xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ตรังประชุมแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตรัง – ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับสถานการณ์การตลาดยางพารา ในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว

วันที่ (19 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมพระยารัษฎา ศาลาจังหวัดตรัง ชั้น 5 นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร อันเนื่องมาจากราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคายางพารา โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม กว่า 50 คน ประกอบด้วย นายอำเภอทั้ง 10 อำเภอ พาณิชย์จังหวัด การค้าภายใน เกษตรและสหกรณ์การเกษตร เกษตรจังหวัด สหกรณ์การเกษตรทุกอำเภอ ตัวแทนองค์การบริหาส่วนท้องถิ่นในจังหวัดตรัง และกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)

ทั้งนี้ ได้มีการรายงานสถานการณ์การตลาดยางพาราในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว จึงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทย เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีการชะลอการสั่งซื้อและรับมอบยางพารา ทำให้ราคายางพาราขายล่วงหน้าในประเทศญี่ปุ่นปรับตัวลดลง ดังนั้น ทำให้ราคายางพาราในประเทศไทยปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี คือ ช่วงระหว่างวันที่ 8-12 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา โดยขณะนั้นราคายางพาราแผ่นดิบคุณภาพ 3 อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 28-30 บาท และน้ำยางสดมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 25-27 บาท

จากนั้น เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม หลังจากการประชุมของผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย มีมติลดปริมาณการส่งออกยางพารา เป็นจำนวน 915,000 ตัน และจะไม่ขายยางพาราต่ำกว่า 135 เซ็นต์สหรัฐต่อกิโลกรัม และมีมติแทรกแซง ซื้อยางพาราออกจากตลาดจำนวน 200,000 ตัน เพื่อเป็นการพยุงราคาไม่ให้ตกต่ำลงไปอีก จึงทำให้ผู้ประกอบการเกรงราคาจะเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงมีการเตรียมสต๊อกไว้ล่วงหน้า ทำให้เป็นปัจจัยที่ราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้น เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ราคายางพาราปรับเพิ่มสูงขึ้นอีก 4-5 บาท โดยยางพาราแผ่นดิบอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 32-33 บาท น้ำยางสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 28-30 บาท

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการ ได้มีการเสนอแนวทางในการแก้ไข จำนวน 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การแทรกแซงราคายางพารา หรือการประกันราคายางพาราแผ่นดิบขั้นต่ำกิโลกรัมละ 55 บาท โดยทางจังหวัดจะมีการเสนอไปยังรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณา และกำหนดกฎเกณฑ์ กลไก และการบริหารจัดการที่มีคุณภาพในการแทรกแซง โดยมีการติดตามกำกับดูแลอย่างถูกต้องตามกฎหมายแทรกแซง

2.การรวบรวมยางพาราแผ่นดิบจากเกษตรกรและยางแผ่นรมควัน โดยการจัดเก็บในโกดังเพื่อเป็นการชะลอการขาย 3.รวบรวมยางพาราแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันเพื่อผลิตเป็นยางอัดก้อนแล้วจัดเก็บไว้ในโกดังเพื่อชะลอการขาย และ 4.วางมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบแก่เกษตรกรชาวสวนยางพารา มีปัญหาภาระค่าครองชีพไม่เพียงพอ โดยมอบหมายให้หน่วยการที่เกี่ยวข้อง เช่น ปศุสัตว์จังหวัด และประมงจังหวัด เข้ามาดูแลเกี่ยวกับอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร

นอกจากนั้น ในที่ประชุมมีมติให้สหกรณ์การเกษตรรับซื้อผลผลิตยางพาราแก่เกษตร ในราคาตลาดกลางหาดใหญ่ และในส่วนเกษตรกรชาวสวนยางพารา จะมีการรณรงค์ให้โค่นยางเก่าที่หมดสภาพ เพื่อปลูกยางพันธุ์ดีทดแทน ด้วยการของรับการสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และเกษตรกรควรหันกลับมาทำยางแผ่นมากกว่าการขายน้ำยางสด เนื่องจากสามารถเก็บไว้ได้นาน เพื่อรอให้ราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้น จากนั้นค่อยจำหน่าย ส่วนแนวทางการแก้ไขทั้ง 4 แนวทางนั้น ต้องรออนุมัติจากส่วนกลางต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น