดการเดินรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ไทย-ลาว ณ สถานีรถไฟหนองคาย และสถานีรถไฟท่านาแล้ง บ้านดงโพสี เมืองหาดทรายฟอง กำแพงนครเวียงจันทน์ ส.ป.ป.ลาว โดยฝ่ายไทยมี นายชัยวัฒน์ รัฐขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย, นายวิบูลย์ คูสกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำเวียงจันทน์ ฝ่ายลาว มีท่านเวียงชัย พมมะวัน หัวหน้าแผนกพิธีการ กรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ ส.ป.ป.ลาว นำคณะเข้าร่วมสำรวจสถานที่และประชุมหารือ

ทั้งนี้ รัฐบาลลาวได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเป็นองค์ประธาน ร่วมกับท่านบุนยัง วอละจิต รองประธานประเทศ ส.ป.ป.ลาว ในพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่างประเทศ สายหนองคาย-ท่านาแล้ง โดยจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เวลา 10.10 น.วันที่ 5 มีนาคมนี้ ซึ่งพิธีการจะมีทั้งที่สถานีรถไฟหนองคาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงลั่นระฆังรถไฟเป็นสัญญาณในพิธีเปิดการเดินรถไฟฝั่งไทย และเสด็จฯเป็นองค์ประธานเปิดห้องสมุดการรถไฟ ณ สถานีรถไฟหนองคาย

ก่อนจะเสด็จฯด้วยขบวนรถไฟหนองคาย-ท่านาแล้ง ถึงสถานีรถไฟท่านาแล้ง ทรงประกอบพิธีตัดผ้าแพร ริบบิ้น ปล่อยบอลลูนขนาดใหญ่สู่ท้องฟ้า เป็นสัญญาณพิธีเปิดรถไฟฝั่งลาว

ในการนี้คณะเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้หารือในการเตรียมการรับเสด็จฯ การบริหารจัดการสถานที่ สถานที่รับรอง และชมการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รถไฟ ซึ่งขณะนี้ทั้งด้านอาคาร สถานที่ การให้บริการ รวมถึงความพร้อมของบุคลากรเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีความพร้อมเต็มที่ในการเปิดเดินรถไฟระหว่างประเทศสายนี้แล้ว

สำหรับรถไฟระหว่างประเทศ หนองคาย-ท่านาแล้ง นี้ เมื่อปี พ.ศ.2543 รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้ตระหนักถึงความสำคัญของการขนส่งทางรถไฟ โดยใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ซึ่งได้สร้างทางรถไฟไว้ตรงกึ่งกลางสะพาน ตั้งแต่ครั้งก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จึงได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ก่อสร้างทางรถไฟ จากกึ่งกลางสะพานมิตรภาพเชื่อมต่อกับสถานีหนองคายใหม่ ระยะทางยาว 2.5 กม.

ขณะที่รัฐบาลแห่ง ส.ป.ป.ลาว ก็ได้พยายามผลักดันโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟสายหนองคาย-เวียงจันทน์ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จในรูปแบบของการให้สัมปทานแก่หน่วยงานภาคเอกชนจากประเทศไทย แต่ด้วยภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียเมื่อปี พ.ศ.2540 จึงทำให้โครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายหนองคาย-เวียงจันทน์ ต้องหยุดชะงักลง รัฐบาลไทย จึงได้ให้ความช่วยเหลือแก่ ส.ป.ป.ลาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะใช้สะพานมิตรภาพให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการขนส่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบรายละเอียด โครงการก่อสร้างทางรถไฟจากสะพานมิตรภาพถึง ท่านาแล้ง บ้านดงโพสี ระยะทาง 3.5 กม.เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2543 และออกแบบให้แล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2544 จากนั้นได้ลงนามในสัญญารับการช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลไทยภายในวงเงิน 197 ล้านบาท โดยเริ่มการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.2549 แล้วเสร็จในเดือน เม.ย.2551 ระยะเวลาในการก่อสร้าง 18 เดือน

ในอนาคตรัฐบาลลาวประสงค์ให้รัฐบาลไทยช่วยเหลืองบประมาณสนับสนุนก่อสร้างทางรถไฟจากสถานีท่านาแล้ง ต่อไปอีกประมาณ 9 กม.จนถึงนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการขนส่งสินค้าเข้าสู่นครหลวงเวียงจันทน์ให้สะดวก และรวดเร็วขึ้น

สำหรับขบวนรถไฟสายหนองคาย-ท่านาแล้ง จะให้บริการทุกวัน วันละ 2 เที่ยว คือ เที่ยวเช้า เวลาประมาณ 09.00 น.และช่วงบ่าย เวลาประมาณ 16.00 น.อัตราค่าโดยสาร รถปรับอากาศ ราคา 50 บาท, รถชั้นที่ 2 ราคา 30 บาท และรถชั้นที่ 3 ราคา 20 บาท โดยผู้โดยสารจะต้องทำหนังสือผ่านแดนกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ประจำอยู่ ณ สถานีรถไฟหนองคาย ก่อนทุกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น