xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเดินรถไฟหนองคาย-ท่านาแล้ง 5 มี.ค.ความสำเร็จอีกขั้นของลาวจาก Land lock สู่ Land link

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันที่ 5 มีนาคมนี้ รถไฟขบวนแรก วิ่งระหว่างไทย-ลาว จะเริ่มเดินเครื่อง หลังคนทั้ง 2 ฝั่งรอคอยมานาน
หนองคาย-เส้นทางขนส่งรถไฟระหว่างประเทศ หนองคาย-ท่านาแล้ง สปป.ลาวได้ฤกษ์เปิดใช้อย่างเป็นทางการ วันที่ 5 มี.ค. โดย รัฐบาลลาวกราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดเที่ยวปฐมฤกษ์ ร่วมกับ ท่านบุญยัง วอละจิต รองประธานสปป.ลาว ซึ่งเป็นเวลาที่เฝ้ารอของพี่น้องไทย-ลาว ที่มีความหวังที่จะใช้เส้นทางรถไฟสายนี้ขยายฐานเศรษฐกิจจากไทยสู่ลาว ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านในแถบอินโดจีน โดยเฉพาะการค้าและการท่องเที่ยว


วันที่ 5 มีนาคม 2552 เป็นวันที่ประชาชนทั้งไทยและลาว ต่างปลื้มปีติ หลังจากรอคอยมานาน กับการจะมีเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างจ.หนองคาย-เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จ เป็นองค์ประธานเปิดเที่ยวรถไฟปฐมฤกษ์ ร่วมกับ ท่านบุญยัง วอละจิต รองประธานสปป.ลาว หลังจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่เชื่อมระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ มาตั้งแต่ พ.ศ.2537

เปิดปูมเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์

เส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ หนองคาย-ท่านาแล้ง เป็นโครงการระยะแรกของโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟจากหนองคายถึงนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางรถไฟผ่านทวีปเอเชีย (Trans Asian Railway) ขององค์การสหประชาชาติ ผู้สนับสนุนเงินทุนมาจากสำนักความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) ประเทศไทย ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.2543 รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้ตระหนักถึงความสำคัญของการขนส่งทางรถไฟ ซึ่งได้สร้างรางรถไฟไว้ตรงกึ่งกลางสะพานของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว หลังจากนั้นได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ก่อสร้างทางรถไฟจากกึ่งกลางสะพานมิตรภาพเชื่อมต่อกับสถานีหนองคายใหม่ ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร (กม.)

ขณะที่รัฐบาลลาวก็ได้พยายามผลักดันโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟสายหนองคาย-เวียงจันทน์ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จในรูปแบบของการให้สัมปทานแก่หน่วยงานภาคเอกชนจากประเทศไทย แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในภูมิภาคเอเชีย เมื่อ พ.ศ.2540 จึงทำให้โครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายนี้ ต้องชะงักลง รัฐบาลไทยจึงได้ให้ความช่วยเหลือแก่ สปป.ลาว ด้วยการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบรายละเอียด โครงการก่อสร้างทางรถไฟจากสะพานมิตรภาพ- ท่านาแล้ง บ้านดงโพสี เมืองหาดทรายฟอง ระยะทาง 3.5 กม. เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2543 และออกแบบให้แล้วเสร็จ เมื่อเดือนมีนาคม 2544

จากนั้นได้ลงนามในสัญญารับการช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลไทย ภายในวงเงิน 197 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 30 เป็นเงินช่วยเหลือให้เปล่า ส่วนอีกร้อยละ 70 เป็นเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำมาก่อสร้างโครงการ โดยเริ่มการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.2549 แล้วเสร็จในเดือน เม.ย.2551 ระยะเวลาในการก่อสร้าง 18 เดือนและในอนาคตรัฐบาลลาวประสงค์ให้รัฐบาลไทยช่วยเหลืองบประมาณสนับสนุนก่อสร้างทางรถไฟจากสถานีท่านาแล้ง ต่อไปอีกประมาณ 9 กม. จนถึงนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการขนส่งสินค้าเข้าสู่นครหลวงเวียงจันทน์ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น
เส้นทางหนองคาย-ท่านาแล้ง เวียงจันท์ สปป.ลาว ระยะทางแค่ไม่เกิน 3 กิโลเมตร แต่มีความสำคัญมากในการเป็นจุดเริ่มต้น ของการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าในภูมิภาคนี้
ช่วงระหว่างก่อนการก่อสร้างทางรถไฟ ทางการลาวต้องบุกเบิกเขตป่า โยกย้ายสิ่งกีดขวางออกจากแนวทางรถไฟ พร้อมทั้งอพยพบ้านเรือนประชาชนบ้านดงโพสี จำนวน 3 ครอบครัวออกจากพื้นที่ โดยองค์การทางรถไฟลาวได้ใช้งบประมาณของรัฐชำระค่าโยกย้ายบ้านเรือน มูลค่า 15 ล้านกีบ และมอบข้าวสารเจ้าจำนวน 8.41 ตัน ซึ่งใช้เงินงบประมาณชดเชยของรัฐ มูลค่า 24,390,800 กีบ จัดซื้อ มอบชดเชยให้กับประชาชน 8 ครอบครัวของบ้านดงโพสีที่มีแปลงนาถูกแนวทางรถไฟตัดผ่าน

รวมถึงการชดเชยที่ดินของประชาชน 26 แปลง เนื้อที่ 9,893 ตารางเมตร มูลค่าประมาณ 197,860,000 กีบ

ดร.สมปอง พลเสนา รองหัวหน้าห้องการองค์การรถไฟลาว เปิดเผยว่า ทางรถไฟสายนี้นับว่าเป็นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ชาติลาว เป็นการรอคอยอันยาวนานกว่าที่จะมีวันนี้ เดิมทีกิจการรถไฟของลาวเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1994 แต่ติดขัดหลายประการทำให้กิจการรถไฟหยุดชะงัก และเมื่อรถไฟระหว่างประเทศหนองคาย-ท่านาแล้ง เปิดใช้เดินรถไฟอย่างเป็นทางการ ทำให้ชาวลาวภาคภูมิใจกับทางรถไฟสายนี้อย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเส้นทางรถไฟสายแรกที่เกิดขึ้นในประเทศลาว

รถไฟสายนี้ไม่เพียงแค่ส่งเสริมการค้า การขนส่ง การท่องเที่ยวระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์กับจังหวัดหนองคายเท่านั้น ยังเป็นการขยายการคมนาคมทางรถไฟในระดับอาเซียน ที่มีความสำคัญต่อภูมิภาค ประชาชนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้รับความสะดวกสบาย สามารถไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนสินค้ากันและกันได้ดียิ่งขึ้น

อีกทั้งทำให้การพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งของ สปป.ลาวเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จะส่งผลให้ประเทศลาวเป็นประเทศที่สามารถให้บริการการคมนาคมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้อย่างรอบด้าน เป็นการเปิดประตูต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม กัมพูชา และจีน เป็นการปลดแอกจากการเป็นประเทศที่เป็น Land Lock มายาวนาน

ในอนาคตทางการลาวมีแผนที่จะพัฒนาตัวเองเป็นฐานรองรับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ทันสมัย เส้นทางรถไฟสายนี้จะเป็นแรงดึงดูดการลงทุนในประเทศลาวให้มากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจของไทย-ลาว และนานาประเทศในภูมิภาคนี้ให้ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งในส่วนของรัฐบาล สปป.ลาว ได้จัดเตรียมพื้นที่รอบสถานีรถไฟท่านาแล้งจัดทำเป็นศูนย์ธุรกิจการค้าครบวงจร

เช่นเดียวกับนายกวี กิตติสถาพร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ระบุว่า ในส่วนของประเทศไทย นอกจากจะได้ประโยชน์ในการขนส่งสินค้าไปประเทศลาวในระบบรางแล้ว จะต้องมีการวางแผนโลจิสติกส์อย่างเป็นระบบ โดยเน้นการขนส่งประหยัดพลังงาน การเชื่อมต่อระบบขนส่งจากรถไฟหนองคาย-ท่านาแล้ง ขนส่งสินค้าต่อไปจนถึงท่าเรือซึ่งมีอยู่หลายแห่ง ทำให้ท่าเรือของไทยเป็น Gateway ของอินโดจีนไปยังประเทศที่สาม นอกจากนี้

ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวก็
จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย

สถานีท่านาแล้ง ของลาว พร้อมที่จะต้อนรับผู้คนและสินค้า ที่ผ่านเข้ามาจากหนองคาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ภายหลังการเปิดใช้บริการรถไฟสายหนองคาย-ท่านาแล้ง ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางด้วยรถไฟ จะต้องทำหนังสือผ่านแดน หรือบัตรผ่านแดน (Border Pass) เช่นเดียวกับการเดินทางด้วยรถยนต์ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว โดยจังหวัดหนองคายจะจัดเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่ของอำเภอเมืองหนองคายให้บริการทำบัตรผ่านแดน ณ สถานีรถไฟหนองคายเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง นอกเหนือจากจุดให้บริการเดิมที่ศูนย์จำหน่ายสินค้าโอทอป ศูนย์ราชการจังหวัดหนองคาย และที่ว่าการอำเภอเมืองหนองคาย พร้อมทั้งจะมีการจัดชุดปฏิบัติการเพื่อป้องกันรักษาความมั่นคง ป้องกันการลักลอบกระทำความผิดกฎหมาย ทั้งอาชญากรรมและสิ่งเสพติด อัตราค่าโดยสาร รถปรับอากาศ ราคา 50 บาท, รถชั้นที่ 2 ราคา 30 บาท และรถชั้นที่ 3 ราคา 20 บาท

ส่วนค่าระวางสินค้าเป็นไปตามธรรมเนียมร่วมกันของไทยและลาว โดยจะมีตู้รถไฟบริการ 17 ตู้ ขบวนรถไฟจะให้บริการทุกวัน วันละ 2 เที่ยว คือ ช่วงเช้า เวลาประมาณ 09.00 น. และช่วงบ่ายเวลาประมาณ 16.00 น. ระหว่างที่ขบวนรถไฟจะผ่านกลางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว นั้น เจ้าหน้าที่จะปิดการเดินรถยนต์ ห้ามรถยนต์สัญจรเป็นเวลานานประมาณ 15-20 นาที

ทั้งนี้ เคยมีคำกล่าวจากนักปราชญ์ชาวลาว เล่าสืบต่อกันมาจากอดีตจนถึงทุกวันนี้ว่า เมื่อใดก็ตามที่มีหินฟู และงูใหญ่ข้ามแม่น้ำโขง เมื่อนั้นลาวจะเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เปรียบหินฟูก็คือสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ส่วนงูใหญ่ก็คือรถไฟ และสองสิ่งที่กล่าวไว้ ณ วันนี้เป็นจริงแล้ว

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เปิดใช้งานมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 ส่วนรถไฟข้ามแม่น้ำโขงก็เริ่มเดินเครื่องวันที่ 5 มีนาคมนี้ ทันทีที่เส้นทางรถไฟสายนี้เปิดให้บริการ จะทำให้ความหวังของคนลาวในการก้าวสู่ยุคสดใสรุ่งเรืองกว่าเดิม ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังรุมเร้า
กำลังโหลดความคิดเห็น