ยะลา - สำนักงานกองทุนการทำสวนยางพาราจังหวัดยะลา เรียกผู้แทนกลุ่มสหกรณ์ชาวสวนยาง ชี้แจงการช่วยเหลือของรัฐบาล ต่อการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ในขณะที่กลุ่มเกษตรกร ไม่มั่นใจการแก้ไขปัญหาราคายางของรัฐบาล จะดำเนินการต่อเนื่องหรือไม่ หากมีการเปลี่ยนแปลงขั้วรัฐบาลใหม่
วันนี้ (2 มี.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานกองทุนการทำสวนยางพารา จังหวัดยะลา นายประสิทธิ์ หมัดเสน ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนการทำสวนยางจังหวัดยะลา ได้เรียกผู้แทนกลุ่มสหกรณ์การเกษตร สถาบันการเกษตร และกลุ่มเกษตรกรทำยางแผ่นในจังหวัดยะลา กว่า 50 คน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ได้รับผลกระทบจากราคายางตกต่ำ
ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดแนวทางการให้การช่วยเหลือสถาบันการเกษตร กลุ่มสหกรณ์การเกษตร และกลุ่มสหกรณ์วิสาหกิจชุมชน ด้วยการให้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร ตามสภาพตามความเป็นจริงของการดำเนินงานของเกษตรกร โดยให้ปล่อยเงินกู้วงเงิน 15 ล้านบาท แก่สถาบันเกษตรกร และ 5 ล้านบาท แก่กลุ่มสหกรณ์ ที่เข้าเกณฑ์ตามที่รัฐบาลกำหนด โดยไม่มีดอกเบี้ย ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ จนถึง 31 ธันวาคม 2552 เพื่อต้องการให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง นำเงินไปซื้อยาง นำมาแปรรูปเก็บไว้ เพื่อรอราคาที่สูงขึ้น จึงนำมาจำหน่าย และต้องการให้ปริมาณขาดหายไปในตลาดโลก จำนวน 2 แสนตัน ซึ่งจะทำให้ความต้องการยางในตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งจะนำมาให้ราคายางถีบตัวสูงขึ้นด้วย
นายประสิทธิ์ หมัดเสน ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดยะลา กล่าวว่า เป็นโครงการที่เกิดปัญหาราคายางตกต่ำตั้งแต่ปลายปี 2551 เป็นต้นมา ทำให้ผู้แทนชาวสวนยางได้มีการเคลื่อนไหว และนำเสนอเรื่องไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรูปแบบการรับจำนองสินค้าการเกษตร
สำหรับเงินที่นำมาใช้รัฐบาลเป็นคนค้ำประกัน ให้ปล่อยเงินกับสถาบันเกษตรกรต่างๆ เพื่อมาจัดซื้อยางจากเกษตรกร นำมาผลิตเป็นยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 และมาอัดแท่ง มาเก็บไว้ เพื่อให้ปริมาณยางในท้องตลาดขาดหายไปจำนวน 2 แสนตัน ซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้ราคายางในตลาดโลกดีขึ้น ยางที่จัดซื้อมานั้น จะนำไปเก็บไว้ที่ กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดไว้ ที่สถาบันวิชาการเกษตร 4 แห่ง และสำนักงานกองทุนการทำสวนยางอีก 32 แห่งทั่วประเทศ
ด้านนายเลิศ จันทร์ลาภ รองประธานกลุ่มสหกรณ์ สกย.บ้านสี่สิบ ต.กาบัง อ.กาบัง จ.ยะลา กล่าวว่า โครงการนี้หากรัฐบาลสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง จะเป็นโครงการที่ดีมาก สามารถให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแท้จริง แต่หากว่าดำเนินการไปแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงขั้วรัฐบาลใหม่ และหยุดให้การช่วยเหลือ จะทำให้กลุ่มสหกรณ์ต่างๆ ล้มเหลวทันที เนื่องจากมีหนี้สินติดตัว และยังไม่เงินจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคาร เพราะยางไม่สามารถนำออกมาขายได้
ในขณะเดียวกัน ตนเองยังไม่มั่นใจกับนักการเมืองมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาเท่าที่ได้ติดตามการทำงานหรือการอภิปรายในสภาของ ส.ส.โดยเฉพาะฝ่ายค้าน หากเป็นโครงการของรัฐบาล ถึงแม้ว่าจะดีเลิศขนาดไหน มีประโยชน์ต่อประชาชนมากแค่ไหน มักจะค้านไปทุกเรื่อง โดยไม่ได้มองว่าโครงการที่ทำไปมีประโยชน์ต่อประชาชน ตนจึงไม่มั่นใจต่อการทำงานของนักการเมืองมากนัก ซึ่งหากเป็นเหมือนที่ได้กล่าว จะทำให้ในอนาคตโครงการนี้จะล้มไปด้วย
ส่วน นายประเสริฐ เร๊ะนุ้ย ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์การเกษตร ยะลา จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้ถ้ามองในภาพรวม ถือว่าดี แต่จะมีข้อปลีกย่อย เนื่องจากสถาบันเกษตรกรในแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน ฐานะทางการเงินก็ไม่เหมือนกัน ศักยภาพของแต่ละสถาบันก็ไม่เท่ากัน
ดังนั้น ทำอย่างไรให้เงินเข้าไปถึงประชาชนได้มากที่สุด นี้คือ เป้าหมายที่รัฐบาลต้องการ แต่ปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้ทุกสถาบันมีโอกาสเข้ามาถึงจุดนี้ได้ เชื่อว่า หากมีการกำหนดข้อจำกัดมาก จะทำให้หลายๆ สถาบันหมดโอกาสที่จะเข้าร่วมโครงการได้ เงินจะเข้าถึงมือเกษตรในระดับรากหญ้าไม่ทั่วถึง ตนจึงเป็นห่วงในประเด็นนี้มากกว่า ซึ่งหากสามารถกระจายไปสู่เกษตรกรในระดับตำบลหมู่บ้านจริง ถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก
สำหรับจังหวัดยะลา มีพื้นที่ปลูกยาง จำนวน 1,268,288 ไร่ ให้ผลผลิต 900,000 กว่าไร่ ผลิตยางได้ 2-3 แสนตันต่อไป รวมมูลค่าเป็นเงินไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท