xs
xsm
sm
md
lg

ระดมชาวสวนยาง 15 จว.เหนือหนุนตั้งศูนย์รับซื้อ 3 จุด ดันราคาเท่าตลาดกลางหาดใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประธาน ดวงพัตรา ปลัดจังหวัดพิษณุโลก พิธีเปิดโครงการ สนับสนุนสถาบันเกษตรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่าเพื่อแก้ไขปัญหา ราคายางพาราตกต่ำ
พิษณุโลก - องค์การสวนยางเร่งขยายเครือข่ายผู้ปลูกยางพาราภาคเหนือ 15 จังหวัด จัดงบตั้งศูนย์รับซื้อที่วัดโบสถ์ สองแคว, กำแพงเพชร, ภูซาง –พะเยา หวังแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างยั่งยืน แต่ขอชะลอตั้งโรงงานแปรรูปยางแผ่นที่พะเยา-โรงงานน้ำยางข้นที่สองแคว เหตุผลผลิตยังไม่เพียงพอ

วันนี้ (25 ม.ค.53) ที่โรงแรมลาพาโลมา อ.เมืองพิษณุโลก องค์การสวนยาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดประชุมโครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่า เพื่อแก้ไขปัญหา ราคายางพาราตกต่ำ ตามมติครม.โดยเชิญเครือข่ายผู้ปลูกยางพารา 15 จังหวัดภาคเหนือ เข้ารับฟังการชี้แจงและบรรยาย “แนวทางการพัฒนาตลาดยางพาราในภาคเหนือ”

นายปัณณวิชญ์ วงศ์สุวัฒน์ หัวหน้าสำนักผู้อำนวยการ องค์กรสวนยาง กล่าวว่า เป้าหมายคณะกรรมการฯกำหนดว่าราคายางพาราไม่ควรต่ำกว่ากิโลกรัมละ 80 บาท เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐ จึงจัดประชุมเครือข่ายผู้ปลูกยางพาราทุกภาค เริ่มตั้งแต่จังหวัดฉะเชิงเทรา, ภาคอีสาน และพิษณุโลกเป็นครั้งที่ 4 โดยดึงเครือข่ายเกษตรกร 15 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อจัดตั้งสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่า แก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

นายปัณณวิชญ์ เปิดเผยอีกว่า อสค.เคยระบุไว้ว่า จะจัดตั้งโรงงานแปรรูปยางแผ่นที่จังหวัดพะเยา และจัดตั้งโรงงานน้ำยางข้นที่พิษณุโลก แต่วันนี้จะต้องชะลอโครงการออกไปก่อน เพราะยังไม่มีน้ำยางป้อนตลาดเพียงพอ จึงต้องหันมาดำเนินการจัดตั้งสถาบันเกษตรกรแปรรูปยาง และจัดตั้งศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพารา คือ ยางแผ่นและยางก้นถ้วย เบื้องต้นจัดงบให้ 2 ล้านบาท เพื่อก่อตั้งศูนย์รับซื้อที่จังหวัดพิษณุโลก, กำแพงเพชร และ อ.ภูซาง จ.พะเยา พร้อมอัดฉีดเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการรับซื้อผลผลิตยาง ไม่ให้ราคายางตกต่ำ

พ.อ.(พิเศษ) สราวุธ จันทโณ (นอกราชการ) ประธานเครือข่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านยางพาราครบวงจรจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ตามที่องค์การสวนยาง เตรียมให้งบประมาณ 2 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งศูนย์รับซื้อ โดยคนในพื้นที่ได้จัดหาสถานที่ไว้แล้วคือ ที่ ต.บ้านยาง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก บนพื้นที่( บริจาคให้ 50 ไร่) คาดว่า เริ่มก่อสร้างได้เดือนเมษายนนี้

ทั้งนี้ตามข้อมูล สกย.พิษณุโลก มีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 1.3 แสนไร่ นอกสำรวจร่วม 2 แสนไร่ มียางพาราเปิดกรีดแล้ว 5,000 ไร่ ให้ผลผลิต 2,000 ตันต่อปี แต่เกษตรกรในพิษณุโลกมีปัญหาเรื่องการขายยาง เพราะปัจจุบันพ่อค้าทั่วไปกดต่ำกว่าตลาดกลางสงขลา กก.ละ 5-8 บาท ส่วนการจัดตั้งตลาดกลางของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.)พิษณุโลก แม้เกษตรกรขายยางได้ แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งเฉลี่ยแล้ว ทำให้ขายยางได้ราคาต่ำกว่า ราคาตลาดกลางสงขลา ส่วนกรณีองค์การสวนยางจัดตั้งศูนย์รับซื้อครั้งนี้ เชื่อว่า ราคายาพาราในพิษณุโลกจะดีขึ้น ใกล้เคียงกับตลาดกลางหาดใหญ่มากขึ้น

สำหรับไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งประเทศ 16.7 ล้านไร่ มีสวนยางกรีดได้ 11.5 ล้านไร่ ให้ผลผลิต 3.2 ล้านตัน ภาคเหนือ 15 จังหวัด ที่มีพื้นที่ปลูกยางพารา ประมาณ 700,000 ไร่ เป็นสวนกรีดได้ 27,000 ไร่ ในปี 2551 ประเทศไทยขายยางพาราไปต่างประเทศเกือบ 3 ล้านตัน มีมูลค่าประมาณ 2.3 แสนล้านบาท แต่ปลายปี 51-ต้นปี 52 ราคายางตกต่ำเหลือ 30-40 บาท รัฐบาลจึงสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่าเพื่อแก้ไขปัญหายางพารา
พ.อ.(พิเศษ) สราวุธ  จันทโณ (นอกราชการ) ประธานเครือข่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านยางพาราครบวงจรจังหวัดพิษณุโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น