พะเยา – ชาวสวนยางพะเยา/เชียงราย ตีกันรัฐย้ายที่ตั้งโครงการตลาดกลางจาก “ภูซาง-พิษณุโลก” เข้ากำแพงเพชร ย้ำ “ไม่ยอมแน่” หลังพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แถมเริ่มกรีดมานานนับ 10 ปี แต่ไร้จุดรับซื้อ ต้องพึ่งเอกชนเป็นหลัก ทำให้ถูกหักค่าขนส่ง-กำไร สูงถึง 5-6 บาท/กก.
แม้ว่าโครงการก่อสร้างตลาดกลาง หรือจุดรับซื้อและแปรรูปยางพาราในภาคเหนือของคณะกรรมการบริหารองค์การสงเคราะห์สวนยาง (อสย.) หรือ บอร์ด อสย. ที่ก่อนหน้านี้วางแผนสร้างที่ ต.เชียงแรง อ.ภูซาง จ.พะเยา และพิษณุโลก แต่ละแห่งจะใช้งบประมาณก่อสร้างเบื้องต้นแห่งละประมาณ 2 ล้านบาทจะยังไม่แน่นอนก็ตาม โดยมีกระแสว่าอาจจะย้ายไปสร้างที่กำแพงเพชรนั้น แกนนำชาวสวนยางเชียงราย-พะเยา ยังคงเชื่อมั่นว่าตลาดกลางยางพาราจะเกิดในภาคเหนือแน่นอน
นายชาญ ไชยเจริญ ประธานเครือข่ายยางพารา องค์การสวนยาง (อสย.) จ.เชียงราย เปิดเผยว่า เชื่อว่าเชื่อว่าท้ายที่สุดรัฐบาลโดยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ หรือแม้แต่ อสย.ก็จะต้องสร้างตลาดกลางที่ภาคเหนือให้ได้ เนื่องจากในปัจจุบันในภาคเหนือยังไม่มีตลาดกลางและโรงงานรมควันเลยแม้แต่แห่งเดียว ทำให้ชาวสวนต้องไปใช้บริการจากเอกชนทั้งหมด
นายชาญกล่าวอีกว่า หากไม่สร้างตลาดกลางชาวสวนก็ต้องขายให้กับพ่อค้าคนกลางไปตลอด ซึ่งเป็นธรรมดาที่พ่อค้าคนกลางจะต้องหักค่าขนส่ง ค่าจ้าง ค่าวัสดุอุปกรณ์ ภาษี ฯลฯ รวมทั้งการแสวงผลกำไร ซึ่งหากมีราคาห่างจากราคากลางหรือราคาที่เหมาะสมประมาณ 3 บาท ก็พอรับได้แต่หากมากกว่านี้ชาวสวนก็จะต้องลำบาก
“อยากให้มีการจัดตั้งตลาดกลางในพื้นที่โดยเร็ว และในส่วนของ อสย.เชียงราย ก็จะมีการจัดทำโครงการเพิ่มเติมด้วยการผลักดันให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดตั้งโรงงานยางแผ่นรมควันที่ อ.แม่จัน ศูนย์กลางของจังหวัด เพื่อจะได้ส่งออกไปยังจีนตอนใต้ทางเรือแม่น้ำโขงได้โดยสะดวกควบคู่กับการผลักดันให้มีการตั่งด่านส่งออกยางพาราที่ด่านพรมแดนด้วย”
ด้าน นายสาย อิ่นคำ ประธานเครือข่ายยางพารา สำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยาง (สกย.)และองค์การสวนยาง (อสย.) จ.พะเยา กล่าวว่า ตัวแทนชาวสวนยางพาราในพื้นที่เชียงรายและพะเยาไม่พอใจอย่างมาก หากมีการย้ายสถานที่สร้างโรงงานแปรรูปน้ำยางพาราออกไปจากพื้นที่เดิม เพราะปัจจุบัน ต.เชียงแรง ถือว่ามีความพร้อม กว้างขวางและอยู่ใกล้แหล่งปลูกยางพาราหนาแน่น รวมทั้งอยู่ติดถนนสายเชียงราย-เชียงคำ ทำให้การคมนาคมสะดวก นอกจากนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ภูซาง ได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่บริเวณสนามกีฬากลางของตำบลแล้วประมาณ 10 ไร่
“พะเยา ถือว่าภูซาง-เชียงคำ เป็นแหล่งปลูกยาง มีสวนยางเกิดขึ้นแล้วประมาณ 50,000 ไร่ สามารถกรีดยางมานานกว่า 10 ปีแล้ว และยังมีแนวโน้มปลูกเพิ่มอีกมาก ซึ่งตลาดกลางหรือจุดรับซื้อ มีความจำเป็นมาก หากมีการสั่งระงับ หรือย้ายที่ตั้งจะกระทบต่อชาวสวนมาก ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นพากเราคงไม่ยอมแน่”
ด้าน สำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยาง จ.เชียงราย แจ้งว่า เชียงราย มีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด 108,000 ไร่ คาดว่าปี 2555 จะขยายไปถึงกว่า 200,000 ไร่ สำหรับยางพาราตามโครงการส่งเสริมของรัฐคือโครงการ 1 ล้านไร่มีประมาณ 60,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นรุ่นแรกที่ปลูกตั้งแต่ปี 2547-2548 และโครงการผู้ว่าซีอีโอประมาณ 20,000 ไร่ ที่เหลืออยู่นอกโครงการ ปัจจุบันชาวสวนมีการกรีดน้ำยางพาราออกมาจำหน่ายแล้วประมาณ 2,000-3,000 ไร่ ได้ผลผลิตปีละ 750,000 กิโลกรัม คาดว่าเมื่อถึงปี 2555 จะกรีดน้ำยางได้กว่า 30,000 ไร่
สำหรับราคายางพาราที่ จ.เชียงราย และพะเยา ใช้ฐานราคากลางที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แต่เนื่องจากไม่มีโรงงานรมควันจึงต้องส่งไปยังแหล่งรมควันและส่งออกที่ใกล้ที่สุดคือที่ จ.ระยอง ทำให้จำหน่ายในราคาต่ำกว่าราคากลางประมาณกิโลกรัมละ 6-7 บาท แต่ในอนาคตนอกจากโครงการดังกล่าวจะทำให้เกิดตลาดรวมผลผลิตยางพาราและแปรรูปแล้ว ทางสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย และสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กำลังผลักดันให้มีการตั้งด่านตรวจยางพาราที่ชายแดนเชียงราย เนื่องจากมีเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและทางเรือไปยังจีนตอนใต้ด้วยระยะทางเพียงประมาณ 250 กิโลเมตรด้วย