xs
xsm
sm
md
lg

เร่งกู้วิกฤต “ยางพารา” ดันตลาด AFET ใช้สต๊อกคุมราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐ-เอกชน ร่วมแก้วิกฤตราคายางพาราตกต่ำ สมาคมยางฯ เสนอตั้งเกณฑ์ราคาขั้นต่ำ 1,200 ดอลลาร์/ตัน ลดราคาปุ๋ย เตรียมใช้ราคาในตลาด AFET แทนการกำหนดจากญี่ปุ่น “พาณิชย์” แนะใช้ระบบสตอกคุม 7 แสนตัน เพื่อรอจังหวะราคาดี

นายหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวในงานสัมมนาผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จากวิกฤตยางพาราตกต่ำ วันนี้ โดยกล่าวถึงสถานการณ์ราคายางพาราที่กำลังตกต่ำลงต่อเนื่อง ซึ่งแนวทางการแก้ไขหลังจากหารือร่วมกับประเทศผู้ผลิตหลัก ทั้ง ไทย อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย พร้อมเสนอตั้งเกณฑ์ปรับราคายางพารา ไม่ควรต่ำกว่าตันะละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงการจำกัดการส่งออก ประเทศละ 7 แสนตัน ภายใน 1 ปี เพื่อให้ยางเข้าสู่ตลาดลดน้อยลง ซึ่งมาตรการดังกล่าว ช่วยให้ยางพาราปรับตัวดีขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลควรดูแลปัจจัยการผลิต โดยลดราคาปุ๋ยยูเรียให้เหลือกระสอบละ 400-500 บาท และในอนาคต อาจจะมีการใช้ราคายางในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) แทนการกำหนดราคาจากญี่ปุ่น

พร้อมกันนี้ คาดการณ์ราคายางในตลาด AFET ปีหน้าอยู่ที่ระดับ 30-60 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนในตลาดที่ซื้อขายกันจริงนั้น ราคายางจะตกกิโลกรัมละ 28-55 บาท ส่วนราคายางจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีหน้า ขณะที่มูลค่าการส่งออกในปีหน้านั้น น่าจะตกอยู่ที่ประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากปีนี้ 30-40%

นายสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวว่า ราคายางที่ลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการและเกษตรขาดความเชื่อมั่นต่อตลาด นอกจากนั้นยังมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้กว่า 1 ล้านครัวเรือน หรือตกประมาณ 6 ล้านคน

นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลกระทบจากวิกฤตยางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลชุดก่อนไม่มีการเตรียมรับมือสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า กลไกต่างๆ จึงไม่สามารจัดการได้ทันเวลา ซึ่งวิธีแก้ไขเบื้องต้น คือ การขีดเส้นราคายางพาราต่ำสุด ที่เกษตรกรรับได้ และหากเมื่อถึงจุดนั้นจริง ก็จะต้องหาแนวทางวิธีการต่างๆ ไม่ให้ราคาลดต่ำลงมา เพื่อเรียกความเชื่อมั่น

ส่วนระยะยาว ต้องมีการจัดระบบโครงสร้างราคายางให้ที่มีความชัดเจน และหากเกิดปัญหาราคายางตกต่ำ ก็จะต้องมีผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ การหยุดการผลิตคงไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง จึงควรผลิตตามปกติ หรือ ลดลงมาเพียงเล็กน้อย และใช้วิธีการเก็บสต๊อกสินค้า รอเวลาราคายางดี จึงออกมาขาย ซึ่งปริมาณที่สตอกควรอยู่ที่ประมาณ 6-7 แสนตัน นอกจากนี้ จะต้องเร่งฟื้นตลาดต่างประเทศ ให้กลับมาเหมือนก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลก

นายอำพล กิจไพฑูรย์ หัวหน้าผู้ตรวจการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กล่าวว่า เนื่องจาก ราคายางพาราปัจจุบัน มีการปรับตัวลดลง กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยางปรับตัวไม่ทัน และเกษตรกรส่วนใหญ่มีเงินทุนหมุนเวียนไม่มากนัก รัฐบาลจึงควรเข้ามาให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นแรงงานการกรีดยาง ราคาปุ๋ย รวมทั้ง ยาปราบวัชพืช

สำหรับในด้านของผู้ส่งออก ภาครัฐก็ควรให้ความช่วยเหลือของแหล่งเงินกู้ เพื่อผู้ส่งออกจะได้นำเงินมาซื้อยางพาราล๊อตใหม่ นายอำพล ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลควรมีนโยบายการจัดตั้งกองทุนรักษาระดับยางพารา หากมีการเริ่มใช้จะสามารถนเงินส่วนนี้เข้ามาแทรกแซง และพยุงราคายางพาราไว้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น