xs
xsm
sm
md
lg

Commodity Corner:เตรียมความพร้อมกับโครงการ "AFET Futures Trading Challenge 2009"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นับตั้งแต่วันนี้เหลือเวลาอีกเพียง 2 วันก็จะถึงวันปิดรับสมัครการแข่งขัน "ซื้อขายล่วงหน้าเสมือนจริง" หรือ "AFET Futures Trading Challenge 2009" แล้วนะคะ การแข่งขันดังกล่าวนั้นจัดขึ้นโดยตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสทดลองซื้อขายด้วยตนเอง

ดังนั้นในสัปดาห์นี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมก่อนลงสนามจริง เราลองมาทำความรู้จักกับสินค้าที่มีการซื้อขายล่วงหน้า ใน AFET กันก่อน ผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจจะเคยสงสัยว่า ถ้าหากตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม จะเข้ามาทำการซื้อขายเพื่ออะไร ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลข่าวสารที่เราพบเห็นจากสื่อต่างๆ ล้วนมีผลให้ราคาสินค้าเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดเวลาเช่นเดียวกับ น้ำมัน และทองคำนั่นเอง

สินค้าตัวแรกที่จะแนะนำนั้น คือยางพารา ซึ่งเป็นพระเอกใน AFET หลายท่านคงทราบดีว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราอันดับ 1 ของโลก หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 34 ของปริมาณผลผลิตยางพาราของโลก สำหรับยางที่มีการซื้อขายใน AFET เป็นยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) ที่อัดก้อนหรือคนในวงการเรียกว่า อัดเบล (Bale) เนื่องจากเป็นยางคุณภาพส่งออกภายใต้มาตรฐาน Green Book ยางชนิดนี้จะถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตล้อรถยนต์เป็นหลัก ที่เหลือจึงนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ส้นรองเท้า ท่อยาง และชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น

สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคายางพาราสามารถแบ่งได้เป็น ปัจจัยระยะสั้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน และค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ ส่วนปัจจัยระยะยาวนั่นก็คืออุปสงค์อุปทานของยางพารา (Demand-Supply) โดยรายละเอียดของปัจจัยต่างๆ มีดังนี้

1. ราคาน้ำมัน เนื่องจากยางสังเคราะห์ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ทดแทนยางพารานั้นเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ ดังนั้นถ้าหากว่าราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ก็จะทำให้ราคายางสังเคราะห์ปรับตัวสูงขึ้น ด้วย ซึ่งโรงงานผู้ผลิตที่ใช้ยางสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบก็จะหันไปใช้ยางพาราทดแทน ทำให้ความต้องการยางพาราเพิ่มสูงขึ้น ราคาของยางพาราก็จะปรับตัวสูงขึ้นด้วย (ราคาน้ำมันและราคายางพาราปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน)

2. ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ ในปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศ เราใช้เงินสกุลดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลัก ดังนั้น เมื่อค่าเงินดอลล่าร์อ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่น ก็จะทำให้ราคายางในรูปเงินสกุลอื่นปรับตัวลดลง (ค่าเงินดอลล่าร์ปรับตัวทิศทางตรงกันข้ามกับราคายางพารา)

3. อุปสงค์ของยางพารา ผลกระทบจาก วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ของสหรัฐในช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมา ทำให้ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างมาก ซึ่งหลายบริษัทต้องปลดพนักงานออกเพื่อประหยัดต้นทุนของตน จากเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้ทำให้อุปสงค์ (Demand) หรือความต้องการใช้ยางพาราเพื่อนำไปผลิตยางล้อลดลง ท้ายที่สุดแล้วราคายางพาราในช่วงนั้นก็ค่อยๆ ปรับตัวลดลงจาก 100 บาท/กก. เหลือเพียง 40 บาท/กก.

4. ปริมาณผลผลิต รวมไปถึงนโยบายการต่างๆ ของผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลกก็จะส่งผลต่ออุปทานยางพารา เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทร่วมทุนยาง 3 ประเทศ (IRCO) (เป็นการร่วมทุนระหว่าง ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกขายยางไม่ต่ำกว่าราคาเอฟโอบี (FOB) โดยห้ามขายยางแท่ง STR 20 ต่ำกว่า 1.35 USD/กก. พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรตัดโค่นสวนยางเก่าหรือต้นยางพาราที่มีอายุมากรวม 1.06 ล้านไร่ โดยไทยต้องลดพื้นที่การผลิต 2 ส่วน อินโดนีเซีย 1.5 ส่วน และมาเลเซีย 1 ส่วน ผลดังกล่าวคาดว่า จะทำให้อุปทาน (Supply) หรือปริมาณผลผลิตยางในปีนี้ลดลง 215,000 ตัน

จากปัจจัยต่างๆ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น ดูเหมือนง่ายที่จะคาดการณ์แนวโน้มของสินค้าเกษตรในอนาคต แต่ในความเป็นจริงปัจจัยต่างๆ อาจจะไม่ได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป ซึ่งหากท่านใดสนใจที่จะเข้าสามารถสมัครเข้ามาทดลองซื้อขายล่วงหน้าก่อนได้ ในโครงการ AFET Futures Trading Challenge 2009 ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน www.afet.or.th แล้วจะพบว่าการลงทุนในสินค้าเกษตรก็เป็นการลงทุนอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น