อุบลราชธานี-นักวิจัยลุ่มน้ำร่วมวิเคราะห์ปัจจัยการแก้ปัญหาน้ำมาก น้ำน้อย น้ำเสีย จังหวัดอุบลราชธานีไม่ไปไหน เพราะการเมืองดึงเกม แนะต้องนำการบริหารทรัพยากรน้ำเข้าแผนพัฒนาฉบับหน้า เพื่อเป็นแรงผลักดัน ด้านหมอนิรันดร์ นักสิทธิชุมชนเน้นชาวบ้านร่วมป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายน้ำ
ที่ห้องบัวทิพย์ 1 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี จัดประชุมค้นหารูปแบบความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและเสวนาการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำประมาณ 60 คน
นายพรชัย โควสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า หน่วยงานจัดการทรัพยากรน้ำมีมาก แต่ไม่ได้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งที่เวลาประชาคม ชาวบ้านอยากได้น้ำ แต่พอผ่านผู้แทนที่ไรได้ถนนกลับมาทุกที จึงมีความเห็นว่าการรวมตัวของประชาชนสร้างความเข้มแข็งเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่ให้นโยบายข้างบนมาครอบงำ ต้องทำในสิ่งที่ชาวบ้านอยากทำ จึงสามารถช่วยแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำได้
ด้าน ดร.อินธิรา ซาฮีร์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความเห็นด้วยกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่หน่วยงานจัดการน้ำไม่มีเอกภาพ แม้มีเงินใช้จ่ายมาก แต่ไม่บูรณาการแผน และควรใช้ จ.อุบลราชธานี เป็นต้นแบบลองบริหารร่วมกัน เพราะ จ.อุบลราชธานี เป็นจังหวัดปลายน้ำกลายเป็นที่รวมของน้ำเสียมาจากทุกที่ ถ้ามีการวางแผนทำงานแบบบูรณาการน้ำทั้งระบบน่าจะแก้ปัญหาได้
ขณะเดียวกันนายวิสูตร อยู่คง นักวิชาการป่าไม้ เสนอให้มีกระบวนการจัดการป่าทามในเขตบ้านวังยางให้เกิดประโยชน์ เพราะเป็นป่าทามขนาดใหญ่สามารถใช้เป็นแหล่งกรองน้ำเสียในแม่น้ำมูล แม่น้ำชีได้เป็นอย่างดี หากประกาศให้พื้นที่เป็นแหล่งชุ่มน้ำระดับจังหวัดจะเป็นอานิสงส์ของจังหวัด เพราะสามารถใช้พื้นที่ช่วยแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำได้ระดับหนึ่ง
สำหรับนายสมาน มานะกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.อุบลราชธานี ระบุว่า หลายครั้งมีการออกแบบบริการทรัพยากรน้ำ ร่วมกับนักวิจัย ร่วมกับชาวบ้าน มีการลงดูพื้นที่ควรทำ หรือไม่ควรทำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อขออนุมัติงบประมาณ แต่นักการเมืองไม่เอาด้วย เพราะต้องการเอางบประมาณไปใช้ในพื้นที่ที่มีหัวคะแนนอยู่ การบริหารจัดการน้ำเลยไม่ตรงจุดประสงค์
จึงต้องช่วยกันคิดจะดำเนินแผนให้ตรงกับกลุ่มผู้ต้องใช้น้ำจริงๆได้อย่างไร และมีความเห็นต้องร่วมกันผลักดันให้การบริหารจัดการน้ำเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาแห่งชาติฉบับหน้า เพื่อให้การแก้ปัญหาได้ตรงจุดยิ่งขึ้นด้วย
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า นักวิชาการ ข้าราชการ ชาวบ้าน สื่อ ต้องมาร่วมมือกันถึงสามารถจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนได้ หมดเวลาของการก่อม็อบประท้วงขัดแย้งรุนแรงแล้ว ต้องมาเน้นสิทธิชุมชน เพื่อเป็นการ”ป้องกัน” ไม่ให้เกิดการ”ทำลาย”ทรัพยากร กรรมการสิทธิฯก็จะทำหน้าที่นี้ เสนอให้ สกว.เป็นเจ้าภาพ คนในพื้นที่เป็นเลขาฯขับเคลื่อน เชื่อมทุกภาคส่วนมาช่วยกัน จึงสามารถจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน
นอกจากการจัดเสวนาเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำ ยังมีการนำเสนอผลงานการไขปัญหาน้ำตามชุมชน โดยใช้แนวคิดผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ การใช้ระบบผันน้ำแอร์แว ของชาวบ้านผาชัน อ.โพธิ์ไทร ซึ่งได้รับรางวัลโครงการวิจัยดีเด่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ให้ผู้สนใจได้ชมด้วย