พิษณุโลก - เปิดประมูลยางพารานัดแรกที่ทรัพย์ไพวัลย์ พิษณุโลกมูลค่าเฉียด 1 ล้านบาท สกย.ปลื้ม พ่อค้ายื่นซองให้ราคาสูงกว่าตลาดกลางโคออฟ-หาดใหญ่ เชื่อตลาดประมูลยางท้องถิ่นไปได้สวย ชาวบ้านดีใจขายได้ราคา แฉกลุ่มพ่อค้าหัวใส กดราคายางต่ำกว่าความเป็นจริงมานาน
นายทหาร รัตนากาญจน์ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยางจังหวัด (สกย.) พิษณุโลก เปิดเผยว่า สกย.ได้เปิดตลาดประมูลยางระดับท้องถิ่น บริเวณตลาดทรัพย์ไพลวัลย์ หมู่ 7 ต.แก่งโสภา อ.วังทอง เป็นครั้งแรกเมื่อ 4 ก.พ.52 ที่ผ่านมา หลังจากเลื่อนมาหลายเดือน เนื่องจากสถานการณ์ราคายางพาราผันผวนและตกต่ำ ไม่เป็นที่ดึงดูดของพ่อค้าคนกลาง
กระทั่งพบว่า ช่วงนี้ราคายางเริ่มทรงตัว และ สกย.ให้บอกกับชาวบ้านว่าชะลอการขายยางพาราแผ่น จนกว่าเปิดตลาดประมูล ในที่สุด สกย.จึงเปิดตลาดประมูลยางท้องถิ่นสำเร็จ โดยมีมีพ่อค้าคนกลางมาประมูลราคายางจำนวน 2 ราย ให้ราคาสูงกว่าตลาดกลางสุราษฏร์ธานี (โคออป) และตลาดกลางหาดใหญ่ ยกตัวอย่าง ราคายางแผ่นดิบ ชั้น 3 แข่งขันประมูลยางที่ 46.74 บาทและ 45.55 บาทต่อกิโกกรัม ขณะที่ราคาโคออฟ 46.27 บาท และหาดใหญ่47.12 บาท ถือว่าประสบผลสำเร็จ ดึงราคาให้สูงเทียบกับภาคใต้ และเป็นผลดีกลับเกษตรกรชาวจังหวัดพิษณุโลกที่ขายราคาดี
โดยปริมาณยางพาราทั้งหมด 15,308 กิโลกรัม คิดเป็นเงินกว่า 7 แสนบาท มีทั้งยางแผ่นดิบชั้น 2 ชั้น 3 ชั้น 4 และชั้น 5 ไม่มีเศษยางเข้าร่วมการประมูลยางท้องถิ่นในครั้งนี้
ก่อนหน้านี้มีพ่อค้าคนกลางรับซื้อราคายางแผ่น โดยกดราคาต่ำกว่าราคาตลาด 6-7 บาท กระทั่งช่วง 1 เดือนก่อนเปิดตลาดประมูลยาง พบว่ามีกลุ่มพ่อค้าคนกลางหัวใส พยายามไม่ให้ สกย.เปิดตลาดกลางประมูลยางที่ตลาดทรัพย์ไพวัลย์ ก่อนเปิดตลาดประมูลก่อนวันที่ 4 ก.พ. 1-2 วัน พ่อค้าหัวใส ปั่นราคารับซื้อยางพาราให้สูงกว่าปกติที่เคยรับซื้อ เพื่อให้ชาวสวนยางขายยางแผ่นที่ราคา 48 บาท เพื่อต้องการกวาดยางแผ่นให้หมด ไม่ให้การเปิดตลาดกลางประสบสำเร็จ และไม่มียางเข้าร่วมประมูล แต่เมื่อพ้นเวลาประมูลยางท้องถิ่นไปแล้ว พ่อหัวใสก็เตรียมไปกดราคาจากชาวสวนยางต่อทันทีเพียงแค่ 40 บาทต่อกิโลกรัม
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวสวนยางรายหนึ่ง ต้องเอายางแผ่นไปซ่อนไว้ เพื่อไม่ให้พ่อค้าหัวใสรู้ว่ามียาง เพราะหากรู้ว่ามียางแผ่นก็จะถูกกว้านไปหมด แต่ก็ยังดีที่นำยางที่ซ่อนไว้มาขายยังตลาดประมูลที่ทรัพย์ไพวัลย์ ทั้งนี้ชาวบ้านซึ่งเป็นชาวสวนยางจำเป็นต้องเอาใจทั้ง 2 ฝ่าย คือ พ่อค้าหัวใสที่ไปรับซื้อจากถึงสวนทุกวัน และก็ต้องให้ความร่วมมือกับ สกย.พิษณุโลก
อย่างไรก็ตาม สกย.จะเปิดตลาดประมูลยางท้องถิ่นอีกครั้ง ในเดือนพฤษภาคม หรือช่วงฝนตก เพราะช่วงนี้เป็นฤดูแล้ง ฤดูยางผลัดใบ ไม่สามารถกรีดยางหรือมีน้ำยางป้อนสู่ตลาด
อนึ่ง พื้นที่ปลูกยางพาราในจังหวัดพิษณุโลกมีมากกว่า 1.3 แสนไร่ ถือว่ามากที่สุดในภาคเหนือ ล้วนเป็นพื้นที่ปลูกใหม่เกือบทั้งหมดเช่นเดียวกับภาคเหนือ แต่ก็พบว่ามีแปลงยางที่กรีดน้ำยางได้แล้ว แม้ไม่มากก็ตาม ก็เริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดบ้างแล้ว